ครึ่งปีหลัง EV จีนเดินหน้าลงทุน แบต-โรงงานผลิตแตะแสนล้าน

EV จีนชักแถวขึ้นไลน์ผลิตในไทย 3 โรงงาน เกรทวอลล์-เอ็มจี-เนต้า นำร่องส่งมอบลูกค้าแล้วในงานมอเตอร์โชว์ ยักษ์ BYD-CHANGAN-GAC ดีเดย์ไตรมาสที่ 2 ขณะที่ OMODA เล็งประเดิมจ้างผลิตก่อนผุดโรงงานประกอบของตัวเอง 2 ปีข้างหน้า ชี้เม็ดเงินลงทุนรวมโรงงานแบตเตอรี่แตะแสนล้านบาท ดันไทยฮับ EV ภูมิภาคอาเซียน

งานมอเตอร์โชว์ที่เพิ่งจบไปหมาด ๆ หลายคนคงได้เห็นตัวเป็น ๆ และจับจองเป็นเจ้าของ รถ EV ที่ผลิตในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ORA GOOD CAT จากโรงงานเกรท วอลล์ จ.ระยอง MG4 รุ่น D จากโรงงาน SAC จ.ระยอง และ NETA VII จากโรงงานบางชันเยนเนอเรลเอเซมบลี กทม. ของ PNA GROUP ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไข ผลิตชดเชยการนำเข้าที่แต่ละค่ายทำข้อตกลงกับทาง BOI ไว้ตามนโยบายส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV 3.0

ผู้สื่อข่าวรายงานในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 จะมีค่ายรถยนต์อีกหลายแบรนด์ เข้าคิวขึ้นไลน์ผลิตในประเทศอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนหลายหมื่นล้านบาท

ฉางอานพร้อมคลอด DEEPAL

นายเซิน ซิงหัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย และประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์สัญชาติจีน ฉางอาน (CHANGAN) เปิดเผยว่า ปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 บริษัทได้เริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตในประเทศไทย ทุกอย่างเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ถึงตอนนี้ลุล่วงไปแล้ว 25% โดยจะมีโรงประกอบตัวถัง โรงพ่นสี

คาดว่าในอีก 2 เดือนข้างหน้าน่าจะเริ่มติดตั้งเครื่องจักรได้ ทำให้คาดการณ์ว่า งานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2024 ปลายปีนี้จะมีรถ EV DEEPAL ที่ผลิตจากโรงงานประเทศไทยไปอวดโฉม และพร้อม
แกรนด์โอเพนนิ่งโรงงานอย่างเป็นทางการได้ราวต้นปี 2568 อย่างแน่นอน

“ตอนนี้โรงงานที่ จ.ระยอง ในนิคมอุตสาหกรรม WHA เริ่มรับสมัครพนักงานแล้ว มีความต้องการราว ๆ 400 คน ส่วนพนักงานชาวไทยใน กทม. มีอยู่ 100 คน และหลังจากเริ่มผลิตฉางอานจะต้องรับพนักงานเพิ่มอีก 1,000 คน ตอนนี้มีการส่งพนักงานไปเทรนที่ประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง”

BYD จัดเต็ม Dolphin-Seal

ด้านนายประธานวงศ์ พรประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายและให้บริการหลังการขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้า บีวายดี (BYD) อย่างเป็นทางการในประเทศไทย ภายใต้กลุ่มธุรกิจเรเว่ เปิดเผยว่า หลังจากบริษัทได้เปิดตัว พร้อมรับจองรถเอสยูวีขนาดใหญ่ BYD SEAL U DM-i ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV) ในงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา และพร้อมส่งมอบรุ่นนี้ได้ราว ๆ ปลายปีนี้ ยังได้เตรียมผลิต BYD SEAL U DM-i จากโรงงานในประเทศไทยด้วย

แหล่งข่าวจากบริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด กล่าวเสริมกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับการผลิต BYD SEAL U DM-i ในไทยจะทำให้ต้นทุนถูกลงมาก เนื่องจากรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด ต้องเสียภาษีนำเข้าสูงถึง 50% และภาษีสรรพสามิตอีก 8% ทำให้ไม่สามารถทำแข่งขันได้ รถรุ่นนี้จะเป็นโมเดลที่ 2 ต่อจากแผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BYD Dolphin ซึ่งไม่เกินไตรมาสที่ 3 ก็จะมีโปรดักต์คลอดออกจากไลน์ผลิต

“การตัดสินใจขึ้นไลน์ผลิตที่โรงงานประเทศไทย เนื่องจากศักยภาพและความยืดหยุ่นของโรงงาน BYD และระบบซัพพลายเชนทำให้ไม่มีปัญหาในเรื่องของจำนวนผลิตขั้นต่ำ ตรงนี้เป็นจุดแข็งที่แตกต่างจากการผลิตของค่ายญี่ปุ่น เพียงแต่เราจะต้องใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศให้ได้อย่างน้อย 40% เงื่อนไขที่กำหนด”

OMODA เล็งจ้างผลิตปลายปี

ขณะที่แหล่งข่าวจาก เชอรี่ อินเตอร์เนชั่นแนล (Chery International) ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากนั้นจะทยอยแต่งตั้งดีลเลอร์จำนวน 30 ราย และกำหนดเปิดตัวรถ EV รุ่นโอโมด้า 5 (OMODA 5) ภายใต้แบรนด์ O&J (OMODA&JACCO) ราว ๆ เดือนกรกฎาคม ช่วงประมาณไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 จะเริ่มผลิตในประเทศ

โดยจะใช้วิธีจ้างประกอบก่อน หลังจากนั้นอีกราว ๆ 2 ปีจะลงทุนซื้อที่สร้างโรงงานเอง โดยมีเป้าหมายใช้ไทยเป็นฐานการผลิตใหญ่ทั้งรถ EV และกลุ่มรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด กำลังการผลิตเฟสแรกปี 2567-2568 ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ กำลังการผลิตต่อปี 18,000 คัน

กวาดเม็ดเงินเกือบแสนล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมสำหรับมูลค่าการลงทุนทั้งหมดที่จะผลิตจากโรงงานในประเทศไทย รวมทั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่น่าจะใกล้ ๆ แสนล้านบาท เริ่มจากเกรท วอลล์ฯ 2.2 หมื่นล้านบาท มีกำลังผลิตต่อปีราว ๆ 1 แสนคัน (รวมส่งออก) ตามมาด้วย MG ใช้เม็ดเงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท มีกำลังผลิตต่อปี 1 แสนคัน (รวมส่งออก)

ขณะที่แบรนด์ NETA จ้างบางชันเยนเนอเรลเอเซมบลี ในเครือ PNA ประกอบ เม็ดเงินลงทุน 3,500 ล้านบาท มีกำลังผลิตต่อปี 2 หมื่นคัน ส่วนแบรนด์ BYD ใช้เงินลงทุน 2 หมื่นล้านบาท กำลังการผลิตรวมส่งออก 1.5 แสนคัน, GAC เฟสแรก ใช้เม็ดเงินลงทุน 6 พันล้านบาท กำลังการผลิต 2 หมื่นคัน, ฉางอาน เม็ดเงินลงทุน 8.8 พันล้านบาท กำลังการผลิตเฟสแรก 1 แสนคัน, วูหลิง 200 ล้านบาท กำลังการผลิต 6 พันคันต่อปี เพื่อยกรไทยเป็นฮับ EV อย่างแท้จริง

ชูจุดแข็งโรงงานแบตเตอรี่

รายงานข่าวจากบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ระบุว่า ประกาศลงทุนตั้งโรงงานประกอบแบตเตอรี่ EV ในประเทศไทย โดยได้จับมือกับพาร์ตเนอร์จีน SVOLT Energy บริษัทผู้นำด้านการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน จัดตั้งบริษัท สโฟวล์ท เอเนอจี้ เทคโนโลยี (ไทยแลนด์) จำกัด เพื่อทำโรงงานผลิตแบตเตอรี่ (Module PACK Factory) ในประเทศไทย รองรับการผลิตรถ EV เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณในการลงทุนไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ถือเป็นความจำเป็นอย่างมากที่โรงงานผลิตรถ EV จะต้องมีโรงงานแบตเตรี่เป็นของตัวเอง เพื่อความสะดวกและลดความเสี่ยงด้านการผลิต สามารถป้อนชิ้นส่วนเข้าสายการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ประเทศไทยยังมีข้อจำกัดหลายด้าน

ดังนั้นการผลิตแบตเตอรี่ส่วนใหญ่ยังเป็นแค่โรงงานประกอบ ใช้วิธีนำเซลล์จากประเทศจีน หรืออินโดนีเซีย แล้วนำมาบรรจุเป็นแพ็ก ซึ่งแนวโน้มหลังจากที่ประเทศไทยมีโรงงานประกอบแบตเตอรี่เพิ่มมากขึ้น ก็จะทำให้ราคาแบตเตอรี่รถ EV ทั้งโออีเอ็ม และอาฟเตอร์มาร์เก็ตถูกลงด้วย

เช่นเดียวกับ เอ็มจี ก็ได้เตรียมพัฒนาพื้นที่ภายในโรงงานกว่า 75 ไร่ เป็นพื้นที่พัฒนาชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ MG ทั้งไฮบริด, ปลั๊ก-อินไฮบริด และ EV และยังร่วมกับพาร์ตเนอร์โรงงานผลิตแบตเตอรี่ เพื่อรองรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยงบฯลงทุนเฟสแรกราว 500 ล้านบาท พัฒนาให้เป็นพื้นที่ NEW ENERGY INDUSTRIAL PARK รองรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ดำเนินการอยู่ขณะนี้

ขณะที่ค่าย BYD ก็เพิ่งประกาศลงทุนอีกหนึ่งโครงการ เป็นการลงทุนผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า มูลค่าการลงทุน 3,893 ล้านบาท