กองทุนประกันวินาศภัยถังแตก แจ้งชะลอจ่ายคืนหนี้ตั้งแต่ มี.ค. 2567

กองทุนประกัน

กองทุนประกันวินาศภัยถังแตก แจ้งชะลอจ่ายคืนหนี้ตั้งแต่เดือน มี.ค. 67 รอเงินสนับสนุนรัฐบาล-แผนกู้เงิน 3 พันล้าน

วันที่ 26 มีนาคม 2567 กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) รายงานว่า กองทุนขอแจ้งเรื่อง การปรับเปลี่ยนรอบการขออนุมัติการจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีที่บริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย

โดยกองทุนประกันวินาศภัย เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ภายใต้กำกับของฝ่ายบริหาร ประเภทกองทุนที่เป็นนิติบุคคล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีที่บริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย และเพื่อพัฒนธุรกิจประกันวินาศภัยให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ

โดยกองทุนประกันวินาศภัย ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ มีรายได้หลักมาจากเงินที่บริษัทประกันวินาศภัยมีหน้าที่ต้องนำส่งเข้ากองทุนประกันวินาศภัย ตามอัตราที่คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ประกาศกำหนด โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ซึ่งตามกฎหมายกำหนดไว้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.5 ของเบี้ยประกันภัยที่บริษัทได้รับ โดยบริษัทต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนประกันวินาศภัยปีละ 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 นำส่งภายในเดือนมกราคม ในอัตราร้อยละ 0.5 ของเบี้ยประกันภัยที่บริษัทได้รับในรอบเดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคมของปีที่ผ่านมา และครั้งที่ 2 นำส่งภายในเดือนกรกฎาคม ในอัตรร้อยละ 0.5 ของเบี้ยประกันภัยที่บริษัทได้รับในรอบเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนของปีเดียวกัน

นับแต่ปี 2551 ที่มีการจัดตั้งกองทุนประกันวินาศภัยขึ้นตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 จนถึงปัจจุบัน มีบริษัทประกันภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย จำนวนทั้งสิ้น 14 บริษัท โดยเฉพาะในช่วงปี 2562-2565 ได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดเป็นครั้งแรกของโลก

และในปี 2563 กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจพบเชื้อไวรัสโควิดเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยเชื้อดังกล่าวได้มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว จนทำให้บริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยจากการติดเชื้อไวรัสโควิด มีสถานะขาดสภาพคล่องทางการเงิน และไม่มีเงินจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย จนส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ทำให้บริษัทประกันภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและปิดกิจการลงอย่างต่อเนื่อง ได้แก่

  • บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน)

แบกหนี้ 6 หมื่นล้าน

ซึ่งการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยดังกล่าว ส่งผลทำให้กองทุนประกันวินาศภัยต้องชำระหนี้แทนบริษัทประกันภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตตามกฎหมาย และทำให้กองทุนประกันวินาศภัยมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีจำนวนประมาณ 60,000 ล้านบาท และมีจำนวนเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยมากกว่า 600,000 ราย

โดยที่ผ่านมา กองทุนประกันวินาศภัยได้ดำเนินการตามภารกิจที่กฎหมายกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 ด้วยมีเจตนารมณ์ในการชำระหนี้และคุ้มครองเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยในกรณีที่บริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย

ซึ่งในระยะเวลาที่ผ่านมา กองทุนประกันวินาศภัยได้ดำเนินการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เสร็จสิ้นแล้ว 2 บริษัท ได้แก่

  • บริษัท ศูนย์สุขภาพประเทศไทย จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท สัญญาประกันภัย จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน)

โดยปัจจุบันกองทุนประกันวินาศภัยอยู่ระหว่างการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อีกจำนวน 7 บริษัท ได้แก่

  • บริษัท สัมพันธ์ประกันภัย จำกัด
  • บริษัท เอ.พี.เอฟ. อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวร์รันส์ จำกัด
  • บริษัท เจ้าพระยาประกันภัย จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน)

โดยคิดเป็นเงินค่าสินไหมทดแทนที่กองทุนประกันวินาศภัย ได้พิจารณาอนุมัติชำระหนี้แทนบริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตแล้วจำนวนทั้งสิ้นมากกว่า 8,517 ล้านบาท รวมเป็นจำนวนเจ้าหนี้ที่ได้รับชำระหนี้แล้วทั้งสิ้น 145,948 ราย ทั้งนี้ยังไม่รวมอีก 4 บริษัท ที่อยู่ระหว่างการชำระบัญชีของบุคคลภายนอกและรอการนำส่งมาให้กองทุนประกันวินาศภัยชำระหนี้ต่อไป

กองทุนประกันวินาศภัย ตระหนักและทราบถึงความเดือดร้อนของประชาชนผู้เป็นเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากเอาประกันภัยเป็นอย่างดี และได้พยายามเพิ่มอัตราบุคลากร ปรับปรุงระบบการบริหารจัดการกองทุนในการรองรับและเพื่อเร่งรัดการพิจารณาคำขอรับชำระหนี้ และได้อนุมัติจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าหนี้อย่างต่อเนื่อง

อนุมัติจ่ายหนี้ 350-400 ล้าน/เดือน

ซึ่งในช่วงปี 2566 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 กองทุนประกันวินาศภัยสามารถพิจารณาคำทวงหนี้ และเสนอขออนุมัติจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ได้ประมาณเดือนละ 7,000-8,000 กรมธรรม์ คิดเป็นเงินที่ขออนุมัติจ่ายให้แก่เจ้าหนี้แต่ละเดือนไม่น้อยกว่า 350-400 ล้านบาท

ในขณะเดียวกันกองทุนประกันวินาศภัยได้พยายามจัดหาแหล่งเงินทุน เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ โดยได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับการจัดหาแหล่งเงินทุนของกองทุนประกันวินาศภัย และได้มีการดำเนินการ เช่น

เพิ่มเงินสมทบเป็นร้อยละ 0.5

ประการแรก กองทุนประกันวินาศภัยได้ดำเนินการเสนอขอปรับเพิ่มอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนประกันวินาศภัย ตามมาตรา 80/3 จากเดิมอัตราร้อยละ 0.25 ปรับเพิ่มเป็นอัตราร้อยละ 0.25 ของเบี้ยประกันภัยที่บริษัทได้รับ ซึ่งเป็นอัตราเงินนำส่งสูงสุดที่ กฎหมายกำหนด

เสนอแผนกู้วงเงิน 3 พันล้าน

ประการที่สอง กองทุนประกันวินาศภัยได้เสนอแผนขอบรรจุวงเงินในแผนบริหารหนี้สาธารณะในวงเงิน 3,000 ล้านบาท ต่อสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ โดยเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 1 และรับทราบตามที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับบริหารหนี้สาธารณะเสนอ ซึ่งแผนดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

ขอเงินสนับสนุนรัฐบาลตามกฎหมาย

ประการสุดท้าย กองทุนประกันวินาศภัยได้มีหนังสือถึงสำนักงบประมาณ เพื่อดำเนินการขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลตามมาตรา 80 (11) ซึ่งจากการดำเนินการตามกฎหมายในด้านต่าง ๆ นี้ จะเป็นการเพิ่มช่องทางในการจัดหาแหล่งเงินทุน เพื่อรองรับสถานะทางการเงินของกองทุนประกันวินาศภัย เพื่อให้ได้เงินมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้โดยเร็วที่สุด

ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการและการดำเนินการขออนุมัติการจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยให้เป็นไปโดยความเรียบร้อย ซึ่งต้องรอเงินเข้ากองทุนประกันวินาศภัยตามกำหนดระยะเวลาที่บริษัทจะต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนประกันวินาศภัย ตามมาตรา 80/3 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

และกองทุนประกันวินาศภัยยังไม่ได้รับเงินจากช่องทางอื่น ๆ ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นข้อจำกัดในการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้อันเกิดจากการเอาประกันภัยแทนบริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย

ปรับอนุมัติจ่ายเงินตั้งแต่ มี.ค. 67

ดังนั้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 เป็นต้นไป กองทุนประกันวินาศภัยมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรอบการขออนุมัติการจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ให้มีความสัมพันธ์กับรายได้ และรอบการนำส่งเงินเข้ากองทุนประกันวินาศภัยของบริษัทประกันภัยตามที่กฎหมายกำหนด

แต่อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่รอการอนุมัติจ่ายเงิน กองทุนประกันวินาศภัยจะเร่งรัดให้มีการพิจารณารับรองมูลหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อย่างต่อเนื่อง เต็มกำลัง และหากกองทุนประกันวินาศภัยได้รับเงินจากช่องทางอื่น เช่น การกู้ยืมเงินหรือออกตราสารทางการเงิน หรือหากกองทุนประกันวินาศภัยได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลหรือจากแหล่งเงินอื่น ๆ กองทุนประกันวินาศภัยจะเร่งดำเนินการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยโดยเร็วที่สุดต่อไป