ร้อนแล้งทุบพืชเกษตรพัง ราคาแพง-ผลผลิตวูบ ยุติส่งออก

durian

ร้อนแล้งถล่มพืชผลทางการเกษตร เมษายนอุณหภูมิทะลุ 40 องศา อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก-กลางแห้งขอด พื้นที่อีสานหนักสุด อ่างเหลือน้ำน้อยกว่า 30% ชาวไร่ชาวสวนจันทบุรี-สระแก้วร้องผู้ว่าฯประกาศเขตภัยแล้ง หนักถึงขั้นต้องซื้อน้ำรดต้นทุเรียน-ลำไย มันสำปะหลัง-อ้อยตายยกไร่ มะพร้าวน้ำหอมไม่ติดลูกร่วงยกทะลาย ยางพาราตรังไม่รอดยืนต้นตาย ด้านกรมฝนหลวงปรับแผนตั้ง 11 หน่วยบินเติมน้ำในเขื่อนช่วยเกษตรกร

กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดหมายอากาศทั่วไปในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ปรากฏบริเวณประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศร้อนอบอ้าวโดยทั่วไปและมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่เป็นระยะ ๆ อุณหภูมิสูงที่สุด 43.0-44.5 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบนของทั้งภาคกลางและภาคตะวันออก

ส่งผลให้แหล่งเก็บน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภค-บริโภค โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กมีปริมาณน้ำลดลง แหล่งน้ำหลายแห่งถึงกับแห้งขอด เนื่องจากอัตราการระเหยของน้ำสูงมาก สร้างความเสียหายให้กับพืชผลทางการเกษตรทั้งในพื้นที่และนอกเขตชลประทาน

อ่างอีสานแห้งขอด

สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน ได้รายงานปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางจำนวน 435 แห่งทั่วประเทศ ณ วันที่ 3 พฤษภาคม ปรากฏมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 2,090 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 42 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่เหลือน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ถึง 48 แห่ง

รองลงมาได้แก่ อ่างในภาคตะวันออก 18 แห่ง และภาคกลาง 15 แห่ง แต่หากรวมปริมาณน้ำใช้การได้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศจะพบว่า มีปริมาณน้ำใช้การเหลืออยู่เพียง 17,516 ล้าน ลบ.ม. หรือน้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึง 2,280 ล้าน ลบ.ม.

Advertisment

ปริมาณน้ำใช้การได้จำนวนนี้จะต้องถูกใช้ไปถึงเดือนมิถุนายน ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงฝนตกหนักมากในฤดูฝนเดือนสิงหาคม นอกจากนี้ในเดือนพฤษภาคมยังเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงสั้น ๆ ใน 2 สัปดาห์แรกของเดือนอีกด้วย ทำให้พืชผลทางการเกษตรที่จะออกสู่ตลาดในช่วง 1-3 เดือนนี้ประสบกับความเสียหาย เนื่องจากขาดแคลนน้ำและอุณหภูมิโดยเฉลี่ยของทั้งประเทศสูงขึ้น

เอลนีโญกดดัน ศก.Q1/67เหนือ

นางพรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ ในช่วงไตรมาส 1/2567 ภาคเกษตรได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้รายได้เกษตรกรปรับลดลงตามผลผลิตอ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง และข้าวนาปรังที่ลดลง เนื่องจากมีปริมาณฝนและน้ำน้อยในช่วงเพาะปลูกจากภาวะเอลนีโญ ทำให้ผลผลิตบางส่วนได้รับความเสียหาย

ส่วนด้านราคายังขยายตัวดี ทั้งราคาอ้อยโรงงานที่ปรับสูงขึ้นตามราคาอ้อยขั้นต้น และราคาข้าวเปลือกขยายตัวดีต่อเนื่อง ตามอุปสงค์จากต่างประเทศ โดยรายได้เกษตรกรหดตัวเหลืออยู่ที่ร้อยละ 2.3 เทียบกับไตรมาส 4/2566 อยู่ที่ร้อยละ 7.2

มะพร้าวขาดคอ

ว่าที่ร้อยตรี พิทักษ์ พึ่งพเดช เจ้าของสวนเดี่ยว บ้านแพ้ว ในฐานะประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพิทักษ์สาคร ซึ่งรวบรวมสมาชิกในชุมชนจัดตั้งเป็นกลุ่มแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอมยกกระบัตร ต.ยกกระบัตร อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ร้อนแล้งผิดปกติ เริ่มตั้นแต่เดือนมกราคมและหนักสุดในเดือนพฤษภาคม 2567

Advertisment

ทำให้สมาชิกในกลุ่มแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอมยกกระบัตร ที่มีจำนวน 35 คน รวมพื้นที่สวนมะพร้าวทั้งหมด 400 ไร่ ได้รับผลกระทบอย่างมาก จากผลผลิตมะพร้าวที่เคยเก็บได้ 100% ปัจจุบันเหลือเพียง 5% เนื่องจากปัญหามะพร้าวที่กำลังออกช่อดอกหรือจั่นมะพร้าว 1-3 เดือนเกิดขั้วแห้ง ทำให้ผลร่วงหลุดออกจากทะลาย หรือเรียกว่า “มะพร้าวขาดคอ” หนักที่สุดในรอบ 10 ปี ทำให้ตอนนี้มะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว ราคาขายหน้าสวน ณ วันที่ 3 พ.ค. 67 ขึ้นไป 37-38 บาทต่อลูก

“ในช่วงที่สภาพอากาศปกติ มะพร้าวจะออกประมาณ 10 ลูกต่อทะลาย แต่ตอนนี้เหลือเพียง 2-5 ลูกต่อทะลาย หรือจาก 1,000 ลูก เหลือเพียง 100 กว่าลูก รายได้ปกติ 30,000-40,000 บาท ลดลงเหลือเพียง 3,000-4,000 บาท ประมาณ 5% ต่อไร่เท่านั้น

แต่ที่หนักสุดบางสวนเก็บมะพร้าวได้แค่ 20 ลูก ในพื้นที่ 10 ไร่ ซึ่งลดลงจากช่วงปกติที่เก็บได้ 2,000-3,000 ลูก ทำให้เกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้นด้วย จากเดิมต้นทุน 5 บาท/ลูก ตอนนี้พุ่งสูงถึง 7 บาท/ลูก ส่วนราคาขายหน้าสวนปกติลูกละ 10 บาท ซึ่งสวนทางกับผลผลิตที่น้อยลง ในเมื่อมีมะพร้าวไม่พอต่อการตัดรอบ ทำให้เกษตรกรต้องเอาทุนเก่ามาใช้ อีกทั้งต้องลงทุนดูแลผลผลิต รดน้ำเพิ่มขึ้นเท่าตัว จากเดิมมะพร้าว 1 ต้น รดน้ำ 2-3 วัน ตอนนี้ต้องเปลี่ยนมารดน้ำวันเว้นวัน หรือทุกวัน” ว่าที่ร้อยตรีพิทักษ์กล่าว

ชะลอส่งออกมะพร้าว

นายณธกฤษ เอี่ยมสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด ผู้ส่งออกผลไม้รายใหญ่ของไทยกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปกติช่วงไตรมาส 2 ของทุกปีเข้าสู่ฤดูร้อนมะพร้าวจะออกผลผลิตน้อย ยิ่งปีนี้หลายพื้นที่ประสบปัญหาแล้งมากกว่าทุกปี ทำให้สวนมะพร้าวหลายแห่งในเขตราชบุรีและนครปฐมประสบปัญหาผลผลิตออกน้อยกว่าทุก ๆ ปีที่ผ่านมา

ส่งผลให้ราคาต้นทุนของมะพร้าวสูงขึ้นมาก กระทบมายังผู้ส่งออกต้องรับภาระต้นทุนที่แพงขึ้น แต่เนื่องจากมะพร้าวสดส่งออกในตลาดปลายทางถือเป็นเครื่องดื่มชนิดหนึ่ง เมื่อราคามะพร้าวแพงทำให้ผู้บริโภคหันไปดื่มเครื่องดื่มน้ำผลไม้สำเร็จรูปแทน ทำให้ช่วงนี้บริษัทชะลอปริมาณการส่งออกมะพร้าวลงในช่วงไตรมาสสองนี้ เพราะไม่มีสินค้าและราคาสูงเกินผู้บริโภครับได้

“ถ้าแพงเกินกว่าตลาดจะรับได้ การสั่งซื้อก็จะลดลง ซึ่งจะสะท้อนกลับมาที่ต้นทาง ทำให้ราคาไม่ขยับขึ้นไปมากกว่าที่ตลาดจะรับได้” นายณธกฤษกล่าว

ขอผู้ว่าฯประกาศเขตภัยแล้ง

ด้านนายณรงค์สิชญ์ สุทธาทิพย์ สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำขณะนี้เกิดขึ้นทุกอำเภอใน จ.จันทบุรี เจ้าของสวนรายใหญ่พอที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ชาวสวนรายเล็ก ๆ ไม่มีเงินทุนที่จะซื้อน้ำ ต้องรีบช่วยเหลือ ทาง อบต.ท้องถิ่นมีงบประมาณช่วยเหลือ 300,000 บาท “ก็ใช้กันหมดแล้ว” ตอนนี้ทุเรียนหมอนทองอายุ 98 วัน แก่ตัดได้แล้ว ราคาอยู่ที่ 160-165 บาท ถ้าไม่มีน้ำคือต้องสูญเสียรายได้ไป และหากฝนไม่ตกลงมาอีก ทุเรียนก็ต้องทิ้งต้นตาย

จากการพูดคุยมีหน่วยงานทหารใน จ.จันทบุรี พร้อมที่จะนำรถมาช่วยบรรทุกน้ำ ชาวสวนยินดีช่วยค่าน้ำมัน ค่าอาหาร ที่พัก เพียงถ้าจังหวัดมีประกาศภัยแล้งในพื้นที่ที่จะเข้าไปช่วยเหลือ ตนเองได้ปรึกษากับนายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้าน จ.จันทบุรี ทำหนังสือขอ ผวจ.จันทบุรี ประกาศภัยแล้งทั้งจังหวัดให้เร็วที่สุด เพื่อช่วยเหลือผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญของจันทบุรี กว่า 70,000 ล้านบาท

นายปัญญา ประดิษฐ์สาร เกษตรจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ผลกระทบจากภัยแล้งทำให้ผลผลิตทุเรียนเสียหายทั้งคุณภาพและปริมาณ การเก็บเกี่ยวเร็วขึ้นทำให้ผลพัฒนาการไม่เต็มที่ น้ำหนักผลลดลง บางสวนผลผลิตแตกทั้งที่อายุไม่ถึงการเก็บเกี่ยว หนักสุดผลเล็กหลุดร่วง และต้นตาย ชาวสวนต้องดูแลเรื่องน้ำให้พออยู่ได้ อาจจะต้องตัดลูกทิ้งเพื่อรักษาต้นไว้

สอดคล้องกับ นายไวกูณฐ์ เทียนทอง เกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี กล่าวว่า ชาวสวนทุเรียน จ.จันทบุรี ในพื้นที่นอกเขตชลประทานต่างประสบภาวะภัยแล้ง มีการซื้อน้ำรดทุเรียนจำนวนมากทุกอำเภอ โดยเฉพาะใน อ.เขาคิชฌกูฏ อ.สอยดาว อ.โป่งน้ำร้อน และ อ.ท่าใหม่บางตำบล

เนื่องจากปัญหาฝนทิ้งช่วงยาวตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน ความร้อนจากสภาพอากาศและปริมาณน้ำที่เตรียมไว้ไม่เพียงพอ ทำให้ผลผลิตทุเรียนออกมาไม่ดีนัก ทั้งรุ่น 1 ที่ออกไปแล้ว และรุ่นที่ 2 ที่จะออกช่วงวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 ซึ่งถือเป็นช่วงที่ผลผลิตออกมากที่สุด (Peak) หรือเร็วกว่าที่คาดการณ์เดิมว่า ผลผลิตทุเรียนจะพีกช่วงวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 ซึ่งทุเรียนตัดกันในช่วงก่อนและหมดรุ่นใหญ่จะมีทุเรียนขาดน้ำ ตัดหนีน้ำปะปนมาจำนวนมาก

“ชาวสวนต้องรีบตัด ถ้าทุเรียนแก่ เพราะภาระค่าใช้จ่ายสูงทั้งค่ารถบรรทุกน้ำขนาด 15,000-20,000 ลิตร เที่ยวละ 1,500-2,000 บาท ต้องติดตั้งไฟฟ้าเป็น 2-3 เฟส ให้ทำงานได้เต็มที่ ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น 2-3 เท่า จาก 2,000-3,000บาท เป็น 10,000 บาทเศษ การเชื่อมท่อต่อจากแหล่งน้ำระยะทาง 1-2 กม. ตอนนี้ปริมาณทุเรียนน้อยลง ส่งผลให้ราคาพันธุ์หมอนทอง เกรด AB ขยับขึ้นจาก 145-150 บาท/กก. เป็น 155-165 บาท/กก. และเชื่อว่าหลังวันที่ 10 พ.ค. 67 ปริมาณผลผลิตทุเรียนเริ่มเหลือน้อยลง ราคาน่าจะปรับสูงขึ้น” นายไวกูณฐ์กล่าว

พืชไร่สระแก้วเสียหายหนัก

นายบุญเรือง สีขาม ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า พืชไร่ประสบปัญหามาตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนถึงปลายเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงเริ่มปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ที่ต้องการน้ำฝน เมื่อฝนไม่ตก-ทิ้งช่วงนาน ชาวไร่ปลูกอ้อยกับมันสำปะหลังไปแล้ว “แต่ฝนไม่ตก” ทำให้พืชไร่ตายหรือไม่เติบโต ต้องไถกลบและปลูกใหม่ ชาวไร่อ้อย-มันสำปะหลัง ส่วนใหญ่จะมีโรงงานมาปล่อยเงินกู้ ซื้อปุ๋ย และให้กิ่งพันธุ์ตามโควตา

อ้อยเมื่อปลูกไม่ได้ กิ่งพันธุ์เสียหาย ต้องไปหากิ่งพันธุ์จากต่างจังหวัดมาปลูกใหม่เอง ยกร่องปลูกใหม่ ทำให้ยุ่งยากสิ้นเปลืองเงินทุนมากขึ้น ส่วนมันสำปะหลังไปซื้อมาข้ามจังหวัดต้องผ่านขั้นตอนการตรวจจากด่านตรวจพืชเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง

นายศิริไพบูลย์ วัฒณวงศ์ชัย รักษาการนายกสมาคมลำไยและไม้ผล จ.สระแก้ว กล่าวว่า ปัญหาภัยแล้งสวนลำไยเดือดร้อน ในช่วงนี้ลำไยราดสารต้องการน้ำ “แต่ไม่มีน้ำให้ลด ฝนก็ไม่ตก” ปกติทุกปีจะมีพ่อค้าเข้ามาทำสัญญารับซื้อ แต่ตอนนี้ไม่มีพ่อค้ากล้าเข้ามาทำสัญญารับซื้อลำไยล่วงหน้าเหมือนทุกปี เกษตรกรไม่มีเงินมัดจำเป็นทุนไปราดสารทำใบ ทำดอก ดังนั้น จังหวัดสระแก้วควรประกาศเขตภัยแล้ง เพื่อให้มีงบประมาณมาช่วยเหลือเกษตรกรที่กำลังเดือดร้อนอย่างหนัก

ลำไย-ทุเรียนชุมพรต้องซื้อรถน้ำ

นายดำรงศักดิ์ สินศักดิ์ ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จ.ชุมพร กล่าวว่า ภาคใต้มีปัญหาภัยแล้งขาดน้ำ ส่งผลต่อผลผลิตทุเรียนภาคใต้เช่นเดียวกับทุเรียนภาคตะวันออก แปลงใหญ่ทุเรียนหมู่ 2, 13, 16 ต.รับร่อ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ตอนนี้แล้งหนัก ต้องซื้อน้ำรด

โดยรถบรรทุกขนาด 20,000 ลิตร ราคาน้ำเที่ยวละ 1,500 บาท และต่อท่อยาว 1-2 กม.เพื่อดูดน้ำ หวังรอพายุฤดูร้อนที่จะมากลางเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมากรมฝนหลวงฯได้เข้ามาทำฝนเทียมไปแล้ว แต่ความชื้นไม่พอ ฝนไม่ตก ตอนนี้บางแปลงขาดน้ำ ลำไยถึงกับยืนต้นตาย

ส่วนทุเรียนขาดน้ำแล้วมาเจอฝนหนัก เมื่อลูกกินน้ำเยอะจะหลุดร่วงทันที เมื่อลูกร่วงหมดจะแตกยอดอ่อน คาดว่า จ.ชุมพร ปี 2567 ปริมาณผลผลิตทุเรียนจะลดลงจากคาดการณ์ไว้ 305,072 ตัน เหลือแค่ 270,000 ตัน ใกล้เคียงกับปี 2566 โดยผลผลิตจะกระจายออก 3 รุ่น และกำหนดวันเก็บเกี่ยววันที่ 15 มิถุนายนนี้

ตรัง “ยางพารา” ยืนต้นตาย

นายเรืองชัย สมบัติทอง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 ตำบลโพรงจระเข้ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอย่านตาขาว ลงพื้นที่สำรวจสวนยางพาราที่ประสบปัญหาภัยแล้งของ นางสาวสุมิตตรา วิเชียร เกษตรกรในพื้นที่หมู่ 3 ซึ่งมีพื้นที่ปลูกยางพารา 8-2-0 ไร่ มีอายุ 2 ปี ได้รับความเสียหาย ยางพารายืนต้นตายจำนวน 40 ต้น

รายงานข่าวจากสำนักงานเกษตรจังหวัดตรังแจ้งว่า มี 8 อำเภอ 33 ตำบล 126 หมู่บ้าน ประสพภัยแล้งทั้งหมด ได้แก่ อำเภอสิเกา, อำเภอนาโยง, อำเภอเมืองตรัง และอำเภอห้วยยอด

แล้งลุกลามภูเก็ต

ส่วนนางณัฐริกา ส่งศรีบุญสิทธิ์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมหารือติดตามเฝ้าระวังภัยแล้งด้านการเกษตรจังหวัดภูเก็ต ที่ประชุมรายงานสถานการณ์เฝ้าระวังพื้นที่การทำเกษตร มีการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งของจังหวัดภูเก็ต

ข้อมูล ณ วันที่ 28 เมษายน 2567 พืชที่ได้รับผลกระทบเป็นไม้ผล ประกอบด้วย ทุเรียน 2,688 ไร่ มีความเสี่ยงน้อย 513 ไร่ ความเสี่ยงปานกลาง 1,095 ไร่ มีความเสี่ยงสูง 74 ไร่, มังคุด 448 ไร่ มีความเสี่ยงน้อย 71 ไร่ ความเสี่ยงปานกลาง 162 ไร่ และความเสี่ยงสูง 6 ไร่, เงาะ 385 ไร่ เสี่ยงน้อย 68ไร่ เสี่ยงปานกลาง 189 ไร่ เสี่ยงสูง 6 ไร่, ลองกอง 568 ไร่ เสี่ยงน้อย 159 ไร่ เสี่ยงปานกลาง 125 ไร่ และเสี่ยงสูง 6 ไร่, ลำไย 11 ไร่ เสี่ยงน้อย 8 ไร่ เสี่ยงปานกลาง 3 ไร่ และยังไม่พบเสี่ยงสูง

ตั้ง 11 หน่วยบินฝนหลวง

นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ได้มีการปรับแผนตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงประจำเดือนพฤษภาคม 2567 เพื่อรับมือกับปัญหาภัยแล้งที่ทวีความรุนแรง โดยมีภารกิจหลักคือการปฏิบัติการทำฝนบรรเทาภัยแล้ง การเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ การยับยั้งความรุนแรงของการเกิดพายุลูกเห็บและภารกิจบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า

โดยในเดือนพฤษภาคม 2567 ได้สั่งการให้ตั้ง หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั้งสิ้น 11 หน่วย ได้แก่ หน่วยจังหวัดเชียงใหม่ โดยเครื่องบิน CASA 2 ลำ Alpha Jet (ทอ.) 1 ลำ, หน่วยจังหวัดแพร่ โดยเครื่องบิน CASA 2 ลำ, หน่วยจังหวัดลพบุรี โดยเครื่องบิน CASA 2 ลำ, หน่วยจังหวัดกาญจนบุรี โดยเครื่องบิน CARAVAN 3 ลำ,

หน่วยจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเครื่อง BT (ทอ.) 1 ลำ และ CN 1 ลำ, หน่วยจังหวัดกระบี่ โดยเครื่องบิน CASA 2 ลำ, หน่วยจังหวัดพิษณุโลก โดยเครื่องบิน SKA 1 ลำ, หน่วยจังหวัดอุดรธานี โดย Alpha Jet (ทอ.) 1 ลำ และเครื่องบิน CASA 2 ลำ, หน่วยจังหวัดนครราชสีมา โดยเครื่องบิน CN 1 ลำ CARAVAN 2 ลำ และ AU-23 (ทอ.) 2 ลำ, หน่วยจังหวัดจันทบุรี โดยเครื่องบิน CARAVAN 4 ลำ และหน่วยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยเครื่องบิน CARAVAN 3 ลำ