ธรรมนัส ดันต่อขายคาร์บอนเครดิต หลังราคายางทุบสถิติ 90 บาท สูงสุด รอบ 85 เดือน

โฆษกเกษตรฯเผย ก.เกษตรฯเอาจริง ดันราคายางพาราดีขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดทะลุ 90 บาท สูงสุดในรอบ 85 เดือน เดินหน้าตามนโยบายรัฐบาลเศรษฐา “ธรรมนัส” คุมเข้มผลักดันขายคาร์บอนเครดิตในสวนยางไทย เพิ่มรายได้ชาวสวนยางกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท

วันที่ 13 มีนาคม 2567 นางสาวอัยรินทร์ พันธุ์ฤทธิ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ผ่ายการเมือง) เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคายางพาราในปัจจุบันดีดตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดราคายางที่ซื้อขายผ่านสํานักงานตลาดกลางยางพารา ของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) พุ่งทะลุ 90 บาทไปแล้ว ซึ่งราคาซื้อขายยางแผ่นรมควันอยู่ที่ 90.09 บาท/กก. ถือเป็นราคาสูงที่สุดในรอบ 85 เดือน (7 ปี 1 เดือน) โดยปรับตัวสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะยังคงอยู่ในทิศทางแนวโน้มขาขึ้นต่อไป

ด้านร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กําชับสั่งการให้นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย มุ่งดําเนินงานสนับสนุนให้เกิดการสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา นอกเหนือจากการผลิตยางธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ไม้ยางพารา

โดยสร้างแหล่งรายได้ให้กับเกษตรกรผ่านกระบวนการซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้สูงขึ้น ควบคู่ไปกับการรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม เป็นฐานการดูดซับก๊าชเรือนกระจกในภาคการเกษตร เพื่อบรรลุเป้าหมายที่รัฐบาลกําหนดไว้

ตามนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นําของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ และบรรลุเบ้าหมายการปล่อยก๊าซเรือน กระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ได้ในปี ค.ศ. 2065

ยางพาราที่เป็นไม้ยืนต้นที่มีความสามารถช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ จึงเป็นแนวทางเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรจากการขายคาร์บอนเครดิตในสวนยาง โดยหากคํานวณจากพื้นที่สวนยางในประเทศที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทยทั้งหมดกว่า 20 ล้านไร่ สามารถช่วยกักเก็บคาร์บอนได้ประมาณ 80 ล้านตัน

โดยใช้สูตรการคํานวณ แอลโลแมตรี ตามที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กําหนด คิดเป็นรายได้จากการขายคาร์บอนเครติต รวมเป็นมูลค่ากว่า 24,000 ล้านบาท (ราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตเฉลี่ย 300 บาทตัน)

โฆษก ก.เกษตรฯ เปิดเผยว่า ราคายางที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 7 ปี ถือเป็นการขับเคลื่อนแนวทางตามนโยบายของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถือเป็นผลงานในรอบ 6 เดือน ให้เกิดเป็นรูปธรรม ภายใต้นโยบาย “เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน” และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของเกษตรกรและประชาชนร่วมกันลดก๊าซเรือนกระจก สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี และเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนอันจะนําประเทศมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ