ทุเรียนราคาดิ่งเวียดนามเบียดชิง ล้งซื้อเหมายกสวนหนีร้อนขาดน้ำ

ทุเรียนตะวันออกราคาดิ่งหนัก จาก 200-210 บาท ปรับลงมาเหลือกิโลละ 145-150 บาท วิเคราะห์เหตุ 4 เด้ง ปริมาณผลผลิตออกมาก ร้อนแล้งขาดน้ำ เจอซื้อเหมายกสวนตัดรวดเดียวทั้งต้นไม่แยกอ่อน-แก่ ไม่แยกเกรด-แยกรุ่น พัวพันราคาตกขาดทุน ขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ส่งออกไปจีนช้าถึง 6 วัน วิกฤตซ้อนปัญหาทุเรียนเวียดนามคูแข่งทั้งดี ทั้งถูก คาดเดือน พ.ค.ราคาดิ่งอีก 30 บาท/กก. ลุ้น 15 วันอันตรายหวั่นทุเรียนแล้งน้ำยืนต้นตาย

แหล่งข่าวจากแผงรับซื้อ-แพ็กทุเรียนส่งออก จ.จันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ราคาทุเรียนดิ่งลงทุกวัน เฉพาะช่วง 10 วันของปลายเดือนเมษายน (22-30 เม.ย. 67) พันธุ์หมอนทองเกรด AB จากราคา 200-210 บาท ปรับลงมา กก.ละ 170-175 บาท และล่าสุด กก.ละ 145-150 บาท ส่วนราคา “เหมาคว่ำหนาม” หรือแบบที่ซื้อเหมายกสวน ตัดทุเรียนรุ่นเดียวกันที่ถึงเวลาเก็บเกี่ยวได้โดยไม่แยกเกรดในราคาเดียว จากราคา 160 บาท ลงมาเหลือ กก.ละ 130 บาท

เปิด 4 สาเหตุทุเรียนราคาตก

ผู้สื่อข่าวรายงานสาเหตุที่ราคาทุเรียนปรับลดลงมาในช่วงนี้ ได้แก่ 1.ปริมาณผลผลิตที่เริ่มออกมากแล้ว 2.มีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะภัยแล้ง ไม่มีน้ำ ทำให้ชาวสวนบางส่วนเร่ง “ตัดรูดข้ามรุ่น” หรือเป็นการตัดทุเรียนทั้งต้น โดยไม่สนใจว่าทุเรียนอ่อน หรือแก่ ขณะที่ล้งที่รับเหมาซื้อไม่ได้คัดคุณภาพ แต่จัดบรรจุตู้ส่งออกไปขาย

ส่งผลให้ทุเรียนอ่อนเริ่มหลุดเข้าไปในตลาดจีน ทำให้ตลาดจีนต้องเทขาย ขาดทุน ราคาดิ่งลง ที่สำคัญตอนนี้ทุเรียนอ่อนลอตที่สองกำลังเดินทางไปตลาดจีนอีก ถ้าตลาดจีนพบทุเรียนไม่ได้คุณภาพ ทุเรียนอ่อนอีกครั้ง จะกระทบราคาทุเรียนต้นทางซ้ำลงอีกแน่นอน

ตอนนี้ล้งบางแห่งจึงเลือกซื้อเฉพาะพ่อค้าและสวนขาประจำ ยกเว้นทุเรียนไม่เต็มตู้ จะต้องซื้อทั่วไป แต่จะคัดคุณภาพเข้มมากขึ้น รับซื้อเฉพาะเกรด AB ทำให้ทุเรียนอ่อนที่ถูกล้งส่งออกคัดทิ้งไหลเข้ามาสู่ตลาดภายในประเทศจำนวนมาก

Advertisment

สาเหตุที่ 3 ที่ทำให้ราคาตก คือ จำนวนล้งจีนที่เข้ามาในภาคตะวันออกกว่าพันรายในปีนี้ รวมกับล้งไทยที่มีอยู่ ทำให้เกิดปัญหาการขาดตู้คอนเทนเนอร์บรรจุทุเรียน เพราะตู้คอนเทนเนอร์ถูกกระจายออกไปตามล้งต่าง ๆ และปีนี้คนจีนเริ่มซื้อทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์ ทำให้มีการใช้ตู้บรรจุทุเรียนเบญจพรรณเพิ่มขึ้น ถ้าล้งไม่สั่งจองตู้ล่วงหน้า ต้องหยุดรอจนกว่าตู้ที่ส่งไปจีนจะตีกลับมา

ขณะที่ล้งใหญ่ ๆ จะแก้ปัญหาโดยมีการดีลไว้กับชิปปิ้ง ส่วนล้งรายย่อยที่ไม่ได้จองตู้ต้องหยุดซื้อทุเรียน และล่าสุดปริมาณทุเรียนที่เริ่มออกมาก ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์ที่ส่งออกเริ่มการจราจรติดขัดที่หน้าด่านโหย่วอี้กวาน ซึ่งเป็นชายแดนเวียดนาม-จีน ทำให้ต้องใช้เวลา 5-6 วัน กว่าจะไปถึงปลายทางตลาดจีนล่าช้า

สาเหตุที่ 4 ที่ทำให้ทุเรียนไทยราคาตก คือ ทุเรียนเวียดนามกำลังจะออกมาชนกับทุเรียนไทยช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 อาจทำให้ราคาลงอีก

พ.ค.ราคาดิ่งต่อ 20-30 บาท/กก.

นายนครินทร์ วนิชย์ถนอม เจ้าของแผงส่งออก แผงทุเรียนคุณนนท์ จ.จันทบุรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้เป็นสภาพอากาศร้อนทำให้ทุเรียนสุกเร็ว มีการตัดทุเรียนทั้งต้น รวมกันทั้งทุเรียนอ่อน-แก่ หรือ “ตัดรูด” เพื่อหนีส่งไปตลาดจีน

Advertisment

แต่หากจีนตรวจพบทุเรียนอ่อน ทุเรียนด้อยคุณภาพของไทย จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ทุเรียนเวียดนาม ซึ่งเป็นคู่แข่งขันของไทยชิงความได้เปรียบเรื่องราคาที่ถูกกว่าทุเรียนไทย ประกอบกับขณะนี้ศรษฐกิจจีนเองยังไม่ดีนัก คนจีนจึงต้องเลือกของดีและถูกที่มาจากเวียดนามแทน

ทั้งนี้ แนวโน้มราคาในช่วงพีกเดือนพฤษภาคม คิดว่าราคาทุเรียนน่าจะลดลงอีก หมอนทอง เกรด AB กก.ละ 150 บาท น่าจะปรับลดอยู่ที่ประมาณ กก.ละ 130 บาท หรือลดลงประมาณ 20 บาท แต่ยังต้องระวังเรื่องของปริมาณผลผลิตที่สัมพันธ์กับสภาพอากาศ ภัยแล้ง อากาศร้อน

ทำให้ผลผลิตทุเรียนหลั่งไหลออกมามากในช่วงนี้ ส่งผลให้ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ประเมินว่าเป็นช่วงพีก จะมีผลผลิตเหลือเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ เป็นไปตามคาดการณ์ของหน่วยงาน 53% หรือไม่

ด้านนายทรงธรรม ชำนาญ ประธานคณะทำงานด้านไม้ผล สภาเกษตร จ.ระยอง กล่าวว่า จ.ระยองเริ่มได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง อากาศร้อนจัด ต้นไม้ที่กินน้ำทำให้ผลผลิตเริ่มขาดน้ำและคุณภาพไม่ดีนัก ต้นเดือนพฤษภาคมเป็นช่วงที่ผลผลิตเริ่มออก

ปกติช่วงผลผลิตออกน้อยราคาสูงมีการแข่งขันกันซื้อเพื่อเปิดตลาด เมื่อผลผลิตเริ่มออกมากราคาจะลงเป็นปกติทุกปีตามกลไกตลาด แต่ช่วงพีกเดือนพฤษภาคมปีนี้ ราคาอาจปรับลงไม่มาก ประมาณ กก.ละ 100-120 บาท เพราะล้งมีจำนวนมาก ความต้องการสูง

วิเคราะห์จุดแข็งทุเรียนเวียดนาม

ด้าน นายสิระวิชญ์ จิระวัฒนเมธากุล ผู้รับซื้อทุเรียนหน้าสวนส่งโรงคัดบรรจุส่งออก จ.จันทบุรี เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปกติช่วงนี้ทุเรียนขายดี แต่ปีนี้เวียดนามมีทุเรียนพันธุ์หมอนทองออกมาชนกับไทย คุณภาพดี สีเข้มข้น รสชาติอร่อย ไม่มีปัญหาเรื่องภัยแล้ง

แต่ปริมาณยังน้อย 30% ส่วนใหญ่เป็นรีเสา (R6) หรือก้านยาวเวียดนาม และราคาถูกกว่าทุเรียนไทย ทำให้จีนเลือกนำเข้าทุเรียนเวียดนามมากกว่า เพราะทำกำไรระยะสั้นได้มากกว่าทุเรียนไทย ทุเรียนไทยต้องตั้งรับด้วยคุณภาพ เพราะไทยเสียเปรียบต้นทุนแพงกว่าและการขนส่งที่ล่าช้า ราคาจะปรับลงมาตามคุณภาพ

ในขณะที่ปัจจุบัน จำนวนล้งหน้าใหม่ที่ไม่มีความชำนาญ ส่งของที่ไม่มีคุณภาพเข้าไปในตลาดจีน ถ้าคุณภาพต่ำการระบายของยาก แต่หากคุณภาพดี ถ้าขายดี ขายได้เร็ว ราคาจะถูกหรือแพงจะไม่มีผลกับพ่อค้า จะเป็นปัญหาการซื้อราคาต้นทางเพื่อขายปลายทาง เชื่อว่าผู้บริโภคยังติดใจทุเรียนไทยอยู่ โดยเฉพาะทุเรียนภาคตะวันออก

ทุเรียนภาคตะวันออกมีปัญหาเรื่องน้ำ ทำให้มีการตัดหนีน้ำแล้ง ตลาดขายได้เพียง 40-50% ผู้บริโภคไม่กล้าซื้อ ตลาดจีนผู้บริโภคจะเลือกของถูกและดี สินค้าที่มีคุณภาพ ดังนั้น พ่อค้าจีนบริษัทใหญ่ ๆ จึงต้องเช็กทุเรียน เช็กปริมาณน้ำตาลในทุเรียน ก่อนขายทุกตู้เพื่อทำตลาดพรีเมี่ยม และป้องกันการเคลมสินค้าเสียหายภายหลัง

เชื่อว่าปัญหาภัยแล้งจะทำลายคุณภาพทุเรียนไทย และยิ่งทำให้มีต้นทุนสูง ขายยาก เมื่อเทียบกับคู่แข่งขันกับทุเรียนเวียดนามที่เนื้อดี ทรงสวย ราคาถูกกว่า” นายสิระวิชญ์กล่าวและว่า ตอนนี้ล้งเตรียมจะไปซื้อทุเรียนหมอนทองเวียดนามที่จะออกช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม 2567 เพราะจะทำกำไรได้สูง เทียบกับราคาทุเรียนไทยถูกกว่าประมาณ 40-50 บาท/กิโลกรัม

15 วันห่วงทุเรียนยืนต้นตาย

นายชลธี นุ่มหนู นายกสมาพันธุ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงที่เกิดภาวะภัยแล้งก่อนหน้านี้ บางพื้นที่ใน จ.จันทบุรี และตราด น้ำไม่พอที่จะให้ต้นทุเรียนมาเป็นเดือน ทำให้บางสวนทุเรียนต้นเล็ก ๆ อายุ 1-2 ปี ยืนต้นตายไปบ้างแล้ว ต้องซื้อน้ำรดทุเรียนกันขนาด 15,000 ลิตร ตั้งแต่เที่ยวละ 2,000-3,000 บาท มาถึงตอนนี้ฝนยังไม่ตก หากน้ำไม่พอภายใน 15 วันนี้ ทุเรียนที่ให้ผลผลิตแก่ สุกเร็ว และสวนที่ตัดได้ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 เหลือเวลาอีกเพียง 10 วัน ต้องเร่งตัดให้ทัน จากนั้นเมื่อได้น้ำแล้วต้องดูแลเยียวยาดูแลตัดแต่งกิ่งบำรุงต้นต่อไป