
เทรดวอร์รอบใหม่ หลัง “ไบเดน” ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน 100% หวังเอาใจฐานเสียงก่อนเลือกตั้ง ส่งผลสินค้าจีนทะลักเข้าไทยทั้ง “เหล็ก-แบตเตอรี่-แผงโซลาร์” ดันขาดดุลการค้าปี 2567 กับจีนพุ่ง 1.5 ล้านล้านบาท หวั่นซวยซ้ำหากมีสินค้าจีนตั้งโรงงานในไทยเพื่อเลี่ยงภาษีส่งออกไปสหรัฐ หอการค้าไทยในจีนจับตา “จีนโต้คืนมะกัน” กลุ่มยานยนต์เชื่อจีนไม่ใช้ไทยเป็นฐานผลิตรถ EV เข้าสหรัฐเพราะไม่คุ้ม
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 สหรัฐประกาศมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนหลายประเภทในอัตราระหว่าง 25-100% โดยการประกาศขึ้นภาษีครั้งนี้เป็นการดำเนินการภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐ มาตรา 301 ซึ่งเป็นมาตราที่ให้อำนาจในการกำหนดมาตรการตอบโต้ประเทศที่ละเมิดสิทธิและผลประโยชน์สหรัฐ รวมถึงมีการดำเนินการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับสหรัฐด้วย
สำหรับรายการสินค้าจีนที่สหรัฐประกาศจะขึ้นภาษี ได้แก่ เหล็กและอะลูมิเนียม จากอัตราภาษี 0-7.5% เพิ่มเป็น 25%, รถยนต์ไฟฟ้า (EV) จาก 25% เพิ่มเป็น 100%, แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับ EV จาก 7.5% เป็น 25% โดยให้มีผลบังคับใช้ในปีนี้, แร่ธาตุสำคัญหลายชนิด (ไม่ระบุชื่อเจาะจง) จาก 0% เพิ่มเป็น 25% ให้มีผลให้ปีนี้, กราไฟต์ธรรมชาติและแม่เหล็กถาวร จาก 0% เพิ่มเป็น 25% ให้มีผลในปี 2569, เซมิคอนดักเตอร์หรือชิป จาก 25% เพิ่มเป็น 50% มีผลในปี 2568
เครนยกตู้สินค้าหน้าท่าเรือจาก 0% เพิ่มเป็น 25% ให้มีผลในปีนี้, เข็มฉีดยา (Syringe) และเข็มเย็บแผล (Needle) จาก 0% เพิ่มเป็น 50% มีผลในปีนี้, อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) บางประเภท รวมทั้งเครื่องช่วยหายใจและหน้ากากอนามัยบางประเภทจาก 0-7.5% เพิ่มเป็น 25% มีผลในปีนี้ และถุงมือยางทางการแพทย์และถุงมือผ่าตัดจาก 7.5% เพิ่มเป็น 25% ให้มีผลบังคับใช้ในปี 2569
มีการคาดการณ์ว่า การที่สหรัฐประกาศตอบโต้ทางการค้าด้วยการขึ้นภาษีกับสินค้าที่นำเข้าจากจีน จะส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบต่อประเทศไทย
เนื่องจากทั้งจีนและสหรัฐจัดเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย โดยเฉพาะจีนมีมูลค่าการค้ากับไทยปี 2566 ถึง 3.64 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น ไทยนำเข้าสินค้าจากจีน 2.47 ล้านล้านบาท ส่งออก 1.17 ล้านล้านบาท โดยไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าจีน 1.3 ล้านล้านบาท ถือว่า “สูงสุดเป็นประวัติการณ์”
ไทยขาดดุลการค้าจีนพุ่งพรวด
นายอัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่าประเทศ ในฐานะที่ปรึกษา บริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (IRC) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากสหรัฐจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2567 จึงต้องการแก้ปัญหาเรื่องที่สหรัฐประสบปัญหาขาดดุลการค้าให้กับจีนถึง 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี จากมูลค่าการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนที่ 600,000 ล้านเหรียญ ซึ่งเรียกว่าขนาดใหญ่กว่าการค้าระหว่างจีน-รัสเซียถึง 3 เท่า ทำให้ ประธานาธิบดีไบเดน ต้องเร่งประกาศมาตรการก่อนที่จะมีการจัดดีเบตในเดือนมิถุนายนนี้
“ผลกระทบต่อไทยจะมองได้ 2 เรื่อง คือ ไทยมีความเสี่ยงที่จะขาดดุลการค้ากับจีนมากขึ้นเป็น 1.5-1.6 ล้านล้านบาท จากปีก่อนที่ขาดดุลจีนอยู่ที่ 1.3 ล้านล้านบาท เพราะสินค้าจีนที่ถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจะไม่สามารถส่งออกไปสหรัฐได้ ดังนั้นจะต้องหาทางระบายมายังตลาดอาเซียนและไทย ซึ่งในจำนวนนี้มี 3 ตัวหลัก คือ 1) เหล็กที่ต้องมาแน่นอน เพราะตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจีนยังชะลอตัว เมื่อสหรัฐประกาศขึ้นภาษีทำให้เหล็กจีนผลิตล้นและคงเหลือสต๊อกมากขึ้น จาก 100 ล้านเป็น 300 ล้านตันต่อปี
2) สินค้าแบตเตอรี่รถ EV มาแน่นอน เพราะไทยมียอดการซื้อรถ EV มากขึ้น และในประเทศไทยยังไม่โรงงานผลิตรถ EV และ 3) แผงโซลาร์เซลล์ที่ผลิตในจีนจะมีราคาถูกจะถูกส่งมาที่ไทยมากขึ้น จากความต้องการแผงโซลาร์ที่เพิ่มสูงขึ้นจากผลพวงจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในไทย” นายอัทธ์กล่าว
นอกจากนี้ สิ่งที่ประเทศไทยต้องตั้งรับนอกจากการขาดดุลการค้าแล้วก็จะต้องระวังการย้ายฐานการผลิตจากจีนเข้ามาในไทย เพื่อเลี่ยงภาษีส่งออกเข้าไปยังตลาดสหรัฐอีกทีหนึ่ง โดยมีตัวอย่างจากการถูกเก็บภาษีตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anticircumvention : AC) อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับสินค้าแผงโซลาร์เซลล์ ที่เคยถูกเก็บภาษี AC ไปก่อนหน้านี้
จับตาจีนตอบโต้สหรัฐ
ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความเสียหายจากการใช้มาตรการทางภาษีของสหรัฐที่มีต่อสินค้าจีน จะยังไม่จบที่ 18,000 ล้านเหรียญ เพราะเชื่อมั่นว่า “จีนจะตอบโต้สหรัฐแน่นอน” ในระดับที่มีความรุนแรงมากกว่าหรือเท่ากัน คือ 18,000 ล้านเหรียญ คิดเป็นความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับการค้าเท่าตัว หรือ 36,000 ล้านเหรียญ ยอดการส่งออกจะลดลง 2-3%
ดังนั้น สัญญาณที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต อาจจะทําให้การค้าโลกชะลอตัวลง หากมาตรการตอบโต้ระหว่างกันส่งผลต่อต้นทุนและราคาสินค้าต้นน้ำแพงขึ้น แน่นอนว่าภาพรวมเศรษฐกิจ จีนขยายตัวไม่ถึงเป้า 5% กำลังซื้อของตลาดต่าง ๆ รวมถึงตลาดส่งออกของไทยในช่วง 9 เดือนที่เหลืออยู่ของปีนี้ ยังต้องเผชิญกับความท้าทายอยู่
จีนหันถล่มสินค้าเข้าอาเซียน
ดร.ไพจิตรกล่าวต่อไปว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อไทย คือ 1) การค้าระหว่างประเทศของไทยจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการการเพิ่มภาษี “อย่างจํากัด” เท่านั้น เพราะว่าใน 7 กลุ่มสินค้านั้น มีหมวดที่ไทยสามารถผลิตและส่งออกเพียงบางรายการ อย่างเช่น สินค้าเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ หรือถุงมือยาง จะได้อานิสงส์ทำให้แข่งขันส่งออกดีขึ้นเมื่อเทียบกับสินค้าจีน แต่สินค้ากลุ่มอื่น ๆไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ EV, แผงโซลาร์เซลล์ ไทยไม่ได้มีความสามารถในการผลิต
2) ในแง่การดึงดูดการลงทุนที่ย้ายเข้ามา “ยังมีตัวแปรหลายส่วน” แม้ว่าขณะนี้ฐานการผลิตในเมืองจีนจะถูกกดดันจากสหรัฐให้เคลื่อนย้ายหรือกระจายฐานการผลิตไปอยู่ในต่างประเทศ แต่การที่ไทยจะได้รับประโยชน์มากน้อยหรือเป็นโอกาสเพียงใด ขึ้นอยู่กับ “ความพร้อมของไทยเอง” เช่น ไทยมีโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอํานวยความสะดวกรองรับอุตสาหกรรมหรือไม่ โดยเฉพาะสินค้าไฮเทค อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ EV ซึ่งรถยนต์ EV ในขณะนี้ไทยยังเป็นฐานการผลิตเพื่อตลาดในประเทศส่วนใหญ่
แม้ว่าบางค่าย เช่น MG ประกาศขยายการลงทุนผลิตเพื่อการส่งออก ไทยเป็นฐานผลิตพวงมาลัยขวา ซึ่งก็ไม่ใช่รถที่จะผลิตเพื่อตลาดสหรัฐ และอีกด้านหนึ่งหากจะผลิตรถ EV ส่งออกไปสหรัฐจริง นักลงทุนสามารถย้ายฐานผลิตไปยังประเทศในแถบละตินอเมริกา เช่น เม็กซิโก บราซิล ซึ่งเป็นประเทศที่มีความตกลงการค้ากับสหรัฐ และได้ยังเปรียบต้นทุนโลจิสติกส์ที่ใกล้กว่ากันด้วย
“อนาคตต่อไปจะไม่ใช่เฉพาะสหรัฐเท่านั้นที่ใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าแบบนี้ แต่จะเป็น กลุ่มสหภาพยุโรป ที่อาจจะกําหนดมาตรการกีดกันในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน โอกาสเหล่านี้อาจเปิดกว้างสําหรับไทย แต่ขณะเดียวกันไทยก็ต้องแย่งชิงกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน เพื่อที่จะดึงการลงทุนเช่นกัน ตอนนี้ไทยยังเผชิญกับปัญหาในเรื่องขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ ทั้งในมิติปริมาณและคุณภาพ ธุรกิจจีนที่จะขยายการลงทุนเข้ามา แต่ต้องประสบความล่าช้าเพราะหาบุคลากรไม่ได้
สิ่งที่ไทยต้องทำคือ จะปรับโครงสร้างฐานการผลิตอย่างไรและต้องเร่งแก้ปัญหาอุปสรรค ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องคิดและเดินหน้าทําให้เกิดเป็นรูปธรรม ไม่อย่างนั้นเราก็ไม่สามารถดึงการลงทุนได้” ดร.ไพจิตรกล่าว
3) โอกาสที่สินค้าต้นทุนถูกจากจีนที่ถูกเรียกเก็บภาษีสูงจากสหรัฐ จะหนีเข้ามา “ถล่ม” ตลาดอาเซียนและไทย “ทำให้ขาดดุลการค้ามากขึ้น” นี่เป็นความท้าทายที่อาจจะเกิดขึ้น แน่นอนสินค้ารถยนต์พวงมาลัยซ้าย-ขวา, เซมิคอนดักเตอร์, แผงโซลาร์เซลล์ มันอาจจะหาแหล่งที่ไปที่เพิ่มมากขึ้น หรือแม้กระทั่งสินค้าเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ของไทยที่คิดว่าจะได้ประโยชน์จากการส่งออกไปยังตลาดอเมริกา แต่ไม่แน่อาจจะกลายเป็นสินค้าเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ของจีนไหลเข้ามาในตลาดอาเซียนแทน
ดังนั้นจึงต้องระมัดระวัง “ผลที่จะเกิดขึ้นจะเห็นในปีนี้เลย ซึ่งมันจะส่งผลกระทบในทันทีกับสินค้าเหล่านั้น ด้านการลงทุนจีนได้รับแรงกดดันจากสหรัฐมา 2-3 ปีแล้ว มันก็ดูเหมือนจะรุนแรงมากขึ้น เราเห็นได้จากซัพพลายเออร์ในจีนเข้ามาขยายและสํารวจตลาดในไทยค่อนข้างมาก”
จับตาภาษี AC ซ้ำรอยแผงโซลาร์
ขณะที่ นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวถึงผลจากการใช้มาตรการภาษีของสหรัฐต่อสินค้าจีน “จะมองได้ 2 มุม” ในแง่บวกจะเป็นประโยชน์และสร้างโอกาสต่อการค้าและการลงทุน เอกชนที่เคยลงทุนในประเทศจีน มีโอกาสการขยายการลงทุนมาในไทย เพราะมองว่าเป็นแหล่งลงทุนที่ดี รัฐบาลนายกฯเศรษฐามีนโยบายที่เปิดกว้างรองรับการขยายการลงทุน ทั้งการออกมาตรการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่ออำนวยความสะดวกต่อนักลงทุน
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญก็คือจะต้องมีการวางมาตรการส่งเสริมให้นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในไทย ใช้วัตถุดิบที่ผลิตในประเทศไทย (Local Centent) ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งประเด็นนี้จะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยจะสามารถขยายซัพพลายเชนร่วมกับอุตสาหกรรมระดับโลก
ในอีกแง่หนึ่งเมื่อสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในไทยสัดส่วนมากกว่าวัตถุดิบนำเข้าก็จะถือว่าเป็น “สินค้าไทย” ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดปัญหาเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในกรณีที่จีนย้ายฐานมาผลิต “แผงโซลาร์เซลล์” ในไทยเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐ จนถูกสหรัฐประกาศใช้มาตรการว่า สินค้านั้นหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การใช้มาตรการทุ่มตลาด (Anticircumvention : AC) จากจีนมาใช้ไทยเป็นฐานส่งออกแทน และกำลังอยู่ระหว่างการขยายผลในการฟ้องร้องว่า รัฐบาลไทยใช้มาตรการอุดหนุน (CVD)
ทั้งนี้ หากไทยสามารถวางแนวทางเพิ่มสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศเพิ่มขึ้นได้ ไม่เพียงจะลดปัญหาการถูกฟ้อง CVD/AC ก็จะทำให้เกิดประโยชน์ในด้านการส่งออกเช่นเดียวกับ ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ที่ไทยสามารถส่งรถญี่ปุ่นที่เข้ามาผลิตและใช้วัตถุดิบในประเทศไทยส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลีย โดยได้รับสิทธิการลดภาษีนำเข้าตามกรอบ TAFTA ได้
ถุงมือยางรับอานิสงส์แทนจีน
นางสาวจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT กล่าวว่า การที่สหรัฐเพิ่มภาษีนำเข้าถุงมือยางทางการแพทย์จากจีนที่จะเพิ่มจาก 7.5% เป็น 25% ในปี 2026 นั้น ไทยจะมีโอกาส “ชิงส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น” ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อ STGT เนื่องจากตอนนี้สัดส่วนตลาดสหรัฐของ STGT อยู่ที่ 20-25% ถ้าภาษีนี้มีผลบังคับใช้ทันทีก็จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และมีโอกาสเพิ่มสัดส่วน Market Share ที่ตลาดสหรัฐได้อีก
หวั่น EV จีนทะลักกระทบไทย
แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงสิ่งที่น่ากังวลก็คือ สินค้าจีนที่ถูกสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าจะทะลักเข้าไปยังภูมิภาคต่าง ๆ “ซึ่งประเทศไทยคงหลีกเลี่ยงไม่พ้น” โดยเฉพาะรถยนต์ทั้งรถใช้เครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า กระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์บ้านเราแน่ ๆ เพราะแค่นโยบายส่งเสริมรถ EV ก็สร้างปรากฏการณ์และผลกระทบหลายอย่างโดยเฉพาะสงครามราคา ที่ทำให้ตลาดปั่นป่วนอยู่ทุกวันนี้
ส่วนอนาคตมองในมุมบวก ถ้าจีนใช้โรงงานในไทยสามารถส่งออกรถยนต์ไปขายสหรัฐได้ ประเทศไทยก็น่าจะได้รับประโยชน์ ทั้งอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและการจ้างงาน แต่ถึงตอนนั้นรัฐบาลจะต้องมีมาตรการที่จะทำให้ประเทศไทยมีจุดเด่นเพียงพอที่จะทำให้จีนตัดสินใจเลือกลงทุนในไทยมากกว่าประเทศอื่น ๆ ทั้งมาเลเซีย, อินโดนีเซีย หรือเวียดนาม
ย้ำไทยฐานผลิต EV จีน พวงมาลัยขวา
นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ยืนยันว่า MG เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทยนั้น จะเป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่จะใช้เป็นฐานผลิตรถ EV และ XEV พวงมาลัยขวา เพื่อรองรับการส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียนและประเทศที่ใช้พวงมาลัยขวาเป็นหลักเท่านั้น ส่วนการจะผลิตรถเพื่อส่งออกไปยังตลาดสหรัฐนั้น “ไม่น่าจะคุ้มค่า” โดยเฉพาะระยะทางในการขนส่ง เท่าที่ทราบรถยนต์ที่ผลิตจากประเทศไทยส่งเข้าไปสหรัฐมีจำนวนน้อยมาก ๆ หรือแทบจะไม่มีเลย ดังนั้นทั้งผลกระทบจากมาตรการตอบโต้ทางการค้ากับจีนในกรณีรถยนต์ก็น่าจะไม่เกิดขึ้น
เช่นเดียวกับแหล่งข่าวจาก ค่ายเกรท วอลล์ มอเตอร์ ประเทศไทย ก็ยืนยันว่า บริษัทไม่ได้เข้าไปดำเนินธุรกิจในสหรัฐ อีกทั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในไทยก็เป็นการลงทุนเพื่อรองรับกับความต้องการภายในประเทศไทยและตลาดอาเซียนเป็นหลักมากกว่า สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กล่าวยืนยันว่า กรณีขึ้นภาษีนำเข้ารถ EV จากจีน ไม่น่าจะส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยเฉพาะค่ายรถยนต์จีนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพราะส่วนใหญ่เป็นการเข้ามาลงทุนเพื่อรองรับความต้องการในประเทศกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า
โดยเฉพาะประเทศที่ใช้พวงมาลัยขวาเป็นหลัก ส่วนการที่ค่ายจีนอาจจะมีการใช้ไทยเป็นฐานผลิตเพื่อส่งรถยนต์ไปสหรัฐนั้น ยิ่งมีความเป็นไปได้น้อยมาก เพราะลำพังรถยนต์ที่ผลิตจากไทยส่งเข้าไปสหรัฐเองก็มีจำนวนน้อย และหากค่ายจีนจะใช้ช่องว่างตรงนี้ เชื่อว่าจีนน่าจะเข้าไปลงทุนในประเทศอื่น ๆ แถบอเมริกากลาง หรืออเมริกาใต้แทน “น่าจะมีความคุ้มค่ามากกว่า” จากปัจจุบันมีค่ายรถที่เริ่มผลิตรถ EV ในไทยช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา มีปริมาณการผลิตรวม 2,466 คัน นำโดยค่าย GWM, MG และ Honda ส่วนค่าย NETA จะผลิตในต้นเดือนมิถุนายนนี้
ไทยส่งรถไปสหรัฐแค่ 1%
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จะต้องรอดูในส่วนของรายละเอียดที่ชัดเจนอีกครั้งว่า จะมีการปรับขึ้นภาษีในส่วนใดบ้าง และประเทศไทยจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปริมาณการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกไปยังทวีปอเมริกา ซึ่งเป็นรถยนต์นั่งมูลค่า 81.07 ล้านเหรียญ หรือลดลงจากปี 2565 ราว ๆ 28% มีสัดส่วนตลาดแค่ 0.66% ของมูลค่าการส่งออกรถยนต์นั่ง และในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-มี.ค. 2567) ส่งออกไป 19.93 ล้านเหรียญ หรือเพิ่มขึ้น 97% สัดส่วน 1.89% ของยอดส่งออกรถยนต์นั่ง “ไทยมีการส่งรถยนต์ไปอเมริกาเหนือ แค่รถนั่งและรถปิกอัพ 3 เดือนปีนี้มีแค่ 16,098 คัน ส่วนส่งตรงเข้าไปยังสหรัฐอเมริกานั้นแทบไม่มีเลย”
ส่วนกรณีถ้าจีนจะย้ายฐานผลิตเพื่อส่งออกรถยนต์ไปยังสหรัฐด้วยการเข้ามาตั้งฐานผลิตในไทยนั้น “ก็ต้องรอดู” แต่ส่วนใหญ่ค่ายรถยนต์ที่เข้ามาวันนี้ไม่น่าจะใช้ประเทศไทยเป็นฐานผลิตไปสหรัฐ และประเด็นสำคัญ รถ EV ที่เข้าไปทำตลาดในสหรัฐส่วนใหญ่จะเป็นรถที่มาจากยุโรป