ย้อนรอย 2 เดือน กองทุนประกันวินาศภัย จ่ายใครบ้าง ก่อนถังแตก

เปิดข้อมูลการจ่ายหนี้ของกองทุนประกันวินาศภัย ย้อนหลัง 2 เดือนล่าสุด ก่อนแจ้งปรับแผนจ่ายคืนหนี้ ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2567 หลังประสบภาวะขาดสภาพคล่อง ต้องรอบริษัทประกันนำส่งเงินเข้าตามรอบ ขณะที่แผนกู้เงิน 3 พันล้าน ยังไม่คืบ

วันที่ 27 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เดือน ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา เป็นเดือนล่าสุดที่ทางกองทุนประกันวินาศภัย ได้มีการพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย จำนวนทั้งสิ้น 4,943 คำขอ (จำนวน 7,025 กรมธรรม์) ก่อนที่จะมีการประกาศว่าตั้งแต่เดือน มี.ค. 2567 เป็นต้นไป จะปรับเปลี่ยนรอบการขออนุมัติการจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีที่บริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย

ทั้งนี้ เนื่องจากต้องรอเงินเข้ากองทุน จากการนำส่งของบริษัทประกันภัยที่เป็นสมาชิก และกองทุนยังไม่ได้รับเงินจากช่องทางอื่น

สำหรับในเดือน ก.พ. 2567 ได้อนุมัติจ่ายเงินแก่เจ้าหนี้ ตามสัญญาประกันภัย จำนวนทั้งสิ้น 4,943 คำขอ (จำนวน 7,025 กรมธรรม์) โดยมีรายชื่อบริษัท ดังนี้

    1. บมจ.เอเชียประกันภัย 1950 จำนวน 1,551 คำขอ (จำนวน 2,721 กรมธรรม์)
    2. บมจ.เดอะ วัน ประกันภัย จำนวน 1,371 คำขอ (จำนวน 2,247 กรมธรรม์)
    3. บมจ.ไทยประกันภัย จำนวน 754 คำขอ (จำนวน 762 กรมธรรม์)
    4. บมจ.อาคเนย์ประกันภัย จำนวน 1,267 คำขอ (จำนวน 1,295 กรมธรรม์)

ขณะที่ก่อนหน้านั้นในเดือน ม.ค. 2567 กองทุนประกันวินาศภัย ได้มีการพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย จำนวนทั้งสิ้น 4,933 คำขอ (จำนวน 7,267 กรมธรรม์) โดยมีรายชื่อบริษัท ดังนี้

    1. บมจ.เอเชียประกันภัย 1950 จำนวน 1,585 คำขอ (จำนวน 2,867 กรมธรรม์)
    2. บมจ.เดอะ วัน ประกันภัย จำนวน 1,321 คำขอ (จำนวน 2,336 กรมธรรม์)
    3. บมจ.ไทยประกันภัย จำนวน 781 คำขอ (จำนวน 797 กรมธรรม์)
    4. บมจ.อาคเนย์ประกันภัย จำนวน 1,246 คำขอ (จำนวน 1,267 กรมธรรม์)

รายงานแจ้งว่า จากการที่มีบริษัทประกันวินาศภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาตหลายรายในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ภาระหนี้ของกองทุนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนสูงถึง 60,000 ล้านบาท มีเจ้าหนี้มากกว่า 6 แสนราย ขณะที่กองทุนจ่ายหนี้ได้เพียง 350-400 ล้านบาทต่อเดือน หรือราวเดือนละ 7,000-8,000 กรมธรรม์ ซึ่งทางกองทุนมีแผนจัดหาแหล่งเงินเพิ่มเติม ด้วยการขอปรับเพิ่มอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนจาก 0.25% เป็น 0.50% และเสนอแผนกู้เงิน 3,000 ล้านบาท โดยยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ