10 ปี ต้องได้ก๊าซไทย-กัมพูชา พลังงานเปลี่ยน-โลกเมิน LNG

เศรษฐา ทวีสิน-ฮุน มาเนต
เศรษฐา ทวีสิน-ฮุน มาเนต

การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Area หรือ OCA) นับเป็นหนึ่งในไฮไลต์สำคัญของการพบกันระหว่าง นายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในโอกาสที่ นายฮุน มาเนต เดินทางมาเยือนประเทศไทยในวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้

โดยมีเป้าหมายเพื่อสานต่อความคืบหน้าในการเจรจาที่ได้เริ่มไว้เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เดินทางเยือนกัมพูชา เปิดศักราชความสัมพันธ์ใหม่ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ ซึ่งในครั้งนั้นฝ่ายกัมพูชาได้ยกปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันทางทะเลระหว่างทั้งสองประเทศขึ้นมาหารือ

ประเด็นนี้นับได้ว่า มีความสำคัญมากทั้งในแง่ความมั่นคงและยังเชื่อมโยงถึงการพัฒนาเป็นแหล่งพลังงานที่มีมูลค่านับแสนล้านบาท แต่ทว่าการเจรจาเป็นไปอย่างล่าช้ากว่า 53 ปี และยังติดอยู่ในวังวนเดิมในเรื่องของการกำหนดเขตทางทะเลและปัญหาเทคนิค

กระทั่งในช่วงเวลาที่สถานการณ์พลังงานในตลาดโลกมีความผันผวนสูง ทุกประเทศต้องเผชิญวิกฤตราคาพลังงานหลังจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนปะทุขึ้น จนทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกปรับขึ้นไป 40% ต่อเนื่องด้วยความไม่สงบจากเหตุอิสราเอล-ฮามาส ที่เป็นอีกหนึ่งแรงกดดันราคาพลังงานในตลาดโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย

ดังนั้น การแสวงหาแหล่งพลังงานสำรองเพื่อความมั่นคงที่มีราคาเหมาะสม จึงเป็นหนทางที่ต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลเพื่อไทยตระหนักถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนการเจรจา OCA เป็นอย่างดี จึงมีแนวนโยบายดำเนินการเรื่องนี้มาตั้งแต่เริ่มหาเสียง จนกระทั่งนายกรัฐมนตรีเศรษฐาเข้ารับตำแหน่ง ก็ได้จัดให้นโยบายเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งทำทันที โดยเห็นจากการเยือนกัมพูชาในครั้งนั้นได้หยิบยกประเด็นนี้เป็นประเด็นหลัก กระทั่งการพบกันในครั้งนี้

โอกาส-ความจำเป็น OCA

หากมองถึงศักยภาพของพื้นที่ดังกล่าว ที่มีขนาด 16,000 ตร.กม. อาจนับได้ว่าจะเป็นแหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติที่สำคัญของไทยต่อไป จากปัจจุบัน “สถานะด้านก๊าซธรรมชาติ” ในไทยปัจจุบันมีการดึงมาใช้จาก 4 แหล่ง คือ 1) แหล่งที่ไทยผลิตเองในอ่าวไทย ไม่ว่าจะเป็นเอราวัณ บงกช หรืออื่น ๆ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 47% และกำลังจะเปิดสัมปทานใหม่รอบที่ 24

2) แหล่งมาเลเซีย (MTJA) คิดเป็นสัดส่วน 11% ซึ่งไทยได้มีการเจรจาขอซื้อเพิ่มและติดคดีบางเรื่องอยู่ 3) แหล่งเมียนมา คิดเป็นสัดส่วน 16% ซึ่งมีข้อจำกัดจากปัญหา “ภูมิรัฐศาสตร์” กับชาติมหาอำนาจตะวันตก และแหล่ง Yadana/Yetagun เตรียมจะหยุดผลิตในปี 2572/2574 สัมปทาน Yadana ที่เชฟรอนถอนยังติดปัญหาใครจะเป็นผู้รับช่วงต่อ และ 4) ก๊าซธรรมชาติเหลวนำเข้า (LNG) คิดเป็นสัดส่วน 23%

จากภาพดังกล่าวสะท้อนว่าประเทศไทยต้องพึ่งพาแหล่งผลิตจากอ่าวไทยเป็นหลัก เพราะมีต้นทุนที่ต่ำที่สุด แต่ความเสี่ยงที่ในอนาคตแหล่งผลิตในอ่าวไทย ซึ่งมีลักษณะเป็นกระเปาะ ๆ ขนาดเล็กจะค่อย ๆ ทยอยหมดไป หรือดึงขึ้นมาใช้ได้ลดลงตามลำดับ ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องหาแหล่งก๊าซสำรอง

ในมุมมองของนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. มองว่า พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (OCA) มีศักยภาพมาก แต่การจะสานต่อการเจรจาของรัฐบาลจะต้องมองภาพรวมทุกด้าน โดยสิ่งแรกที่ต้องให้ได้ทราบก่อนว่า 1) การผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย โดยเฉพาะแหล่งเอราวัณจะสามารถฟื้นกำลังการผลิตก๊าซกลับที่ 800 ล้าน ลบ.ม./วันได้เมื่อไร

2) เมื่อฟื้นมาแล้วจะสามารถรักษากำลังการผลิตให้คงอยู่นานเพียงใด เช่น ขณะนี้มีหลายสูตรที่มอง เช่น อาจจะเพิ่มกำลังการผลิตกลับขึ้นมาได้ 800 ลบ.ม.ได้ แต่ทำได้เพียง 3 เดือน นี่คือ “โจทย์หลัก” ที่จำเป็นต้องขอความแน่นอน จากนั้นจึงจะมาดูว่าก๊าซที่เหลือเป็นอย่างไร หากก๊าซธรรมชาติจากแหล่งนี้ยังมีความไม่แน่นอนจะส่งผลให้ส่วนอื่นสะวิงตาม

ส่วนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) อยากให้เป็นทางเลือกสุดท้ายจริง ๆ เพราะแม้ว่าแหล่งนำเข้า LNG จะมีจำนวนมากกว่า “น้ำมัน” ซึ่งส่วนใหญ่มาจากตะวันออกกลาง แต่ก็มีความเสี่ยง เพราะมีผู้แข่งขันน้อยราย หากเกิดการฮั้วราคากันก็จบ แต่ก๊าซธรรมชาติมาจากหลากหลายแหล่งน้ำมัน มีทั้งตะวันออก อเมริกา ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย

ฉะนั้น โอกาส “ฮั้วราคา” ของก๊าซธรรมชาติจะน้อยกว่า แต่อย่างไรก็ตาม หากเราใช้ LNG ในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง เมื่อเกิดวิกฤตด้านราคาอย่างที่เห็น ว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาราคา LNG กลับเพิ่มมาเกือบครึ่ง หรือ “ผิดปกติมาก” นั่นย่อมส่งผลต่อราคาเราด้วย แม้ว่าจะมีสัญญาระยะยาว (ลองเทอม) ก็ตาม

สำหรับปีนี้ กกพ.คาดการณ์ว่าจะมีความต้องการใช้ LNG จำนวน 100 ลำเรือ หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ใช้ปริมาณ 90 ลำ ซึ่งคิดปริมาณนำเข้าเฉลี่ยลำละ 60,000 ตัน รวม 6 ล้านตัน ซึ่งปริมาณนี้ยังไม่รวมปริมาณที่อนุญาตให้ LNG Shipper (แต่ละรายนำเข้า ซึ่งแต่ละรายมีแผนจะนำเข้ามาเพื่อใช้ในโรงไฟฟ้า หรือรองรับลูกค้าของตัวเอง ซึ่งอาจจะไม่ได้นำเข้าตามตัวเลขที่รายงานไว้ เพราะขึ้นอยู่กับความต้องการใช้จริงแต่ละราย หน้าที่ กกพ.ดูว่าจะนำเข้าเท่าไร ซึ่งเขาจะนำเข้าจริง หรือไม่เป็นไปตามนั้นก็ได้ แต่ถ้าหากขาด เขาต้องกลับไปซื้อ ปตท.มาเสริมได้)

“สถานการณ์ราคา LNG ช่วงนี้ยังมีราคาไม่สูงมากนัก แต่ก็จำเป็นต้องหาวิธีบาลานซ์ อีกด้านหากเกิดปัญหากับแหล่งแก๊สที่ไทยนำเข้าจากเมียนมา มีปัญหาต้องนำเข้ามากกว่านี้ แม้ว่าเยตากุนจะจ่ายก๊าซเราตามปกติอยู่ในตอนนี้” นายคมกฤชกล่าว

ความท้าทายของ OCA

ในอีกด้านหนึ่ง สถานการณ์ปัจจุบันสะท้อนว่า ความไม่แน่นอนของราคาพลังงานในตลาดโลกยังสูง ประกอบกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้เดินหน้าแผนการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) เพื่อก้าวสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ แรงกดดันในการกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็มีมากขึ้น ๆ ดังนั้น จังหวะนี้ประเทศไทยจำเป็นต้องตัดสินใจและกำหนดยุทธศาสตร์ประเทศในการบริหารจัดการด้านพลังงานในอนาคตว่าจะมุ่งไปในทิศทางใด

แม้ว่า LNG จะเป็นพลังงานที่เหมาะสำหรับใช้ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน แต่ไม่ใช่มีเพียงแค่ทางเลือกนี้เท่านั้น เพราะปัจจุบันนี้เทคโนโลยีด้านพลังงานมีการพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างมาก และจะมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งไทยจำเป็นต้องมองเทรนด์ทั่วโลกด้วยว่าจะไปในทิศทางใดด้วย

“กกพ.ไม่ได้มีบทบาทในเรื่องการเจรจา แต่ถ้าถามเรื่อง Protencial ของ OCA คือมีแน่นอน เพราะถ้าพัฒนาแหล่งกัมพูชาขึ้นมา สิ่งที่ไทยจะได้ประโยชน์ก็คือ ไม่ต้องเดินท่อใหม่ สามารถเชื่อมต่อกลับมาได้เลย น่าจะเป็นทางออกที่ดีในช่วงทรานซิชั่น” แต่อีกมุมหนึ่งเราเห็นโมเดลเยอรมนีที่เกิดขึ้นคือ เยอรมนีไม่ใช้ก๊าซท่อจากรัสเซีย ปริมาณก๊าซหายไปมหาศาล เขาไปหานำเข้าจากอเมริกาเข้ามา แต่ปรากฏว่าเยอรมนีกลับมีการสร้างเทอร์มินอลสำหรับแอมโมเนีย เพราะเขาคิดว่าอีก 10 ปีจะเลิกใช้แล้ว เทรนด์โลกไปในทางแอมโมเนีย

ดังนั้น เราต้องวางทิศทางโดยหันไปมองสังคมโลกว่าจะเดินไปที่ไหนด้วย ฉะนั้น OCA ถ้าไม่เอาขึ้นมาใช้ 10 ปี ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะต่อให้สามารถเอาขึ้นมาได้หลังจากนั้น คุณก็ต้องเสียภาษีคาร์บอนแพงกว่าจะไม่คุ้ม ถ้าจะใช้ควรต้องเอามา แต่ยุโรปมองว่า ก๊าซเป็นอันดับสองรองจากแอมโมเนีย เราก็ต้องมองเช่นกัน” นายคมกฤชกล่าว

วัดกึ๋นบิ๊กพลังงานตั้ง บ.ร่วมทุน

การหาบทสรุปเรื่องดังกล่าวอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะหมดหวังเสียทีเดียว ด้วยเหตุนี้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ได้มองข้ามชอตไปถึงแนวทางปัญหาทางด้านเขตแดนและทางเทคนิคและเตรียมการไว้แล้ว

โดยเคยได้ระบุว่า “OCA ไทย-กัมพูชาอยู่ในลิสต์เร่งด่วนตามนโยบายของรัฐบาล เพราะจะช่วยให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงาน และช่วยดูแลด้านราคาด้วย เรื่อง OCA นี้ ได้หารือกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติแล้ว อยากให้ไปหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ ว่าจะทำอย่างไรได้ภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจ (MOU) ปี 2544 ที่มีอยู่ (กำหนดให้มีคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา) คิดว่าไม่ต้องทำ MOU ใหม่ แต่ต้องเจรจาไปพร้อมกัน

ทั้งเรื่องเขตแดนและเรื่องการใช้ประโยชน์ ซึ่งทั้งสองเรื่องเจรจาพร้อมกัน แต่อาจจะจบไม่พร้อมกันก็ได้ โดยอาจจะมีการบริหารจัดการพื้นที่ให้มีผลผลิตปิโตรเลียม โดยไม่ยุ่งกับเขตแดนอย่างไร โดยเป็นไปได้ที่จะมีรูปแบบ เป็นการตั้งองค์กรหรือบริษัทร่วมกันที่ทั้งสองฝ่ายจะเข้าไปถือหุ้นและใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อนำปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ก่อน และมีการแบ่งปันผลประโยชน์”

ขณะที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา มีความเห็นต่างว่า OCA นั้นต้องเจรจาเส้นเขตแดนให้จบก่อน ซึ่งหลังจากนี้ต้องมาจับตาดูว่า “โมเดล” ของรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงงานที่วางไว้ จะนำไปสู่ทางออกร่วมกันได้สำเร็จหรือไม่ ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับ “การตัดสินใจ” ของรัฐบาล