แก้ถังแตก “กองทุนประกันวินาศภัย” จ่อกู้ 3,000 ล้าน จ่ายเจ้าหนี้

ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย ยอมรับ “ถังแตก” เหลือเงินแค่ 3 ล้าน ขณะที่ภาระหนี้ท่วม 5 หมื่นล้าน ยันทำทุกหนทางแต่ยังไร้ทางออก ขณะที่คลังยันมีแนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เผยระยะสั้นจ่อทยอยกู้ 3,000 ล้าน เติมกองทุนไปก่อน ส่วนระยะยาวเล็งดึงภาคธุรกิจประกันร่วมแก้ปัญหา

นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากกรณีที่กองทุนประกันวินาศภัยต้องปรับแผนการจ่ายคืนหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยนั้น เนื่องจากตอนนี้เหลือเงินอยู่แค่ 3-4 ล้านบาทเท่านั้น

โดยรอบต่อไปต้องรอเงินสมทบจากบริษัทประกันภัยที่จะเข้ามาอีกที ในช่วงเดือน ก.ค. 2567 ซึ่งบริษัทประกันนำส่งในอัตรา 0.5% ของเบี้ยประกันที่บริษัทได้รับในรอบเดือน ม.ค.-มิ.ย. 2567 หรือคิดเป็นเงินประมาณ 600-700 ล้านบาท

“ตอนนี้เงินเหลือแค่ 3-4 ล้านบาท นั่นจึงเป็นที่มาของกองทุนต้องออกมาบอกกับประชาชน ขอปรับเปลี่ยนการอนุมัติชะลอจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ เพราะเวลานี้แทบไม่มีเงินจากช่องทางอื่นเข้ามาเลย”

กองทุนยันทำทุกหนทางแล้ว

นายชนะพลกล่าวว่า ทั้งนี้ต้องบอกว่า กองทุนประกันวินาศภัย เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีที่บริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย เปรียบเป็นหลักประกันให้กับประชาชน ซึ่งต้องจ่ายเงินเยียวยาให้เจ้าหนี้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท มีลักษณะคล้ายกับสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ที่คุ้มครองกรณีธนาคารพาณิชย์ล้มละลาย

“ในกรณีที่เงินกองทุนไม่เพียงพอจ่ายหนี้ ข้อกฎหมายกำหนดไว้ว่า สามารถขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล ตามมาตรา 80 (11) ตาม พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย และเนื่องจากหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้สาธารณะ กองทุนจึงได้ขอบรรจุวงเงินกู้ไว้กับ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ไว้จำนวน 3,000 ล้านบาท รวมทั้งได้ดำเนินการเสนอปรับอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุน จาก 0.25% เป็น 0.5% ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนดแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม ยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบเงินนำส่งของธนาคารพาณิชย์ที่กำหนดไว้ 1% กองทุนจึงคาดหวังว่าหากแก้เกณฑ์ใหม่ปรับขึ้นไปที่ระดับ 1% น่าจะทำให้มีเงินเข้าสู่กองทุนได้ปีละ 2,000-3,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่เงินจะเข้ามาแค่ปีละ 1,200-1,300 ล้านบาท”

ที่ผ่านมา กองทุนได้ดำเนินการขอปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพิ่มเงินสมทบเสนอต่อ คณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) ไปแล้ว ส่วนเรื่องเงินกู้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้อนุมัติให้ใส่ไว้ในแผนบริหารหนี้แล้ว

เพียงแต่ตอนนี้ไม่มีใครให้กู้ ส่วนแผนการระดมทุนโดยออกตราสารทางการเงิน อยู่ระหว่างศึกษาและหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อย่างไรก็ดี แนวทางนี้มีข้อจำกัดเรื่องรายได้ของกองทุน

ขอรัฐจัดสรรงบฯช่วยอุ้ม

นายชนะพลกล่าวอีกว่า ขณะนี้กองทุนจึงพยายามขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล โดยส่งเรื่องไปยังสำนักงบประมาณแล้ว แต่ก็ไม่มีแผนรองรับการช่วยเหลือเรื่องนี้ เพราะรัฐบาลไม่มีเงิน สะท้อนให้เห็นว่า จากที่พยายามดำเนินการจัดหาเงินมาเกือบ 2 ปี ตอนนี้แทบไม่มีอะไรเคลื่อนไหวเลย มีเพียงแค่เงินสมทบของบริษัทประกันวินาศภัยที่นำส่งเข้ามาเท่านั้น

โดยในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา กองทุนเร่งจ่ายหนี้ให้กับประชาชนได้ประมาณ 7,000-8,000 รายต่อเดือน วงเงินอนุมัติจ่าย 300-400 ล้านบาท จนกระทั่งถึงปี 2567 นี้ ได้รับเงินสมทบเข้ามาในเดือน ม.ค. กว่า 600 ล้านบาท เบื้องต้นวางแผนจะแบ่งจ่ายเฉลี่ย เดือนละ 100 ล้านบาท เพื่อรอเงินนำส่งครั้งที่ 2 เข้ามา

แต่พิจารณาแล้วอาจจะไม่เหมาะสมที่จะจ่ายลดลงจากเดิมที่มีการจ่ายกว่า 300 ล้านบาทต่อเดือน จึงตัดสินใจจ่ายในเดือน ม.ค.-ก.พ. 2567 ในจำนวนใกล้เคียงกับปี 2566

“จึงทำให้ในเดือน มี.ค. 2567 เงินกองทุนหมดหน้าตัก โดยเงินสมทบจะเข้ามาอีกทีในช่วงเดือน ก.ค. 2567 ระหว่างนี้กองทุนจะตรวจสอบรับรองมูลหนี้ให้เจ้าหนี้ และรอเงินเข้ามาแล้ว กองทุนจะอนุมัติจ่าย แต่อย่างไรก็ตาม คงจะจ่ายเงินให้ได้เฉพาะการอนุมัติของรอบเดือน มี.ค.-เม.ย. 2567 เท่านั้น เพราะเงินหมด ดังนั้นจะติดค้างไปอีก โดยตอนนี้มีหนี้ค้างจ่ายอยู่ 5 หมื่นล้านบาท กับเจ้าหนี้ทั้งหมด 6 แสนราย”

นายชนะพลกล่าวว่า ตอนนี้ขึ้นกับนโยบายของภาครัฐแล้ว ทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กระทรวงการคลัง และรัฐบาล ว่าจะจัดการหรือดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร หากไม่ทำอะไรก็ต้องใช้เวลาร่วม 80 ปี จึงจะจ่ายหนี้หมด กองทุนพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เนื่องจากเป็นเรื่องหลักประกันของผู้ใช้บริการสถาบันการเงินที่รัฐมีให้ จะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือทั้งในและต่างประเทศ

แก้ปัญหา “สินมั่นคง” ค้างเติ่ง

แหล่งข่าวจากสำนักงาน คปภ.กล่าวว่า ปัญหากองทุนประกันวินาศภัยที่ผ่านมา รัฐบาลบอกทำนองว่าจะให้ทยอยกู้เงินเป็นงวด ๆ งวดละ 3,000 ล้านบาท โดยในช่วงต้นเดือน เม.ย. 2567 จะมีการประชุมคณะกรรมการจัดหาแหล่งเงินของกองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งน่าจะต้องมีการพูดคุยเรื่องนี้กัน

ส่วนความคืบหน้าการเพิกถอนใบอนุญาต บริษัท สินมั่นคงประกันภัย ขณะนี้เรื่องอยู่ที่กระทรวงการคลัง ซึ่งเวลาที่ทอดยาวออกไป คงเป็นเรื่องที่คลังกำลังคิดพิจารณาให้รอบคอบ เพราะอาจจะกระทบต่อภาระหนี้กองทุนประกันวินาศภัย

ที่ผ่านมา คปภ.เคยเรียกสินมั่นคงฯ เข้ามาพูดคุยหลายรอบ เพื่อทราบถึงแนวทางดำเนินการฟื้นฟูกิจการของตัวเอง แต่ยังไม่มีแผนการที่มีความเป็นไปได้ ซึ่งเบื้องต้นตามกฎหมายไม่มีกำหนดเดดไลน์ แต่ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจพิจารณาดูว่าตรงไหนที่จะเหมาะสม ซึ่งปัจจุบัน คปภ.สั่งให้สินมั่นคงฯ หยุดรับประกันชั่วคราวไป และตอนนี้เข้าไปควบคุมการจ่ายเงินออก ที่เหลือก็รอเพิกถอน ทำอะไรไม่ได้แล้ว

คลังยันมีทางออก-ไม่ใช้งบฯอุ้ม

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า ล่าสุดมีการประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ถึงกรณีกองทุนประกันวินาศภัยมีปัญหาขาดสภาพคล่องต้องชะลอการจ่ายหนี้ และการแก้ปัญหา สินมั่นคงประกันภัย อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่า การแก้ปัญหาจะได้ข้อสรุปเมื่อใด

“กําลังดำเนินการอยู่ เรายังไม่มีข้อสรุปที่ออกมาพูดได้ตอนนี้ ต้องรอให้ชัด ๆ กว่านี้ ถ้าได้ข้อสรุปแล้วจะมีการแถลง เดี๋ยวรอคําตอบก่อน”

ขณะที่ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง กล่าวว่า คงต้องไปดูฐานอํานาจทางกฎหมายของกองทุนประกันวินาศภัยก่อน ว่าจะสามารถทําอะไรได้บ้าง โดยมองว่าหากจะไปเก็บเงินเพิ่มจากบริษัทประกัน อาจจะไม่ถูกต้อง

“คงต้องไปดูวิธีการหาเงินของเขา เพราะว่ากฎหมายเขาก็มีอํานาจอยู่ค่อนข้างจํากัดอยู่พอสมควร”

ส่วนกรณีกองทุนประกันวินาศภัยได้เสนอแผนขอบรรจุวงเงินในแผนบริหารหนี้สาธารณะ ในวงเงิน 3,000 ล้านบาทนั้น ก็ต้องดูว่ารัฐบาลค้ำได้ไหม หากกองทุนมีอํานาจกู้ได้เอง ก็ต้องดูว่าจะเป็นหนี้สาธารณะหรือเปล่า ก็ต้องให้ทาง สบน.เข้าไปดู

สำหรับกรณีหากมีการเสนอขอใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหา ก็ต้องพิจารณาว่ากองทุนประกันวินาศภัย เป็นหน่วยงานที่จะขอรับงบประมาณตามกฎหมายได้หรือไม่ หากเป็นหน่วยงานที่สามารถรับงบประมาณได้ ก็ต้องไปเข้ากฎหมายงบประมาณอีกที ซึ่งมองว่าอาจจะนานไป เพราะงบประมาณปี 2568 ขอไม่ทันแล้ว

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังพอจะมีแนวทางออกที่เตรียมไว้แล้ว เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างยั่งยืน ทั้งกรณีกองทุนประกันวินาศภัยที่ไม่มีเงินเหลือ กับกรณี บมจ.สินมั่นคงฯ โดยจะไม่ใช้งบประมาณ เพราะจะสร้างภาระทางการคลังจำนวนมาก ซึ่งจะขัดกฎหมายวินัยการเงินการคลัง อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ต้องรอให้มีการแถลงอย่างเป็นทางการอีกที

“กองทุนอยากบีบให้คลังออกเงิน แต่ทำไม่ได้ เพราะจะผิดกฎหมาย ดังนั้นอาจจะต้องให้ภาคธุรกิจประกันมีส่วนร่วม แต่ก็ต้องมีแรงจูงใจให้เขาด้วย” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในระยะสั้นน่าจะมีการกู้เงินที่วางกรอบไว้ 3,000 ล้านบาทก่อน ในเดือน มิ.ย.นี้ โดยกองทุนประกันวินาศภัยถือเป็นนิติบุคคล สามารถกู้ตรงได้เอง ซึ่งกระทรวงการคลังจะช่วยดูเรื่องตลาดให้