วิกฤตด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้เพราะต้องพึ่งพาพลังงานจากการนำเข้าเป็นหลัก ขณะที่ภารกิจหลักจำเป็นต้องดูแลความมั่นคงด้านพลังงาน การสร้างความยั่งยืน คู่ขนานไปกับการรักษาเสถียรภาพราคา จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทาย “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ” ปลัดกระทรวงพลังงาน ถึงแนวทางการฝ่าความท้าทายครั้งนี้
ภารกิจเป้าหมาย
โจทย์ท้าทายพลังงานมีหลายอย่างมาก หลัก ๆ คือเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน แม้ว่าบริบทพลังงานจะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ จากสมัยอดีตที่ผมมารับราชการกับปัจจุบัน แตกต่างกันไป แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือเราพึ่งพาพลังงานนำเข้ามาแต่ไหนแต่ไร งานที่ผมต้องการดำเนินการในช่วง 3 ปี (ก่อนเกษียณ)
อย่างแรกคือเรื่องก๊าซธรรมชาติ แก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่เรากับเชฟรอน (แหล่งเอราวัณ) ต้องไปถึงขึ้นอนุญาโตตุลาการ ขณะนี้ใกล้ได้ข้อสรุปแล้วสามารถจัดการได้ รอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) น่าจะจบภายในปีนี้
ส่วนเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (OCA) เป็นอีกเรื่องที่ควรต้องเดิน เพราะมีประโยชน์ และดูเหมือนว่ามีแสงสว่างที่ผู้นำประเทศต่างเห็นด้วย มีการพูดคุยกันระหว่างกัมพูชากับเรา ตอนนี้กำลังรอสัญญาณที่จะสานต่อ คาดว่า 3-4 ปีนี้จะหาทางออกได้
เรื่องโครงสร้างราคาต่าง ๆ ซึ่ง “นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มอบนโยบายเรื่องนี้ เพราะมองว่าโครงสร้างราคามีบางเรื่องที่ต้องปรับให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น ทั้งก๊าซและน้ำมัน แต่คงไม่ได้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพียงแต่ต้องปรับ จึงต้องมาดูว่าจะแก้ได้อย่างไร สามารถใช้อำนาจรัฐตรงไหน เช่น กำหนดเพดานค่าการกลั่น หรือใช้มาตรการภาษีต่าง ๆ มาช่วย
สุดท้ายการอนุรักษ์พลังงาน ต้องแก้กติกากองทุนอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งได้หารือรัฐมนตรีพลังงานแล้วว่าจะปรับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้กองทุนเดินหน้าได้ โดยไม่มีปัญหา
วิกฤตพลังงานกับหนี้กองทุน
“เรื่องวิกฤตพลังงาน ไทยเจอมาหลายปีแล้ว อย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก่อนที่ผมจะมาเป็นปลัดกระทรวงพลังงาน แต่ว่าเหตุการณ์ต่อเนื่อง เพราะเกิดหนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตอนนี้พลังงานกำลังปลดล็อกอยู่ ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ตอนนี้กลุ้มใจ คือเรื่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบแสนล้าน ผมหารือกับภาคนโยบายว่าไม่ไหวแล้วจริง ๆ คงต้องปรับราคาขึ้น”
การปรับราคาขึ้นก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะสมัยอดีตปลัดกระทรวงพลังงานมีการปรับราคาน้ำมันดีเซลขึ้น 34 บาท แล้วตอนนั้นเป็นช่วงที่มีเงินกลับเข้ากองทุน จากที่ขาดทุน 130,000 ล้านบาท แล้วเก็บเงินเข้ามาจนขาดทุนเหลือแค่ 7-8 หมื่นล้านบาท พอรัฐบาลใหม่เข้ามา บอกตรึงราคาเหลือ 30 บาทต่อลิตร
“ขณะนี้ราคาดีเซลในตลาดโลกขึ้นอีก ที่หนักคือภาษีสรรพสามิตที่เคยลดให้ 5 บาทอาจจะไม่ลด ตอนนี้เก็บอยู่ 5 บาท แล้วต้องมาตรึงราคา 30 บาท กลายเป็นว่ากองทุนน้ำมันฯต้องแบก ทำให้เงินไหลออกเยอะเดือนละ 8-9 พันล้านบาท ผมขอประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันประหยัด เราต้องยอมรับความจริง กองทุนน้ำมันฯไม่ได้ออกแบบมาเพื่ออุดหนุนราคาระยะยาว แต่มีหน้าที่เป็นกันชน แต่ที่ผ่านมากันชนของเรายาวเหลือเกิน”
ทางแก้หนี้กองทุนแสนล้าน
“ดร.ประเสริฐ” กล่าวต่อว่า อย่างแรกต้องหารือว่าจะขยับราคาขึ้น ซึ่งภาคนโยบายเข้าใจ อย่างที่ 2 คือ ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่าต้องขึ้นราคาเหมือนกับราคาเบนซินที่ขึ้นไป 38-39 บาทต่อลิตรแล้ว ขณะที่ดีเซลยังกดราคาที่ 30 บาทต่อลิตร ต้องทำความเข้าใจ และตามกติกาต้องรอ ครม.ว่าจะอุดหนุนเงินกองทุนหรือไม่
“ส่วนการจะอุดหนุนเฉพาะรายกลุ่มเปราะบาง เราจะวางระบบอย่างไรที่จะแบ่งแยก เนื่องจากกฎหมายทำไม่ได้ และเทคนิครวมถึงหัวจ่ายไม่สามารถทำได้ ไม่อย่างนั้นทุกอย่างจะยุ่งยากมากในการคิดราคา ตอนนี้จึงให้ทุกคนราคาเดียวกัน หากให้ความช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเปราะบางจะต้องกำหนดให้ชัดเจน เช่น รถบรรทุกขนาดใหญ่จะถือเป็นกลุ่มเปราะบางไหม เพราะเจ้าของเป็นบริษัทขนาดใหญ่ แต่สุดท้ายค่าขนส่งกลายเป็นภาระประชาชน เราต้องชั่งน้ำหนักให้ดี”
ปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน
เรื่องราคาน้ำมัน มีอยู่แค่นี้ คือ ราคาเนื้อน้ำมัน ภาษีและกองทุน ซึ่งราคาเนื้อน้ำมันแกว่งตามตลาดโลก ส่วนเรื่องภาษีก็เป็นอีกก้อนหนึ่งที่รัฐบอกว่าควรเก็บ เพราะรัฐต้องการเงิน ส่วนด้านกองทุนน้ำมันฯก็ไม่ไหว จ่ายไม่ออก เพราะฉะนั้นต้องมีการชั่งน้ำหนัก สุดท้ายคือ ราคา ทุกอย่างรวมกันก็คือราคา ดังนั้น ถ้ารัฐยังคงต้องเก็บภาษี กองทุนน้ำมันฯจ่ายไม่ได้ ราคาก็ขึ้น ซึ่งไม่มีทางอื่นแล้ว
“ตอนนี้ภาษีลดน้ำมันดีเซลลดอยู่แค่บาทเดียว ภาษีไม่ได้ลดเยอะ จากเดิมเก็บ 6 บาทเหลือ 5 บาท ถ้าตามสูตร เลิกลดก็ปรับราคาขึ้น 1 บาท แต่ตอนนี้กำลังคิดอยู่ว่าจะเอากองทุนน้ำมันฯขึ้นราคาทีละ 50 สตางค์หรือ 1 บาทไปเลย สัปดาห์หน้าคงจะได้รู้ชัดเจน”
เพิ่มเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ
ในอดีต สมัยที่กองทุนน้ำมันฯเริ่มติดลบ มีกติกาว่าห้ามติดลบเกิน 40,000 ล้านบาท จึงต้องไปทำกฤษฎีกา เพื่อขอขยายให้ติดลบมากขึ้น และออกพระราชกำหนดกู้เงินค้ำประกัน ให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน เนื่องจากกองทุนน้ำมันฯ กู้ใครก็ไม่มีใครให้กู้ เพราะไม่มีรายได้ ซึ่งเป็นผลจากนโยบายที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำ ดังนั้น ถ้ากองทุนน้ำมันฯไม่มีเงินจ่ายก็ต้องไปเรียกเก็บจากกระทรวงการคลัง แต่ตอนนี้ต้องขยับราคาขึ้น ไม่อย่างนั้นจากสถานการณ์กองทุนน้ำมันฯอาจไปฉุดสถานการณ์การเงินของประเทศ
“ปัจจุบันปรับอัตราเงินชดเชยเข้ากองทุนน้ำมันฯจ่ายอยู่ 4.57 บาท (จากเดิม 4.17 บาท) การจ่ายแต่ละบาทคือ 2,000 ล้านบาท ดังนั้น เท่ากับว่ามีเงินไหลออก 9,000 ล้านบาทต่อเดือน อยู่ไม่ได้แน่นอน ถามว่าควรเป็น 4.57 บาทหรือไม่ มองว่าความจริงแล้วควรเป็น 5 บาท เพราะตอนนี้เราขอให้เอกชน (โออาร์-บางจาก) ช่วยพยุงไปก่อน เพราะกองทุนน้ำมันฯไม่อยากจะจ่ายเพิ่ม ในระยะสั้นพอไหว แต่ในระยะยาวอาจจะไม่ได้ เพราะบริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ดังนั้น ถ้ากองทุนน้ำมันฯไม่เพิ่มเงินให้เขา เขาก็ต้องไปขึ้นราคา แต่พยายามบอกว่าอย่าขึ้นแรง ให้ขึ้นทีละ 50 สตางค์ หรือ 40 สตางค์พอ ซึ่งทางกองทุนน้ำมันฯอาจใส่เงินเข้าไปบ้าง แต่การใส่เงินทุกครั้งก็คือภาระการเงิน”
วิกฤตเมียนมาต่อก๊าซ
ส่วนเรื่องก๊าซธรรมชาติ “ดร.ประเสริฐ” มองว่า ปีนี้ก๊าซธรรมชาติอาจไม่น่าห่วงเท่ากับราคาน้ำมัน เพราะเราสามารถนำเข้าก๊าซ LNG มาได้ รวมถึง ปตท.สผ.สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งเอราวัณได้ตามเป้า และเพิ่มการลงทุนที่แหล่งผลิตในเมียนมา แต่อย่างไรก็ตาม ในอนาคตแหล่งก๊าซธรรมชาติในเมียนมากำลังลดลงเรื่อย ๆ อาจมีการขุดเจาะเพิ่ม
ในเมียนมามี 3 แหล่งด้วยกันคือ ยาดานา, ซอติกา และเยตากุน ตอนนี้เยตากุนเหลือน้อยมาก จากเดิมได้ 400 ปัจจุบันเหลือ 100 ล้านลูกบาศก์ฟุต ส่วนตัวเลขการนำเข้าก๊าซจากเมียนมาปัจจุบัน เหลือ 600 จากอดีต 900-800 ล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่ง ปตท.สผ.ขุดเจาะเพิ่ม เพื่อรักษาระดับการผลิตในเมียนมา
“สถานการณ์การสู้รบในเมียนมาไม่กระทบ เพราะไม่ได้อยู่ในแนวท่อส่งก๊าซ หรืออยู่ใกล้กลุ่มผลิต”
มอบโจทย์ผู้ว่าการ กฟผ.
“สถานะไฟฟ้าประเทศไทยมีความมั่นคง ตอนนี้สำรองไฟฟ้าประมาณ 30% เรามีความโชคดี เพราะปีที่แล้วคนแห่มาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมเยอะมาก เราดึงบริษัทใหญ่ ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น Google Microsoft หรือ AWS (Amazon Web Service) จากปัญหาไฟดับในเวียดนามบ่อย แม้ค่าไฟแพงกว่าเวียดนาม แต่ความมั่นคงมากกว่าแต่เขาตัดสินใจมาลงทุนที่ไทย”
ในฐานะที่เป็นประธานบอร์ด กฟผ. มอบหมายงานให้ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เรื่องความมั่นคงเป็นอันดับแรก ระบบส่งหรือระบบควบคุมที่มีความจำเป็นจะต้องไม่ล่าช้า และต้องเพิ่มเรื่องพลังงานหมุนเวียน ส่วนเรื่อง System Operator ให้แยกศูนย์ควบคุม ในขั้นแรกขอให้ทำให้ศูนย์นี้มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ก่อน
ส่วนเรื่องหนี้ กฟผ. หากคำนวณตามสูตร กกพ. (คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน) งวดต่อไป กฟผ.จะได้รับชำระ 14,000 ล้านบาท ไปเรื่อย ๆ เป็นระยะเวลา 7 งวด ซึ่งเท่าที่ดูฐานะกฟผ.ดีขึ้น จากติดลบที่ 150,000 ล้านบาท ตอนนี้เหลือติดลบ 90,000 กว่าล้านบาท ในช่วง ม.ค.-เม.ย. อาจมีคืนบ้างประมาณ 5-6 พันล้านบาท หนี้ก็ค่อย ๆ ลดลงไป กระแสเงินสด 60,000 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอ ไม่ได้มีปัญหาอะไรสามารถเดินหน้าโครงการต่าง ๆ ต่อได้
“ราคาก๊าซ LNG สมัยที่รัสเซีย-ยูเครนรบกัน ราคา LNG Spot ขึ้นไปถึง 80 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ประมาณ 1-2 วันก็ลดลงมาเหลือ 30-40 เหรียญสหรัฐ ส่วนปีที่แล้วเหลือ 15 เหรียญสหรัฐ ในปีนี้เห็นราคา 10 เหรียญสหรัฐ ลดความกดดันไปเยอะ สามารถรักษาค่าไฟ 4.18 บาทต่อไปได้ จะมีเงินคืน กฟผ.ได้ต่อเนื่อง และล่าสุด กฟผ.ยังมีศักยภาพ สามารถส่งเงินเข้ากระทรวงการคลังได้”
ขับเคลื่อนพลังงานสีเขียว
อีกด้านไทยต้องมุ่งพัฒนาไฟฟ้าสีเขียว ตอนนี้ทำไปแล้วคือโครงการพลังงานหมุนเวียน 5,000 เมกะวัตต์ และจะรับซื้อเพิ่มอีก 3,000 เมกะวัตต์ แม้ว่าจะมีการวิจารณ์อยู่ แต่เรื่องนี้เดินต่อเดินแน่ ทว่าต้องมาดูกติกาให้เป็นธรรม ซึ่งเฟส 5,000 เมกะวัตต์เริ่มเซ็นสัญญาและเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าบ้างแล้ว
ส่วนปลายปีจะมาคุยเรื่องโครงการรับซื้อ 3,000 เมกะวัตต์ต่อ และตอนนี้ Utility Green Tariff (UGT) มีประกาศอัตราเป็นทางการ และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวมาซื้อและมีใบรับรองตามมาตรฐานสากล