ส่องแผนกองทุนน้ำมัน หนีไม่พ้นติดลบ 1 แสนล้าน มี.ค.นี้

กองทุนน้ำมันติดลบ

สถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง ล่าสุดราคาน้ำมันดิบในตลาดเบรนต์ 85.42 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาด WTI ขยับขึ้นไปที่ 81.26 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล สูงสุดในรอบ 4 เดือน จากสัญญาณความกังวลเกี่ยวกับปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่เริ่มกำลังมาเข้มข้นอีกครั้ง ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่ไทยต้องเตรียมมาตรการดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมัน ให้ทันต่อมาตรการตรึงราคาดีเซลลิตรละ 30 บาท กำลังจะสิ้นสุดในสิ้นเดือนมีนาคม

ติดลบจ่อแสนล้าน

โดยปัจจุบันฐานะกองทุนน้ำมันฯ สุทธิ ณ วันที่ 10 มีนาคม 2567 ติดลบ 94,883 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมันติดลบ 48,047 ล้านบาท บัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 46,836 ล้านบาท โดยหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า หากยังดำเนินมาตรการดูแลราคาน้ำมันต่อเนื่องก็มีโอกาสที่กองทุนน้ำมันฯจะติดลบเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนล้านบาท

ส่วนตัวเลขกระแสเงินในส่วนของกองทุนน้ำมันฯ มีเงินไหลออกในส่วนของน้ำมัน วันละ 160.51 ล้านบาท และ LPG 6.5 ล้านบาท รวมเป็น 167.01 ล้านบาท หากคำนวณเฉลี่ยจะอยู่ที่เดือนละ 5,000 ล้านบาท แน่นอนว่าพอถึงสิ้นเดือนนี้ กองทุนจะติดลบทะลุ 1 แสนล้านบาทแน่นอน

เสริมสภาพคล่องด่วน

อย่างไรก็ตาม มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ประชุมเห็นชอบให้ปรับแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 1 โดยปรับแผนการก่อหนี้ใหม่เพิ่ม 560,276.10 ล้านบาท จากเดิม 194,434.53 ล้านบาท เป็น 754,710.63 ล้านบาท ซึ่งในวงเงินจำนวนนี้ได้จัดสรรให้หน่วยงานอื่นของรัฐ (ที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ ) 2 แห่ง และหนึ่งในนั้นก็คือ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) 20,000 ล้านบาท

ตารางกองทุนน้ำมัน

จากการอัพเดตของ สกนช.ยังระบุว่า ขณะนี้ยังเหลือวงเงินกู้เสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯอีก 25,000 ล้านบาท จากกรอบเงินกู้ประมาณ 105,000 ล้านบาท (เดิม) โดยคาดว่าจะมีการยื่นเรื่องพิจารณาเรื่องนี้ภายในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ หากติดลบเกินวงเงิน 105,000 ล้านบาท จะต้องเสนอเรื่องเข้าคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) พิจารณาถึงแนวทางร่วมกันอย่างรอบด้าน ทั้งการรักษาเสถียรภาพของกองทุนน้ำมันฯในอนาคต และการดำเนินการตามนโยบายรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ว่าจะมีทิศทางอย่างไรต่อไป

ใช้หนี้ 5 ปี-ปรับมาตรการช่วยเหลือ

ส่วนแผนการชำระหนี้คืนของกองทุนน้ำมันฯจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567 โดยจะทยอยจ่ายคืนไปเรื่อย ๆ คาดว่าจะสามารถชำระเงินต้นคืนทั้งหมดได้ภายใน 5 ปีนับจากนี้ ในมุมมองจากหลายภาคส่วน จะได้มีข้อเสนอเรื่องการอุดหนุนน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตร เป็นไปใน 2 แนวทาง

คือ การผ่อนคลายโดยปรับเพดานการอุดหนุนให้สะท้อนกับราคาในตลาดโลก 32 บาทต่อลิตร จากต้นทุนที่แท้จริงนั้นที่ประมาณ 33.50 บาทนั้น จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เพื่อบรรเทาภาระกองทุน หรือหากรัฐจะยังคงใช้มาตรการดูแลเสถียรภาพราคาดีเซล 30 บาท ก็ควรเลือกให้ความช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเท่านั้น เพื่อลดภาระกองทุนอีกทางหนึ่ง

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานระบุว่า กองทุนน้ำมันฯไม่สามารถเลือกที่จะให้ความช่วยเหลือเพียงบางกลุ่มได้ ต้องใช้แนวทางอื่น โดยจะต้องคำนึงถึงปัจจัยรอบด้าน โดยเฉพาะ “เงื่อนไขด้านเศรษฐกิจ” ต้องนำมาเป็นปัจจัยสำคัญร่วมด้วย เพราะหากรัฐบาลยุติมาตรการดูแลราคาดีเซลและปรับขึ้นราคาทันที จะส่งผลกระทบต่อค่าขนส่งและนำพาให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงตามไปด้วย

หากเป็นไปได้อาจจะพิจารณาเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนแตกต่างตามชนิดน้ำมัน เหมือนกับการดูแลเบนซินซึ่งขณะนี้เลิกอุ้มแล้ว ส่วนในระยะเวลาควรขึ้นอยู่กับทิศทางของแผนน้ำมัน (Oil Plan) ซึ่งอาจจะมีการปรับชนิดน้ำมัน เช่น ดีเซล จะให้เหลือน้ำมันดีเซลกี่ชนิด แล้วจากนั้นค่อยมาหาวิธีการเรียกเก็บอีกครั้ง

สกนช.รับมือ “เลิกอุดหนุนไบโอ”

แผนการดำเนินงานในส่วนของ สกนช.ขณะนี้ ไม่ใช่เพียงการบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันฯ แต่อีกด้านยังต้องเตรียมพร้อมกรณีที่วันที่ 24 กันยายน 2567 นี้ จะถือเป็นวันสิ้นสุดของการขยายเวลามาตรการลดการจ่ายเงินชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ หลังจากที่ต่ออายุเพิ่มอีก 2 ปี เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2565 ตามที่ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 บทเฉพาะกาลมาตรา 55 ระบุว่า จะลดการจ่ายเงินชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพภายใน 3 ปีหลังจากกฎหมายบังคับใช้ แต่สามารถขยายเวลาต่อได้อีกไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 2 ปี

ด้าน นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า สกนช.ได้นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงศึกษาดูงานเกี่ยวกับการวิจัยการผลิตน้ำมันปาล์มแดงบริสุทธิ์ เพื่อพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนและ SMEs ผลิตน้ำมันปาล์มแดงธรรมชาติ ประกอบกับการสร้างเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็งของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช และการต่อยอดเป็นรูปธรรมไปสู่กลุ่มผู้ผลิตปาล์ม วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ ปาล์มน้ำมัน จังหวัดตรัง ซึ่งถือเป็นกรณีศึกษาแนวทางการผลิตน้ำมันปาล์มพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย โดยการยกระดับการผลิตด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ทลายข้อจำกัดเรื่องผลผลิตล้นตลาด และยังชี้ให้เห็นทางออกของปาล์มน้ำมันที่มีศักยภาพในการปรับตัว หากต้องยกเลิกการชดเชยของกองทุนน้ำมันฯ

วิศักดิ์ วัฒนศัพท์
วิศักดิ์ วัฒนศัพท์

“ผลการศึกษากรณีการปรับตัวของกลุ่มเกษตรกรปาล์มน้ำมันนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลที่จะเสนอต่อ กบน. เพื่อประกอบการพิจารณาถึงข้อดี ข้อเสีย ในการที่จะขยายระยะเวลาครั้งที่ 2 หรือยกเลิกการอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยคำนึงถึงทุกภาคส่วนที่จะได้รับผลกระทบ” นายวิศักดิ์กล่าว

ส่วน นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กล่าวว่า ปัจจุบันราคาน้ำมันปาล์มและเอทานอลอยู่ในราคาค่อนข้างสูง เมื่อนำมาผสมกับน้ำมันจะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น จึงเกิดเสียงคัดค้าน

ซึ่งต้องเท้าความเดิมก่อนว่า ในอดีตราคาน้ำมันแพงทำให้ต้องเอาตัวน้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil หรือ CPO) และเอทานอลมาผสมเป็นไบโอดีเซล ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ สร้างรายได้ให้เกษตรกร โดยในช่วงที่ราคาไบโอดีเซลแพง เราก็ใช้มาตรการตรึงราคาไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยใช้เงินอุดหนุนประมาณ 3.50 บาทต่อลิตร

ลดผลกระทบเกษตรกร

แน่นอนว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีพืชเศรษฐกิจสำคัญอย่าง ปาล์ม มันสำปะหลัง และอ้อย ซึ่งก็ได้มีการต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยนำมาผลิตเป็นน้ำมันชีวภาพ หรือ “ไบโอดีเซล” เพื่อเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานและอาชีพให้กับเกษตรกร รวมถึงลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ

โดยรัฐบาลที่ผ่านมาใช้มาตรการอุดหนุนราคาไบโอดีเซล เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในยามที่ราคาผลผลิตตกต่ำ ขณะที่ตรึงราคาขายปลีกไบโอดีเซลไว้ให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร

แต่ทว่าเมื่อกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ยกเลิกการอุดหนุนดังกล่าวไป ซึ่งอาจเกิดผลกระทบราคาผลผลิตของเกษตรกร บวกกับกระแสการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น รวมถึงการลดชนิดน้ำมันไบโอดีเซล ที่จะเริ่มวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 นับเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐจะต้องแก้และหาคำตอบ เพื่อความอยู่รอดของเกษตรกรชาวสาวปาล์ม

ด้วยเหตุนี้ “น้ำมันปาล์มแดง” จึงกลายเป็นทางเลือกที่สร้างโอกาสและมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตปาล์ม เพราะมีต้นทุนการสร้างโรงงานต่ำกว่าโรงสกัดน้ำมันปาล์มแบบเดิม ทั้งยังให้ผลตอบแทนที่สูง เพราะเมื่อเทียบราคาน้ำมันปาล์มจากการทะลายปาล์ม 100 กิโลกรัม สามารถผลิตน้ำมันปาล์มแดงธรรมชาติได้ 12 กิโลกรัม ตกราคากิโลกรัมละ 500 บาท

ขณะที่กระบวนการทำน้ำมันปาล์มแดง เมื่อทำให้ผลปาล์มสุกด้วยเครื่องไมโครเวฟ แล้วจากนั้นก็นำมาใส่เครื่องบีบเพื่อคั้นน้ำมันออกมาและเข้าเครื่องแยก ซึ่งจะได้น้ำมัน 2 ประเภท ได้แก่ น้ำมันอิ่มตัว และน้ำมันไม่อิ่มตัว ที่นำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้

อาทิ น้ำมันสลัดคล้ายกับน้ำมันมะกอก หรือน้ำมันมะพร้าว ครีมเทียมจากธรรมชาติที่ไม่มีไขมันทรานส์ รวมถึงกากปาล์มที่ได้จากกระบวนสกัดแบบนี้สามารถนำไปให้อาหารสัตว์เพื่อกระตุ้นการเติบโต โดยเฉพาะในวัวนมที่สามารถช่วยกระตุ้นการเกิดน้ำนมได้

นอกจากนี้ยังมีไบโอเจ็ต หรือน้ำมันอากาศยานยั่งยืน (SAF) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ตลาดเปิดกว้าง ทุกสายการบินทั่วโลกต่างก็ต้องใช้ และ SAF เป็นน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว นับเป็นการช่วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะที่การใช้น้ำมันปาล์มหรือเอทานอลยังมีความเสี่ยงเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ป่า