ลูกแม่ค้าขายผัก-พ่อขับแท็กซี่ สู่เก้าอี้ “ปลัดพลังงาน” บทพิสูจน์ชีวิต “ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ”

ผู้เขียน : กษมา ศิริกุล

เชื่อไหมว่า “การเรียน” สามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้จริง ๆ

จากบทพิสูจน์ชีวิตของ “เด็กชายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ” ลูกแม่ค้าขายผักในชุมชนแออัด พ่อขับแท็กซี่ มาถึงวันที่ประสบความสำเร็จในด้านการเรียน และการทำงานจนสามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง “ปลัดกระทรวงพลังงาน” ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดในชีวิตการรับราชการได้เมื่อปี 2566

แม้ว่าการศึกษาของพ่อและแม่ไม่ได้เรียนจบสูง แต่สามารถอบรมบ่มเพาะเด็กชายคนหนึ่งให้รักในการศึกษา เริ่มจากระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดน้อยนพคุณ ต่อด้วยมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบ และระดับปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สู่ระดับปริญญาเอก ด้วยทุนรัฐบาล “ทุน ก.พ.” สร้างความภูมิใจให้พ่อแม่ นับว่าเป็นอภิชาตบุตรที่แท้จริง

เส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

ประเสริฐเล่าถึงชีวิตในวัยเยาว์ ให้ “ประชาชาติธุรกิจ” ฟังว่า เด็กชายประเสริฐ มีพี่น้องรวม 4 คน เขาเป็นลูกชายคนที่ 4 จะรับหน้าที่ช่วยแม่ไปรับผัก รับหมู จากตลาดเพื่อมาขายในร้านของชำเล็ก ๆ ที่อยู่ในสลัมในชุมชนศรีย่าน

“แม่ผมจบ ป.4 พ่อไม่ได้เรียนหนังสือ อาชีพของแม่คือแม่ค้าขายผัก ส่วนพ่อทำงานขับรถแท็กซี่ แต่แม่จะเป็นคนส่งเสริมการเรียน ท่านจะอ่านหนังสือพิมพ์ดูทุนต่าง ๆ และนำมาให้ผมไปลองสอบดู เพราะผมหัวดีที่สุดในบ้าน โดยเฉพาะคณิตศาสตร์ เลยทำให้ผมได้ทุนเรียนดีแต่ยากจนมาตั้งแต่เด็ก ๆ”

เก่งคณิตศาสตร์ระดับโอลิมปิก

วันหนึ่งแม่มองเห็นเด็กที่รู้จักเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย แม่เลยให้ผมลองไปสอบดู ซึ่งผมได้รับทุนเรียนมาตลอด จนกระทั่งจบ ม.ศ.5 ซึ่งเป็นระบบการศึกษารุ่นสุดท้าย

ด้วยความชอบวิชาคณิตศาสตร์ตั้งแต่วัยเด็ก ทำให้เขาเคยคว้าแชมป์จากสมาคมคณิตศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งเปรียบเหมือนกับการแข่งขัน “คณิตศาสตร์โอลิมปิก” ในปัจจุบัน

คะแนนคณิตศาสตร์ที่ได้รับชัยชนะจากสมาคมครั้งนั้น ทำให้ “ประเสริฐ” ตัดสินใจสอบเอ็นทรานซ์ โดยเลือก “คณะวิศวกรรมศาสตร์” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพียงอันดับเดียว

โดยวิเคราะห์ให้พวกเราฟังว่า “คะแนน 3 วิชาที่เขาคาดว่าจะทำให้ติดคณะนี้มาจากคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และเคมี รวม ๆ แล้วน่าจะได้ 280 คะแนน บวกกับคะแนนวิชาอื่น ๆ ที่เขาอาจจะไม่ค่อยชอบมากนักอย่าง ภาษาอังกฤษ ก็น่าจะทำให้เขาสอบเข้าวิศวะได้อย่างสบาย” ซึ่งความคิดนั้นก็เป็นความจริง เพราะว่าเขาสอบติดและได้เรียนเกรดเฉลี่ยสูงมาก

ในมุมความคิดของเขาไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อย แต่ในทางตรงข้ามกลับมีความมุมานะ พยายาม เรียน และทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งดนตรี และกีฬา จนมีมิตรสหายมากมาย พอจบมาก็ได้งานเป็นวิศวกรไฟฟ้าที่ตึกโรงแรมโนโวเทล สยามสแควร์ในปัจจุบัน และอีกหลายต่อหลายโครงการ ที่กำลังเฟื่องฟูในยุคน้าชาติ ปี 2535

สู่นักเรียนนอกทุน ก.พ.

แต่จุดพลิกผันก็เกิดขึ้นในชีวิตของเขาอีกครั้ง จาก “แม่” ซึ่งไม่เพียงเป็นแรงผลักดันส่งเสริมให้เขาเรียนหนังสือเท่านั้น แต่แม่ยังมองการณ์ไกลถึงอนาคตของลูกชายหัวแก้วหัวแหวน

“ด้วยความที่แม่เป็นคนติดตามข้อมูลข่าวสาร อ่านหนังสือพิมพ์เป็นประจำ แม่เห็นเปิดสอบทุน ก.พ. ก็เลยบอกให้เราไปสมัคร โดยบอกว่าอยากได้ลูกชายเป็นนักเรียนนอก ผมตัดสินใจไปสอบ ก.พ.ทันที ทั้ง ๆ งานวิศวกรไฟฟ้าตอนนั้นรุ่งมาก การก่อสร้างโครงการโครงการหนึ่งอาจจะทำให้ผมรวยเป็นล้าน ๆ แต่ผมก็ตัดสินใจทิ้งโครงการที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จไป เพื่อไปทำตามความตั้งใจของแม่ที่อยากให้ลูกชายเป็นนักเรียนนอก”

แทบไม่น่าเชื่อ เขาจบปริญญาโท ด้วยทุน ก.พ.ที่ George Washington University (สาขา Energy Conversion, Power and Transmission) ประเทศสหรัฐ โดยใช้เวลาเพียงหนึ่งปีครึ่ง จากกรอบระยะเวลาการเรียนปริญญาโท 2 ปี

แถมยังรับงานพิเศษเป็น TA (Technical Assistant) หรือผู้ช่วยทางด้านเทคนิคห้องคอมพิวเตอร์ในมหาวิทยาลัย ทำงานชั่วโมงละ 5.5 เหรียญ ทำจนเงินเดือนขยับขึ้นเป็น 8.5 เหรียญ สามารถหาเงินซื้อรถคันแรกในราคา 2,000 เหรียญสหรัฐ และยังเหลือเงินส่งมาให้แม่ได้ถึง 40,000 เหรียญสหรัฐ เขาส่งเงินกลับให้แม่ทุกบาท

“เมื่อเรียนจบ ป.โท ผม โทร.กลับหาแม่ด้วยความดีใจ แต่แม่บอกมาทางโทรศัพท์ว่าให้เรียนต่อไปให้ถึงที่สุดนะลูก”

ด้วยคำคำนี้ ทำให้ประเสริฐตัดสินใจยื่นขอ ก.พ. เพื่อเรียนต่อในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania)

“สำหรับแม่แล้ว ผมทำให้ได้ทุกอย่าง เพราะว่าเรายอมที่จะทำทุกอย่างเพื่อคนที่เรารัก” ดร.ประเสริฐกล่าว

เมื่อว่างจากการเรียนปริญญาเอก “ประเสริฐ” ยังได้จัดสรรเวลาส่วนหนึ่งไปทำงานระหว่างเรียนที่ธนาคารโลก (World Bank) จนทำให้สามารถขยับฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น จากที่เคยเช่าห้องเดียวนอน 5 คน ในสมัยปริญญาตรี เปลี่ยนชีวิตจากห้องเช่านอน 5 คน มาเป็นห้องเดี่ยว และเขายังสามารถเก็บออมเงินเหลือเงินส่งกลับให้แม่นับล้านบาท

พบรักภรรยา

จากการเรียนที่เพนซิลเวเนีย ทำให้ได้พบรักกับ “คุณเปิ้ล” ภรรยาคนปัจจุบันที่มาศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่นี่ เพราะมีเพื่อนแนะนำให้เรารู้จัก

เทคนิคการจีบสาวของเรา ก็ใช้วิธีการเข้าไปช่วยเป็นติวเตอร์ให้คุณเปิ้ล ซึ่งเพิ่งมาเรียน จากนั้นเราก็คอยช่วยเหลือคุณเปิ้ล เช่น เรื่องการสอบภาษาอังกฤษ ในช่วงนั้นเรายังทำงานอยู่ที่เวิลด์แบงก์ด้วย

“เราผ่านความลำบากมาด้วยกัน เพราะหลังจากที่โหมทำงานอย่างหนัก ผมก็ต้องหันมาทำวิทยานิพนธ์เพื่อจบให้ทันกับเดดไลน์ของการเรียนของทุน ก.พ. ที่จะต้องจบได้ภายใน 5 ปีครึ่ง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจในตอนนั้น ทำให้การทำงานพิเศษก็ต้องหยุดชะงักลง จำได้ว่าภรรยาให้เงินผม 1,500 เหรียญสหรัฐ ถือว่าสูงมาก และผมใช้หนี้เธอจนถึงทุกวันนี้ยังไม่หมดเลย” ตอบด้วยรอยยิ้ม

หลังจากเรียนจบกลับมาทำงานที่สำนักงานพลังงานแห่งชาติ ประมาณ 6 เดือน ผมก็แต่งงานกับเธอจนมีทายาท 3 คน เป็นชาย 1 หญิง 2 ตอนนี้ลูกชายคนโตเรียนจบแล้ว คณะบริหารธุรกิจ ลูกสาวคนที่ 2 กำลังศึกษาอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ ส่วนลูกคนที่ 3 กำลังเรียนมัธยมศึกษาที่อำนวยศิลป์

รับราชการใช้ทุนจนขึ้นเป็นปลัด

หลังจากกลับมาทำงาน เราต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ ก.พ. คือ ต้องทำงานใช้ทุนในระยะเวลา 2 เท่าของการเรียน ผมใช้เวลาเรียนไปทั้งหมด 6 ปี เท่ากับว่าเราต้องทำงานใช้ทุน 12 ปี

การรับราชการนั้น ผมเริ่มงานที่กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ซึ่งปัจจุบันคือ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ตั้งแต่ปี 2541

โครงการที่สร้างชื่อมากที่สุด คือ โครงการจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน วงเงินตั้งต้นกว่า 2 พันล้าน ที่ทำให้ชื่อของ ดร.ประเสริฐ ได้แจ้งเกิดในกระทรวงพลังงานสำเร็จ กระทั่งมีผู้ใหญ่เห็นถึงความสามารถในการทำงาน มีความก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับ

“หลังจากที่ใช้ทุนหมดแล้ว ผมก็เคยคิดว่าจะลาออกไปอยู่เอกชน แต่จนแล้วจนรอดมีจังหวะที่ยังต้องทำงานราชการต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ”

ปลัดมือสอง-กินข้าวแกง

จนถึงตอนนี้ ดร.ประเสริฐ อนุญาตให้ พวกเรา “ประชาชาติธุรกิจ” เรียกท่านว่า “ปลัดมือสอง” เพราะในการใช้ชีวิตส่วนตัวของท่านนั้นเรียบง่าย เพราะมักจะใช้เงินไปให้กับการดูแลครอบครัวและคนที่รักเป็นหลัก คิดถึงตัวเองเป็นลำดับรอง เช่น เลือกใช้ “การช็อปปิ้งออนไลน์” หรือ F เสื้อผ้ามือสอง จากออนไลน์แทนแบรนด์เนม

“ดร.ประเสริฐ” เล่าแนวทางในการเลือกสินค้าว่า ด้วยความที่เคยอยู่สหรัฐ ทำให้รู้จักสินค้าแบรนด์เนม สินค้าเหล่านั้นเมื่อกลายเป็นของมือสองจะถูกส่งมาขายช่องทางออนไลน์ มีราคาหลักร้อย-หลักพัน บางรุ่นเป็นของหายาก แต่ต้องดูเป็นอย่างที่ชอบมาก ๆ คือ เสื้อทีมอเมริกันฟุตบอลของฟิลาเดลเฟีย เพราะเคยอยู่ที่นั่น

นอกจาก F ของใช้และเสื้อผ้ามือสองแล้ว ดร.ประเสริฐยังออกตัวว่า เป็นคนมัธยัสถ์มาตั้งแต่เด็ก อย่างตอนไปเรียนที่เมืองนอก ทำกับข้าวทานเอง “เมนูไข่พะโล้” เป็นเมนูที่ทำประจำบ่อยที่สุด ส่วนตัวรู้สึกว่าการกินข้าวแกงเป็นเรื่องง่ายไม่ยุ่งยาก และยังแอบแง้มกับพวกเราว่า ในอนาคตหลังเกษียณอีก 3 ปีข้างหน้า ไม่แน่ว่าพวกเราจะได้เห็นร้านข้าวแกง “ปลัดพลังงาน” ก็เป็นไปได้