ปลัดพลังงานตอบชัด 3 สูตร “ปรับโครงสร้างราคาก๊าซ”

ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ
ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ

โจทย์ใหม่และความท้าทายด้านพลังงานในปี 2567 ยังไม่แผ่ว ทั้งการเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาดสู่ยุคสังคมคาร์บอนต่ำ ตลอดจนการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน การขับเคลื่อนนโยบาย “รื้อ ลด ปลด สร้าง” ที่รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ปักธงไว้ นับเป็นภารกิจของ “ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ” ปลัดกระทรวงพลังงานได้ให้สัมภาษณ์ถึงทิศทางการทำงานปี 2567

ปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ

เรื่องการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ (Single Pool) ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ประชุมร่วมกับ คุณหญิงทองทิพ (รัตนะรัต) ซึ่งได้ให้แนวคิดว่ามีความกังวลว่าการปรับโครงสร้างราคาก๊าซจะกระทบกับปิโตรเคมี

โดยคุณหญิงห่วงว่า ปิโตรเคมีเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานในการผลิตสินค้าต่าง ๆ เช่น สี เม็ดพลาสติก จะมีผลกระทบจากการปรับโครงสร้างราคา แต่จริง ๆ ราคาก๊าซที่ปิโตรเคมีซื้อในราคาตลาดโลก และในความเป็นจริง ปตท. เมื่อโรงแยกของเขาต้นทุนสูงขึ้นเยอะก็จะต้องมาเจรจากับลูกค้าแล้วว่าจะขอปรับราคา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ GC

ทางเรามองว่า จริง ๆ ปิโตรเคมีไม่ค่อยมีผล เพราะซื้อราคาตลาดโลกอยู่แล้วไม่ได้ซื้อราคาคอสต์พลัส ฉะนั้น ราคาที่เขาซื้อมาจากตลาดโลก ซึ่งมีการปรับขึ้นลงของเม็ดพลาสติกแล้วก็มาคำนวณว่า อีเทนควรจะเป็นเท่าไร เขาเรียกเน็ตแบ็ก แต่ที่เราเปลี่ยนคือเราเปลี่ยนต้นทาง คือ คอสต์ ฉะนั้นก็อยู่ที่ว่า โรงแยกจะนำภาระของคอสต์ที่แยกไปให้กับปิโตรเคมีเท่าไร และก็ยังอยู่ที่สัญญา และการต่อรองอีกใน ปตท.

3 แนวทางปรับโครงสร้างราคาก๊าซ

กระทรวงพลังงานได้มอบให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานไปจัดจ้างศึกษาการปรับโครงสร้างราคาให้ถูกต้อง เพราะว่าโครงสร้างราคาปัจจุบันก็ยังมีจุดอ่อนอยู่หลายอย่าง คือ ถ้ามีการใช้ LNG เพิ่มขึ้น โดยขึ้นค่าไฟฟ้าก็จะทำให้ต้นทุนเขาแพงขึ้น ทั้ง ๆ ที่ต้นทุนเขาไม่ได้ทำอะไรผิด (อยู่ ๆ ก็แพง) ถามว่าแฟร์กับเขาไหม ก็ไม่แฟร์ แต่เหตุที่แพงเพราะว่ามีคนใช้ LNG เยอะขึ้น เขาก็ต้องรับไปด้วย ซึ่งก็คือ การหารเฉลี่ยของปิโตรเคมีและบุคคลทั่วไปที่ใช้ไฟฟ้า ซึ่งอย่างนี้จะต้องมีสูตรราคาอีกแบบ แต่ถ้าคนทั่วไปก็จะคิดว่าแฟร์แล้ว

เรื่องการศึกษานี้มีหลายวิธี เช่น ในเมื่อฟิสิคอลเขาใช้แก๊สธรรมชาติในอ่าวไทย (Gulf Gas) เข้าของเขา ซึ่งมาร์จิ้นที่เขาได้ก็เอากลับมาพูล อันนี้ก็เป็นอีกแบบ คือ ไม่ว่าจะใช้มากเท่าไร ก็ยังเป็นกัลฟ์แก๊ส ไม่ว่าจะกำไรมากหรือน้อย ก็เอากลับมาที่พูลแก๊สหรือพูลไฟฟ้าก็ได้หรือไม่ ถ้ามีการใช้ LNG มากขึ้น ก็ต้องมี GAP มีซิลลิ่งมีฟลอร์ หรือไม่อย่างนั้น ถ้ากลัวเขาไม่แบ่งหรือแบ่งไม่คุ้ม รัฐบาลก็ซื้อโรงแยกเลย และนำกำไรที่ได้จากโรงแยกมาบริหารจัดการต่อ ลดราคาแก๊สหรืออะไรได้หลายอย่างซึ่งแหล่งเงินที่จะนำมาซื้อก็สามารถเปิดขายเป็นพันธบัตร ใครอยากได้ก็มาซื้อ มีดอกเบี้ยให้ 4%

ADVERTISMENT

แต่โจทย์ที่ให้ศึกษาไม่ใช่เฉพาะต้องมี 3 รูปแบบนี้ ที่สรุปคือ

1.มาร์จิ้น ให้ราคาแก๊สเดิม แต่มีแคปกำไร หรือตัดมาร์จิ้น เป็นมาร์จิ้น มาคืนให้กับในพูล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อค่าไฟฟ้า

ADVERTISMENT

2.กำหนดเพดาน LNG นำเข้า เพราะหากใช้ก๊าซนำเข้ามาก โรงแยกก๊าซจะได้รับผลกระทบต่อเนื่อง ฉะนั้น เพดานราคาที่จะนำมาคิดในพูล ก็ต้องแคปอยู่ในระดับหนึ่ง และยิ่งนำเข้ามาเยอะ ปตท.จะได้รับผลกระทบเยอะกว่า เพราะใช้กัลฟ์แก๊สน้อยลง แต่ใช้พูลแก๊สมากขึ้น

และ 3.รัฐบาลออกพันธบัตร 4% ซื้อโรงแยกก๊าซมาบริหารจัดการเอง เพราะดอกเบี้ยลงก็มีคนมาสนใจ ซึ่งทั้ง 3 ทางนี่ คือสิ่งที่ผมคิด แต่จริง ๆ อาจจะมากกว่านั้น เช่น อาจจะเป็นไฮบริดก็ได้ แต่หลักการทั้งหมดนี้ต้องแฟร์กับทุกคน

ดังนั้นจึงมอบหมายให้ สนพ. จัดจ้างที่ปรึกษา เรื่องการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 9 เดือน

ตอนนี้ทำการยกร่างทีโออาร์ไว้แล้ว ยังไม่ได้มีการลงนามทำสัญญา ส่วนงบฯศึกษาก็หาให้ อาจจะใช้งบฯกลาง ระหว่างนี้ที่จะใช้ (ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2566 ที่กำหนดแนวทางปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติให้เป็นราคา Pool GAS ซึ่งเป็นราคาที่เฉลี่ยของก๊าซธรรมชาติจากแหล่งผลิตในอ่าวไทย ก๊าซที่นำเข้าจากเมียนมา และแอลเอ็นจีนำเข้ามารวมกัน จากเดิมที่ใช้ราคาในอ่าวไทย โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป) เป็นการชั่วคราวไปก่อนจนกว่าจะศึกษาเสร็จ

ผลกระทบต่อ ปตท. 6 พันล้าน

ในกรณีของ ปตท. ที่ออกมาระบุว่า การปรับเปลี่ยนโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติตามมติ กพช. ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินงานของธุรกิจโรงแยกก๊าซที่จะปรับสูงขึ้น ยกเว้นก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในประเทศ ซึ่งในที่ประชุมบอร์ด ปตท. เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2567 ได้ประมาณการผลกระทบเบื้องต้น “ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2567” จะทำให้ผลการดำเนินงานโดยรวมของธุรกิจก๊าซของ ปตท. ปรับตัวลดลงประมาณ 6,500 ล้านบาท

อีกทั้ง ปตท.ยังต้องคืนการส่งผ่านราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย กรณีที่ส่งมอบไม่ได้ตามเงื่อนไขสัญญา 4,300 ล้านบาท ทำให้หลายคนประเมินว่าผลจากการปรับโครงสร้างราคาก๊าซที่ว่าจะกระทบ สมมุติไตรมาสละ 6 พันล้าน หากนับรวมกว่าผลศึกษาจะเสร็จ 9 เดือน รวม 1.2 หมื่นล้าน

ส่วนตัวเลขของ ปตท. 4,300 ล้านบาทนั้น เป็นตัวเลขประมาณการจากหลายตัว ซึ่งจริง ๆ อาจจะไม่ถึง และมีช่วงเวลา ถึงแม้เป็นตัวเลขในระยะเวลา 4 เดือน แต่ต้องดูสมมุติฐานราคา LNG เช่น 6,000 ล้านบาท LNG อยู่ที่ 13 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ถ้าราคาลงมาเหลือ 9 เหรียญสหรัฐ ก็อาจจะไม่ใช่ที่บอก 4,300 ล้านบาทแล้ว

ทั้งยังมีเรื่องปริมาณการนำเข้าด้วย โดยช่วง 4 เดือน มีการนำเข้า 20 ลำ จึงมองว่าทั้งปีไม่น่าจะ 100 ลำ อาจจะนำเข้าเพียง 80 ลำ เพราะการผลิตแก๊สธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณ จะสามารถผลิตเข้ามาเพิ่มได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ซึ่งจะทำให้ระดับการนำเข้าน่าจะลดลงจากปีก่อน 10 กว่าลำ

ต่อคำถามถึงความแน่นอนของแหล่งเอราวัณว่าจะผลิตได้ตามแผน 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน นานเพียงใดและต่อเนื่องหรือไม่ มองว่า หากไม่สามารถผลิตได้ตามสัญญาที่วางไว้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต ก็ปรับ เพราะจะต้องผลิตได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาทั้งปีนี้ ไม่ใช่แค่ 3 เดือนตามระยะการปรับในสัญญา

เปรียบเทียบราคา Pool Gas และ Gulf Gas

เมื่อปริมาณแก๊สธรรมชาติจากอ่าวไทยเพิ่มขึ้น การนำเข้า LNG จะลดลง ซึ่งหากเปรียบเทียบ “ราคาประมาณการ Pool Gas จะอยู่ที่ประมาณ 333 บาทต่อล้านบีทียู ส่วน Gulf Gas น่าจะประมาณ 200 กว่าบาทต่อล้านบีทียู ถือว่าต่างกันเยอะ”

ซึ่งอย่างที่บอก คือ 333 อยู่บนสมมุติฐาน LNG 13 เหรียญสหรัฐ ตอนนี้ราคา LNG เราอยู่ที่ 9.50 เหรียญสหรัฐ ฉะนั้น ต่างมากถึง 4 เหรียญสหรัฐ ก็ถือว่าเยอะ

แนวโน้ม “ค่าไฟ” ลดลง

ในระหว่างการศึกษานี้ การเอาแก๊สพวกนี้มาเฉลี่ยหารก็ช่วยค่าไฟไปได้ระดับหนึ่ง แต่ต่อจากนี้ต้องดูว่าจะอย่างไร แต่แนวโน้มค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค. น่าจะดีขึ้น เพราะราคา LNG ลง และมั่นใจว่าแหล่งเอราวัณสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ 800 ล้าน ลบ.ม. ก็จะทำให้การใช้ LNG นำเข้าลดลง ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าก็จะลดลงด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงมาก เพราะเป็นช่วงหน้าร้อน ส่วนสถานการณ์ราคา LNG ตลาด JKM อยู่ที่ 9.50 เหรียญสหรัฐ ซึ่งอาจจะทำให้เงิน AF คืนให้ กฟผ. คืนให้ ปตท.ได้ ซึ่งเขาก็จ่ายไปช่วงปลายปี ปตท.ก็แบกบางส่วน รอดูว่าถ้าพอก็ค่อย ๆ กระจาย

แผนระยะยาว “สรรหาแหล่งก๊าซ”

อย่างไรก็ตาม แผนการบริหารจัดการก๊าซระยะยาวต้องหาแหล่งทดแทน อย่างแหล่งเยตากุนผลิตลดลง แต่เพื่อให้การผลิตยังเป็นไปตามสัญญาเดิมจึงต้องมีการดึงจากซอร์ติก้ามาเพิ่ม แต่พอมีเรื่องการเมืองภายใน ตอนนี้ความหวัง คือ การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (OCA) ซึ่งหลังจากที่ท่านนายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายได้พบกันเมื่อสัปดาห์ก่อน ก็ได้ให้ “ตั้งคณะทำงานร่วม” มีองค์ประกอบทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

คณะกรรมการทั้งสองกระทรวง จะมีทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ปลัดกระทรวงพลังงาน และพลังงานจะมีอธิบดีกรมเชื้อเพลิง รวมถึงหน่วยงานด้านความมั่นคง ส่วนกระทรวงการต่างประเทศก็จะเหมือนกัน คือ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และอธิบดีกรมสินธิสัญญา

เราไม่คิดว่าเราจะไปแก้ปัญหาเรื่องเขตแดน เรื่องนี้ คือ ความตั้งใจของกระทรวงพลังงานว่าเรื่องเขตแดนจะคุยแล้วจบยากไม่คุยได้หรือไม่ ขอมาผลิตเลยดีกว่า โดยจะต้องหาวิธีการแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างไร เพราะไม่ใช่สิทธิประโยชน์คนใดคนหนึ่งก็ต้องมาคุยกันว่าจะแบ่งอย่างไร หรือว่ากันใหม่เลย เปิดสัมปทานใหม่เลย ซึ่งอันนั้นต้องไปดูข้อกฎหมายก่อนยังไม่แน่ใจ จะใช้เวลาถึง 10 ปีไหมอันนี้ไม่รู้