กองทุนประกัน อนุมัติจ่ายเงิน 7.29 พันล้าน มี.ค.-เม.ย. รับรองมูลหนี้เพิ่ม 560 ล้าน

กองทุนประกัน

กองทุนประกันวินาศภัย อนุมัติจ่ายเงินแล้ว 7,298 ล้าน มี.ค.-เม.ย. รับรองมูลหนี้เพิ่ม 560 ล้าน เฉพาะ เม.ย. อนุมัติเพิ่ม 6,037 กรมธรรม์

วันที่ 27 เมษายน 2567 กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) รายงานความคืบหน้าการพิจารณารับรองมูลหนี้รอการจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย ประจำเดือนเมษายน 2567 ของ 4 บริษัทประกันวินาศภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ประกอบด้วย

  1. เอเชียประกันภัย 1950 จำนวน 1,097 คำขอ (จำนวน 2,362 กรมธรรม์)
  2. เดอะ วัน ประกันภัย จำนวน 915 คำขอ (จำนวน 1,429 กรมธรรม์)
  3. ไทยประกันภัย จำนวน 932 คำขอ (จำนวน 950 กรมธรรม์)
  4. อาคเนย์ประกันภัย จำนวน 1,285 คำขอ (จำนวน 1,296 กรมธรรม์)

รวมการรับรองมูลหนี้รอการจ่ายเงินรอบเดือนเมษายน 2567 จำนวนทั้งสิ้น 4,229 คำขอ (จำนวน 6,037 กรมธรรม์)

ทั้งนี้ยอดสะสมรับรองมูลหนี้รอการจ่ายเงินทั้ง 4 บริษัท ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2567 มียอดรวมเงินการรับรองมูลหนี้ทั้งสิ้น 560.93 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2567 ประชาชาติธุรกิจได้นำเสนอข่าว แก้ถังแตก “กองทุนประกันวินาศภัย” จ่อกู้ 3,000 ล้าน จ่ายเจ้าหนี้

ADVERTISMENT

โดย “ชนะพล มหาวงษ์” ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากกรณีที่กองทุนประกันวินาศภัยต้องปรับแผนการจ่ายคืนหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยนั้น เนื่องจากตอนนี้เหลือเงินอยู่แค่ 3-4 ล้านบาทเท่านั้น

โดยรอบต่อไปต้องรอเงินสมทบจากบริษัทประกันภัยที่จะเข้ามาอีกที ในช่วงเดือน ก.ค. 2567 ซึ่งบริษัทประกันนำส่งในอัตรา 0.5% ของเบี้ยประกันที่บริษัทได้รับในรอบเดือน ม.ค.-มิ.ย. 2567 หรือคิดเป็นเงินประมาณ 600-700 ล้านบาท

ADVERTISMENT

“ตอนนี้เงินเหลือแค่ 3-4 ล้านบาท นั่นจึงเป็นที่มาของกองทุนต้องออกมาบอกกับประชาชน ขอปรับเปลี่ยนการอนุมัติชะลอจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ เพราะเวลานี้แทบไม่มีเงินจากช่องทางอื่นเข้ามาเลย”

กองทุนยันทำทุกหนทางแล้ว

นายชนะพลกล่าวว่า ทั้งนี้ต้องบอกว่า กองทุนประกันวินาศภัย เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีที่บริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย เปรียบเป็นหลักประกันให้กับประชาชน ซึ่งต้องจ่ายเงินเยียวยาให้เจ้าหนี้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท มีลักษณะคล้ายกับสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ที่คุ้มครองกรณีธนาคารพาณิชย์ล้มละลาย

“ในกรณีที่เงินกองทุนไม่เพียงพอจ่ายหนี้ ข้อกฎหมายกำหนดไว้ว่า สามารถขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล ตามมาตรา 80 (11) ตาม พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย และเนื่องจากหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้สาธารณะ กองทุนจึงได้ขอบรรจุวงเงินกู้ไว้กับ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ไว้จำนวน 3,000 ล้านบาท รวมทั้งได้ดำเนินการเสนอปรับอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุน จาก 0.25% เป็น 0.5% ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนดแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม ยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบเงินนำส่งของธนาคารพาณิชย์ที่กำหนดไว้ 1% กองทุนจึงคาดหวังว่าหากแก้เกณฑ์ใหม่ปรับขึ้นไปที่ระดับ 1% น่าจะทำให้มีเงินเข้าสู่กองทุนได้ปีละ 2,000-3,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่เงินจะเข้ามาแค่ปีละ 1,200-1,300 ล้านบาท”

ที่ผ่านมา กองทุนได้ดำเนินการขอปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพิ่มเงินสมทบเสนอต่อ คณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) ไปแล้ว ส่วนเรื่องเงินกู้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้อนุมัติให้ใส่ไว้ในแผนบริหารหนี้แล้ว

เพียงแต่ตอนนี้ไม่มีใครให้กู้ ส่วนแผนการระดมทุนโดยออกตราสารทางการเงิน อยู่ระหว่างศึกษาและหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อย่างไรก็ดี แนวทางนี้มีข้อจำกัดเรื่องรายได้ของกองทุน

ขอรัฐจัดสรรงบฯช่วยอุ้ม

นายชนะพลกล่าวอีกว่า ขณะนี้กองทุนจึงพยายามขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล โดยส่งเรื่องไปยังสำนักงบประมาณแล้ว แต่ก็ไม่มีแผนรองรับการช่วยเหลือเรื่องนี้ เพราะรัฐบาลไม่มีเงิน สะท้อนให้เห็นว่า จากที่พยายามดำเนินการจัดหาเงินมาเกือบ 2 ปี ตอนนี้แทบไม่มีอะไรเคลื่อนไหวเลย มีเพียงแค่เงินสมทบของบริษัทประกันวินาศภัยที่นำส่งเข้ามาเท่านั้น

โดยในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา กองทุนเร่งจ่ายหนี้ให้กับประชาชนได้ประมาณ 7,000-8,000 รายต่อเดือน วงเงินอนุมัติจ่าย 300-400 ล้านบาท จนกระทั่งถึงปี 2567 นี้ ได้รับเงินสมทบเข้ามาในเดือน ม.ค. กว่า 600 ล้านบาท เบื้องต้นวางแผนจะแบ่งจ่ายเฉลี่ย เดือนละ 100 ล้านบาท เพื่อรอเงินนำส่งครั้งที่ 2 เข้ามา

แต่พิจารณาแล้วอาจจะไม่เหมาะสมที่จะจ่ายลดลงจากเดิมที่มีการจ่ายกว่า 300 ล้านบาทต่อเดือน จึงตัดสินใจจ่ายในเดือน ม.ค.-ก.พ. 2567 ในจำนวนใกล้เคียงกับปี 2566

“จึงทำให้ในเดือน มี.ค. 2567 เงินกองทุนหมดหน้าตัก โดยเงินสมทบจะเข้ามาอีกทีในช่วงเดือน ก.ค. 2567 ระหว่างนี้กองทุนจะตรวจสอบรับรองมูลหนี้ให้เจ้าหนี้ และรอเงินเข้ามาแล้ว กองทุนจะอนุมัติจ่าย แต่อย่างไรก็ตาม คงจะจ่ายเงินให้ได้เฉพาะการอนุมัติของรอบเดือน มี.ค.-เม.ย. 2567 เท่านั้น เพราะเงินหมด ดังนั้นจะติดค้างไปอีก โดยตอนนี้มีหนี้ค้างจ่ายอยู่ 5 หมื่นล้านบาท กับเจ้าหนี้ทั้งหมด 6 แสนราย”

นายชนะพลกล่าวว่า ตอนนี้ขึ้นกับนโยบายของภาครัฐแล้ว ทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กระทรวงการคลัง และรัฐบาล ว่าจะจัดการหรือดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร หากไม่ทำอะไรก็ต้องใช้เวลาร่วม 80 ปี จึงจะจ่ายหนี้หมด กองทุนพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เนื่องจากเป็นเรื่องหลักประกันของผู้ใช้บริการสถาบันการเงินที่รัฐมีให้ จะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือทั้งในและต่างประเทศ

แก้ปัญหา “สินมั่นคง” ค้างเติ่ง

แหล่งข่าวจากสำนักงาน คปภ.กล่าวว่า ปัญหากองทุนประกันวินาศภัยที่ผ่านมา รัฐบาลบอกทำนองว่าจะให้ทยอยกู้เงินเป็นงวด ๆ งวดละ 3,000 ล้านบาท โดยในช่วงต้นเดือน เม.ย. 2567 จะมีการประชุมคณะกรรมการจัดหาแหล่งเงินของกองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งน่าจะต้องมีการพูดคุยเรื่องนี้กัน

ส่วนความคืบหน้าการเพิกถอนใบอนุญาต บริษัท สินมั่นคงประกันภัย ขณะนี้เรื่องอยู่ที่กระทรวงการคลัง ซึ่งเวลาที่ทอดยาวออกไป คงเป็นเรื่องที่คลังกำลังคิดพิจารณาให้รอบคอบ เพราะอาจจะกระทบต่อภาระหนี้กองทุนประกันวินาศภัย

ที่ผ่านมา คปภ.เคยเรียกสินมั่นคงฯ เข้ามาพูดคุยหลายรอบ เพื่อทราบถึงแนวทางดำเนินการฟื้นฟูกิจการของตัวเอง แต่ยังไม่มีแผนการที่มีความเป็นไปได้ ซึ่งเบื้องต้นตามกฎหมายไม่มีกำหนดเดดไลน์ แต่ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจพิจารณาดูว่าตรงไหนที่จะเหมาะสม ซึ่งปัจจุบัน คปภ.สั่งให้สินมั่นคงฯ หยุดรับประกันชั่วคราวไป และตอนนี้เข้าไปควบคุมการจ่ายเงินออก ที่เหลือก็รอเพิกถอน ทำอะไรไม่ได้แล้ว

คลังยันมีทางออก-ไม่ใช้งบฯอุ้ม

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า ล่าสุดมีการประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ถึงกรณีกองทุนประกันวินาศภัยมีปัญหาขาดสภาพคล่องต้องชะลอการจ่ายหนี้ และการแก้ปัญหา สินมั่นคงประกันภัย อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่า การแก้ปัญหาจะได้ข้อสรุปเมื่อใด

“กําลังดำเนินการอยู่ เรายังไม่มีข้อสรุปที่ออกมาพูดได้ตอนนี้ ต้องรอให้ชัด ๆ กว่านี้ ถ้าได้ข้อสรุปแล้วจะมีการแถลง เดี๋ยวรอคําตอบก่อน”

ขณะที่ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง กล่าวว่า คงต้องไปดูฐานอํานาจทางกฎหมายของกองทุนประกันวินาศภัยก่อน ว่าจะสามารถทําอะไรได้บ้าง โดยมองว่าหากจะไปเก็บเงินเพิ่มจากบริษัทประกัน อาจจะไม่ถูกต้อง

“คงต้องไปดูวิธีการหาเงินของเขา เพราะว่ากฎหมายเขาก็มีอํานาจอยู่ค่อนข้างจํากัดอยู่พอสมควร”

ส่วนกรณีกองทุนประกันวินาศภัยได้เสนอแผนขอบรรจุวงเงินในแผนบริหารหนี้สาธารณะ ในวงเงิน 3,000 ล้านบาทนั้น ก็ต้องดูว่ารัฐบาลค้ำได้ไหม หากกองทุนมีอํานาจกู้ได้เอง ก็ต้องดูว่าจะเป็นหนี้สาธารณะหรือเปล่า ก็ต้องให้ทาง สบน.เข้าไปดู

สำหรับกรณีหากมีการเสนอขอใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหา ก็ต้องพิจารณาว่ากองทุนประกันวินาศภัย เป็นหน่วยงานที่จะขอรับงบประมาณตามกฎหมายได้หรือไม่ หากเป็นหน่วยงานที่สามารถรับงบประมาณได้ ก็ต้องไปเข้ากฎหมายงบประมาณอีกที ซึ่งมองว่าอาจจะนานไป เพราะงบประมาณปี 2568 ขอไม่ทันแล้ว

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังพอจะมีแนวทางออกที่เตรียมไว้แล้ว เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างยั่งยืน ทั้งกรณีกองทุนประกันวินาศภัยที่ไม่มีเงินเหลือ กับกรณี บมจ.สินมั่นคงฯ โดยจะไม่ใช้งบประมาณ เพราะจะสร้างภาระทางการคลังจำนวนมาก ซึ่งจะขัดกฎหมายวินัยการเงินการคลัง อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ต้องรอให้มีการแถลงอย่างเป็นทางการอีกที

“กองทุนอยากบีบให้คลังออกเงิน แต่ทำไม่ได้ เพราะจะผิดกฎหมาย ดังนั้นอาจจะต้องให้ภาคธุรกิจประกันมีส่วนร่วม แต่ก็ต้องมีแรงจูงใจให้เขาด้วย” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในระยะสั้นน่าจะมีการกู้เงินที่วางกรอบไว้ 3,000 ล้านบาทก่อน ในเดือน มิ.ย.นี้ โดยกองทุนประกันวินาศภัยถือเป็นนิติบุคคล สามารถกู้ตรงได้เอง ซึ่งกระทรวงการคลังจะช่วยดูเรื่องตลาดให้