“ทางรัฐ” ซูเปอร์แอปแห่งชาติ รองรับแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท

วิธีสมัครใช้แอป “ทางรัฐ” แหล่งรวมบริการภาครัฐ และไอเดียการพัฒนาเป็นซูเปอร์แอปของรัฐบาล โดยกระทรวงดีอี มีโอกาสรองรับดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท 

หลายวันมานี้ มีการพูดถึงแอปพลิเคชั่น “ทางรัฐ” กันมากขึ้น เมื่อคนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายเติมเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ออกมาพูดถึงการพัฒนาแอปที่จะใช้เพื่อสมัครยืนยันสิทธิ์ และใช้สำหรับการใช้จ่าย

ในเชิงเทคนิคแล้ว ไม่ว่าดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท จะมีกลไกการพิสูจน์ธุรกรรมเพื่อรองรับการจับจ่ายใช้สอยจะมีเบื้องหลังเป็นบล็อกเชน หรือศูนย์ข้อมูลทั่วไปหรือไม่นั้นยังต้องจับตาดูต่อไป

แต่ที่แน่ ๆ คือ ฝั่งของ “หน้าต่าง” หรือ “หน้าตา” ในการใช้บริการ หากทำระบบหลังบ้านเสร็จแล้วก็สามารถนำไป “ขี่” อยู่บนแอปที่มีคนใช้งานจำนวนมากได้ทั้งสิ้น เช่นเดียวกับ LINE ที่มีแอปย่อย ๆ นับสิบแอป “ขี่” อยู่บนนั้น จึงเรียกแอปที่รองรับแอปย่อย ๆ ว่า “ซูเปอร์แอป”

ซูเปอร์แอปแห่งชาติ-OneID

จะว่าไปแล้ว “ทางรัฐ” ก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกในการเป็นแพลตฟอร์มสำหรับให้แอปย่อยที่ “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกล่าวในงานสัมมนา “Thailand 2024 : The Great Challenges เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส” จัดโดย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา

“ประเสริฐ” กล่าวว่าในปี 2567 เมื่อเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลภาครัฐเป็นคลาวด์แบงก์ได้แล้ว อย่างแรกที่ต้องทำให้ได้ คือ OneID คือ การยืนยันตัวตนประชาชน ผ่าน “บัตรประชาชนดิจิทัล” แพลตฟอร์มเดียว (DigitalID)

ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่ทำแอปพลิเคชั่นของตนเองเชื่อม “ดิจิทัลไอดี” ได้แก่

  • กระทรวงมหาดไทย มีแอป “Thaid” มีไอดีคนไทย ราว 2 ล้านคน
  • สำนักพัฒนารัฐบาลดิจิทัล มีแอป “ทางรัฐ” มีไอดีคนไทย ราว 3 แสนคน
  • กระทรวงสาธารณสุข มีแอป “หมอพร้อม” มีไอดีคนไทย ราว 30 ล้านคน
  • ธนาคารกรุงไทย มีแอป “เป๋าตัง” มีไอดีคนไทย ราว 30 กว่าล้าน

แต่ยังไม่มีแอปพลิเคชั่นของคนไทยที่คนไทยเข้าไปใช้มากที่สุด เหมือน SingPass ของสิงคโปร์ หรือ WeChat ของจีน ทำให้แอปที่ให้บริการหน่วยงานราชการกระจัดกระจาย บางส่วนทำขึ้นแล้วไม่ได้ใช้ เช่า เป๋าตัง พอหมดช่วงแจกเงินก็ไม่ค่อยมีคนใช้

ดังนั้นทำอย่างไรแอปภาครัฐจะมีประชาชนมาใช้บริการได้ทุกวันตลอดเวลา เป็นรัฐบาลดิจิทัลจึงต้องหาทางนำบริการมารวมเป็น “ไทยแลนด์ซูเปอร์แอป” มี All Service ภาครัฐทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ โอนเงิน ประกันสังคม เรื่องการศึกษา การสาธารณสุข การท่องเที่ยว เป็นต้น

“เราต้องฟันธงเลือกแอปที่มี National ID คนไทยต้องมีอยู่ในนั้นไม่น้อยกว่า 55 ล้านคน ทำเป็น OneID ให้ได้” รมว. ดีอี กล่าว

เมื่อกระแสของ ดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท มีการพูดถึง “ทางรัฐ” มากขึ้น “ประชาชาติธุรกิจ” จึงรวบรวมรายละเอียดและวิธีใช้งาน “ทางรัฐ” มาที่นี้

ทางรัฐ คืออะไร

คอลัมน์ Pawoot.com  ใน “ประชาชาติธุรกิจ” ได้อธิบายไว้อย่างดีว่า สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ได้พัฒนาแอป “ทางรัฐ” ขึ้นมาเพื่อรวบรวมบริการสาธารณะทั้งหมดไว้ที่เดียว โดยแอปจะมีแอปหรือลิงก์ที่เป็นบริการของภาครัฐจำนวนมาก และเข้าไปเชื่อมโยงบริการได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลส่วนบุคคล สาธารณูปโภค การศึกษา สิทธิประโยชน์/สวัสดิการ ที่ดินที่อยู่อาศัย งานยุติธรรม/กฎหมาย เครดิตบูโร ข้อมูลภาครัฐ ยานพาหนะ ฯลฯ

ทุกอย่างสามารถเข้าไปดูในแอป “ทางรัฐ” ได้เลยแค่ยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชนของเรา เมื่อยืนยันตัวตนได้สำเร็จ แต่ละแอปก็ใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชนของเราเชื่อมต่อไปทุกบริการของภาครัฐ

ทุก ๆ บริการของภาครัฐจะรู้ว่าเราเป็นใคร โดยใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชน สามารถเข้าไปดูข้อมูลของคุณเองได้เลย อยากดูข้อมูลหนังสือเดินทาง แอปก็จะเชื่อมต่อกับกรมการกงสุล

ค่าน้ำ ค่าไฟ ก็สามารถดูได้เลยว่าเราเป็นเจ้าของมิเตอร์จำนวนเท่าไหร่หรือค้างค่าไฟค่าน้ำอยู่เท่าไหร่

มีข้อมูลของประกันสังคมอย่างเงินสมทบชราภาพ เช็กยอดเงินประกันสังคม สิทธิโครงการเยียวยา สถานพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้ ฯลฯ หรืออีกตัวอย่างที่ดีมาก ๆ คือใครที่มีที่ดินจะมีการเชื่อมต่อกับกรมที่ดิน เราค้นหาโฉนดที่ดินของเราได้เลย สามารถบอกราคาประเมินของที่ดินผืนนั้น ตั้งอยู่ที่ไหน พื้นที่เท่าไหร่ ต้องติดต่อสำนักงานที่ดินเขตไหน ฯลฯ

ทั้งเบี้ยคนพิการ เบี้ยผู้สูงอายุ สถานะการรับเบี้ยพร้อมรายละเอียดต่าง ๆ หรือข้อมูลทะเบียนรถหมดอายุเมื่อไหร่ ก็ดูได้ทั้งหมด

นี่คือตัวอย่างของบริการของภาครัฐที่ปัจจุบันเริ่มพยายามปรับตัวเองเป็น digital government มากขึ้น

อนึ่ง ทางรัฐ ภายใต้การดำเนินการของ DGA มีกฎหมายที่เอื้อให้ใช้บังคับหน่วยงานราชการต้องทำการเชื่อมโยงข้อมูลกับ DGA ที่ตอนนี้ประเทศไทยมีข้อมูลภาครัฐราง 8,000 รูปแบบข้อมูล หาก DGA บังคบใช้กฎหมายเพื่อขอเชื่อมโยงข้อมูลจะทำให้มีศักยภาพที่จะกลายเป็น “ไทยแลนด์ซูเปอร์แอป” อย่างมาก

วิธีการใช้งาน ทางรัฐ

“ทางรัฐ” สามารถดาวน์โหลดได้จากร้านค้าของ Play Store และ App Store ได้เลย จากนั้นก็ต้องทำการยืนยันตัวตนด้วย ดิจิทัลไอดี ที่เรามี ซึ่งการสมัครและยืนยันตัวตนบนทางรัฐทำได้ 3 แบบ คือ

  1. แสกนบัตรประชาชนบนกล้องมือถือ
  2. สมัครด้วย ThaID
  3. สมัครด้วยช่องทางอื่น ๆ ได้แก่ สมัครที่ตู้บริการภาครัฐ, ตู้บุญเติม, ที่ทำการไปรษณีย์, 7-11, ThaID

ประชาชาติธุรกิจ แนะนำให้สมัครผ่าน ThaiD เพื่อจะได้มีดิจิทัลไอดีของทั้งสองแอปสำหรับติดต่อบริการอื่น ๆ ได้ หากทางรัฐยังไม่สามารถเชื่อมบริการอื่น ๆ เช่น บริการการเงินการลงทุน เป็นต้น

การลงทะเบียนใช้งานแอป ThaID ด้วยตนเอง สามารถทำได้ ดังนี้

  1. เปิดแอปพลิเคชั่น ThaID พร้อมทั้งอนุญาตให้ใช้อุปกรณ์ของเครื่องมือ
  2. เลือกหัวข้อ “การลงทะเบียนด้วยตนเอง” และยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บริการเพื่อลงทะเบียนสิ่งแทนเอกลักษณ์ดิจิทัล (ThaID)
  3. ถ่ายรูปด้านหน้าและด้านหลังบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมทั้งตรวจสอบข้อมูล หากถูกต้องให้กดปุ่มยืนยัน
  4. ถ่ายรูปภาพใบหน้าตนเอง (selfie) ระบบจะถ่ายภาพให้อัตโนมัติ และกดปุ่มยืนยัน
  5. หากถูกต้อง ระบบแจ้งเตือนให้ตั้งค่ารหัสผ่าน โดยทั้ง 2 ครั้งต้องเหมือนกัน
  6. เมื่อระบุครั้งที่ 2 ถูกต้อง ระบบแจ้งเตือนขอยินยอมโดยระบุรหัสผ่านอีกครั้งเพื่ออัพโหลดข้อมูลลงในแอปพลิเคชั่นมือถือของตน
  7. เมื่อลงทะเบียนเสร็จสิ้น หน้าจอจะแสดงสถานะการสมัครสำเร็จ
  8. เมื่อลงทะเบียนสำเร็จ ก็จะสามารถใช้งานบัตรประชาชนดิจิทัล และทะเบียนบ้านดิจิทัล ได้ทันที

การลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่

สำหรับการลงทะเบียนใช้งานแอป ThaID ผ่านเจ้าหน้าที่ จะต้องเดินทางไปติดต่อที่สำนักงานเขต ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักทะเบียนทุกแห่ง โดยมีขั้นตอน คือ

  1. ผู้ประสงค์ขอลงทะเบียนจะต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนใบล่าสุด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้รับลงทะเบียนตรวจสอบข้อมูลก่อนการลงทะเบียน ณ สำนักทะเบียน
  2. เปิดแอปพลิเคชั่น ThaID พร้อมทั้งอนุญาตให้ใช้อุปกรณ์ของเครื่องมือ ระบุเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักให้ถูกต้อง
  3. ยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บริการเพื่อลงทะเบียนแทนเอกลักษณ์ดิจิทัล (ThaID)
  4. สแกนคิวอาร์โค้ดในแอปพลิเคชั่น
  5. ระบบแจ้งเตือนให้ตั้งค่ารหัสผ่าน โดยทั้ง 2 ครั้งต้องเหมือนกัน
  6. เมื่อระบุครั้งที่ 2 ถูกต้อง ระบบแจ้งเตือนขอยินยอมโดยระบุรหัสผ่านอีกครั้งเพื่ออัพโหลดข้อมูลลงในแอปพลิเคชั่นมือถือของตน
  7. เมื่อลงทะเบียนเสร็จสิ้น หน้าจอจะแสดงสถานะการสมัครสำเร็จ
  8. เมื่อลงทะเบียนสำเร็จ ก็จะสามารถใช้งานบัตรประชาชนดิจิทัล และทะเบียนบ้านดิจิทัลได้ทันทีเช่นกัน