ทอง-ยาง-น้ำมัน ราคาขึ้นยกแผง หวั่นปัญหาการเมืองโลกระอุ

ทอง-ยาง-น้ำมัน

หวั่นสงคราม ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ “ยาง-น้ำมัน-ทองคำ” ขึ้นยกแผง เขย่าซัพพลายเชนโลก ส.อ.ท.หวั่นต้นทุนผลิตสินค้าพุ่ง จนอาจต้องปรับขึ้นราคา ด้านนักวิชาการเตือนเอกชนวางแผนบริหารจัดการสต๊อก-ราคาวัตถุดิบ “ล้อยาง” อ่วม แล้งทุบวัตถุดิบวูบ 15% ราคายางจ่อ 100 บาท แนะดึงยางเพื่อนบ้าน CLMV สร้างเครือข่าย “วัตถุดิบ” ให้พร้อม

สถานการณ์ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับขึ้นยกแผงตลอดช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทั้งน้ำมันดิบในตลาดเบรนต์ และ WTI สูงสุดรอบ 4 เดือน ราคาทองคำทุบสถิตินิวไฮ เช่นเดียวกับราคายางแผ่นดิบรมควันชั้น 3 ที่ทะลุ 90.09 บาท เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 นับเป็น “นิวไฮ” ครั้งใหม่

บิ๊ก ส.อ.ท.จับตา “ต้นทุนพุ่ง”

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เอกชนติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ทั้งราคาน้ำมัน ทองคำ ยางพารา ที่ปรับสูงขึ้นจนทุบสถิติขณะนี้ว่า ในอีก 1-2 เดือนนี้ หากราคายังทรงตัวอยู่ในระดับสูงอย่างนี้ จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนภาคอุตสาหกรรมในการผลิตสินค้าทั้งที่ใช้ภายในและส่งออกจำเป็นต้องปรับราคา

“สาเหตุสำคัญที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับสูงขึ้น หลัก ๆ มาจากปัญหาจีโอโพลิติกส์ซึ่งในอดีตปัจจัยนี้ถูกจัดอยู่ในระดับกลาง ๆ แต่ตอนนี้ภาคเอกชนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก ๆ พอกับการให้ความสำคัญกับมาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อม จะเห็นว่าก่อนหน้านี้ สถานการณ์รุนแรงในทะเลแดงที่ฝ่ายฮูตีโจมตีเรือขนส่งสินค้าจากหลาย ๆ ประเทศป่วนซัพพลายเชน ทำให้ต้องเปลี่ยนเส้นทางไปอ้อมแหลมกู๊ดโฮป แอฟริกาใต้ การขนส่งยาวนานขึ้น 2 สัปดาห์ ต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้นตาม

และมาตอนนี้ต้องจับตาความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ไม่กี่วันมานี้ยูเครนใช้โดรนโจมตีโรงกลั่นน้ำมันใหญ่หลายแห่งในรัสเซีย อาจจะทำให้เกิดสงคราม นาโตมีการประกาศในบางประเทศว่า จะส่งทหารไปช่วยรบในยูเครน ส่วนรัสเซียตอบโต้ว่า พร้อมจะใช้นิวเคลียร์ปกป้องประเทศ ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงที่กระทบจิตวิทยา ทำให้สินค้าโภคภัณฑ์ขึ้นไปอีก ถ้าต้นทุนขึ้นไปถึงจุดหนึ่งไม่ไหวก็อาจจะทำให้ราคาสินค้าในชีวิตประจำวันทุกอย่างต้องปรับตาม ถ้าเป็นช่วงสั้นเอกชนปรับตัวได้ แต่ถ้ายาวกว่า 1-2 เดือน ก็มีผลกระทบต่อโครงสร้างราคาขายปลีกต่อไป” นายเกรียงไกรกล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมีทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น อุตสาหกรรมยางล้อ ต้องเตรียมบริหารจัดการวัตถุดิบและการผลิต เพราะหากราคายังทรงตัวสูง ต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้นไปด้วย ขณะที่สินค้ากลุ่มเหล็ก ยังต้องดูประเด็นเกี่ยวกับการผลิตเหล็กของตลาดจีน ว่าจะมีการทุ่มตลาดออกมาเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะจีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ โดยเหล็กราคาถูกจากจีนที่ส่งออกมาเป็นตัวฉุดราคาเหล็กภาพรวมในตลาด ทำให้ไม่ปรับขึ้นมาก

ปัจจัยดันราคาโภคภัณฑ์

ด้าน ศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่ปรึกษาอาวุโส บจก. บริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (IRC) ระบุว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้สถานการณ์ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับขึ้นสูงมากมาจาก ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ (จีโอโพลิติกส์) 5 คู่ โดยเฉพาะรัสเซีย-ยูเครนที่กำลังพัฒนาไปเป็นสงครามนิวเคลียร์ และขยายวงจากที่รัสเซียกำลังส่งทหารประชิดชายแดนฟินแลนด์และสวีเดน ประเทศที่มีชายแดนติดรัสเซีย, อิสราเอล-ฮามาสขยายวงและฮูตีถล่มเรือขนส่งสินค้าของหลายประเทศ, ช่องแคบเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้รอปะทุ รวมถึงประเด็นที่ค้างอยู่เดิม สงครามการค้าสหรัฐ-จีน

ความไม่แน่นอนนี้ กระทบความมั่นใจในการลงทุน ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยสหรัฐแนวโน้มลดลง นักลงทุนหันไปถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง “ทองคำ” ราคาจึงสูงขึ้น ขณะที่ความรุนแรงในยูเครน-รัสเซียกระทบราคาสินค้าธัญพืชและการขนส่งธัญพืช และความรุนแรงในทะเลแดงกระทบต่อซัพพลายเชนสะดุด ทำให้การขนส่งทางทะเลแดงหายไป 50% ราคาน้ำมันสูงขึ้น ซึ่งการปรับขึ้นราคาน้ำมันและยางพารามีปัจจัยที่แวดล้อมแตกต่างออกไป แต่ก็มีความเชื่อมโยงกัน

ยกตัวอย่าง กรณีปัญหาราคาน้ำมันปรับขึ้นจากความรุนแรงในรัสเซีย-ยูเครนขยายวง เกิดความตึงเครียดบริเวณชายแดนยูเครน หลังจากการโจมตีโรงกลั่นน้ำมัน ประกอบกับมีปัจจัยโอเปคปรับลดกำลังการผลิต เป็นแรงส่งทำให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น ส่งผลไปถึง “ยางสังเคราะห์” ที่ผลิตจากน้ำมัน ซึ่งเป็นคู่แข่ง “ยางธรรมชาติ” ให้ปรับราคาขึ้นตาม ผู้นำเข้าหันมาใช้ยางธรรมชาติแทน

“ยางยังมีปัจจัยบวกจากความต้องการใช้ยางธรรมชาติในอุตสาหกรรมล้อยางเพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวของรถยนต์ EV โรงงานยางจีนมาตั้งในไทยเพิ่มขึ้น ความกังวลยางจะขาดทั้งซัพพลายเชนสะดุดและความไม่แน่นอนสูง จึงทำให้ผู้ซื้อรายใหญ่อย่างจีนและอินเดียซื้อเพิ่มสต๊อก”

ส่วนด้านผลผลิตยางธรรมชาติของไทยลดลงหลังจากเกิดแล้งกระทบผลผลิตเสียหายประมาณ 15% เป็นการลดลงมากกว่าปกติ เมื่อ “ซัพพลายลดลง แต่ดีมานด์ยังคงสูง” จึงทำให้ราคายางขยับขึ้นตามกลไกตลาด จึงต้องติดตามว่าราคายางพาราที่สูงขณะนี้จะเป็นช่วงเพียงระยะสั้นหรือไม่ หากผ่านพ้นช่วงปิดกรีด ผลผลิตเริ่มทยอยออก Q2-Q4 ราคาจะอ่อนตัวลงหรือไม่ แต่หากผลผลิตไม่ดีเกิดภาวะราคาดี แต่ไม่มีของ ไทยก็ไม่ได้ประโยชน์ แต่หากไทยผลผลิตใกล้เคียงเดิม ราคาเฉลี่ยแบบนี้ทั้งปี จะทำให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 1.7-1.8 แสนล้านบาท มาเป็น 3 แสนล้านบาทในปี 2567

กางแผน “ปรับตัว”

ส่วนภาคอุตสาหกรรมต้องเตรียมพร้อมรับมือ เพราะหากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงสูงต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตแน่นอน เช่น ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 กก.ละ 90 บาท ถือว่าเป็นต้นทุนที่สูงมาก หากนำไปผลิตล้อยาง และที่สำคัญ ราคายางของไทย “สูงกว่า” ยางประเทศเพื่อนบ้าน CLMV ที่ปลูกยางเหมือนกันกับเรา ประเทศกลุ่มนี้ปกติราคาจะเฉลี่ย “ต่ำกว่า” ไทย กก.ละ 20 บาท

หากราคาไทยสูงมากและผลิตน้อยก็มีความเสี่ยงที่โรงงานต่าง ๆ จะหันไปซื้อยางจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะใน สปป.ลาว ที่มีการปลูกยาง 1 ล้านไร่ ประมาณ 200,000 ตัน เป็นนักลงทุนจีนที่เข้าไปลงทุนปลูกเอง เพราะอย่างที่ทราบจีนผลิตรถ EV มากที่สุด และมีการผลิตยางสังเคราะห์มากที่สุด แต่ยังขาดในส่วนของยางธรรมชาติ หรือมาเลเซีย หันไปนำเข้าน้ำยางผลิตถุงมือยางจากเวียดนาม

ความน่ากังวลคือ เมื่อผู้ซื้อยางย้ายฐานผลิต หันไปซื้อจากคู่แข่งแล้วเกิดความคุ้นเคยกับสินค้าของคู่แข่งก็อาจจะไม่กลับมาซื้อไทยก็ได้ ฉะนั้นต้องดูแลราคาให้อยู่ด้วยกันได้อย่างสมดุลเฉลี่ย 50-60 บาท ทำให้อุตสาหกรรมอยู่ได้ทั้งหมด

“ไทยต้องพัฒนาต่อยอดแปรรูปมากขึ้น บริหารผลผลิตให้พอใช้ ปรับซัพพลายเชนของเรา สร้างเครือข่ายซัพพลาย ด้วยการดึงวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้านมาเป็นผู้ผลิต ประเด็นนี้จะทำให้ฐานอุตสาหกรรมของไทยมีวัตถุดิบเพียงพอ และอีกเรื่องต้องผลักดันคือการสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรม ยางสามารถลดการปล่อยคาร์บอน และสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ ซึ่งเป็นทิศทางที่จะต้องมุ่งไปในอนาคต”

บิ๊กธุรกิจมั่นใจราคาพุ่ง 100 บาท

นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน ผู้บุกเบิกการทำสวนยางใน จ.บึงกาฬ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย กล่าวว่า ผมมั่นใจราคายางมีโอกาสจะทะลุ 3 หลัก หรือขึ้นเป็นร้อยบาทได้ โดยปัจจัยสำคัญมาจากความกังวลต่อสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ในหลายประเทศ ทั้งตะวันออกกลาง รัสเซีย-ยูเครน ซึ่งส่งผลทางจิตวิทยาต่อตลาดยางของโลก เพราะสินค้ายางจัดเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตยุทธปัจจัยสำคัญ จึงทำให้หลายประเทศหันมาสั่งซื้อยางสต๊อกเพื่อสำรองไว้ในกรณีฉุกเฉิน

ก่อนหน้านี้ที่ นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่และกรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA กล่าวว่า ราคายางธรรมชาติเริ่มทยอยเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ประมาณ 5-7% ตลาดยางแนวโน้มเติบโตจากปีก่อน จากดีมานด์ยางในยุโรปและสหรัฐที่เริ่มฟื้นตัว จากการที่ลูกค้าได้ระบายสินค้าคงคลังจนกลับมาอยู่ในระดับปกติ ภาพรวมดีมานด์อุตสาหกรรมยางธรรมชาติดี แต่ยังต้องรอประเมินผลอีกครั้ง หลังจากผ่านเดือน มิ.ย. 2567 ว่าผลผลิตจะเป็นอย่างไร

ล่าสุด ศรีตรังฯได้ขยายศูนย์รับซื้อวัตถุดิบที่ประเทศไอวอรีโคสต์ เพื่อรองรับโรงงานยางแท่งแหล่งใหม่ และลงทุน 1,500-2,000 ล้านบาท ขยายกำลังการผลิตอีก 4 โรงงาน ใน จ.พิษณุโลก มุกดาหาร นราธิวาส และเมียนมา เพิ่มกำลังการผลิตจาก 3.62 ล้าน เป็น 3.86 ล้านตัน