กองทุนประกันสภาพคล่องหด วอนรัฐอุ้ม-หวั่นกระทบจ่ายหนี้ 5 หมื่นล้าน

กองทุนประกัน

กองทุนประกันวินาศภัยสภาพคล่องใกล้หมด หวั่นไม่มีเงินจ่ายคืนหนี้ค้างจ่ายกว่า 5.1 หมื่นล้าน จากกรณีบริษัทประกันถูกเพิกถอนใบอนุญาต-เจ๊งโควิด วอนรัฐบาลยื่นมือช่วย หลังล่าสุด ยื่นเรื่องคลังขอกู้ก้อนแรก 3,000 ล้าน-แบงก์ไม่ยอมปล่อยกู้

นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปี 2566 (ข้อมูล ณ 23 พ.ย.) กองทุนประกันวินาศภัยได้มีการชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย 8 ราย ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตไปแล้วรวมทั้งสิ้น 107,143 กรมธรรม์ เป็นเงิน 7,493 ล้านบาท (ในจำนวนนี้มี 4 บริษัทที่ปิด จากกรณีรับประกันโควิด-19)

โดยเฉพาะปีนี้มีการชำระหนี้ไปแล้ว 79,317 กรมธรรม์ เป็นเงิน 4,361 ล้านบาท คาดว่าถึงสิ้นปีนี้จะอนุมัติจ่ายหนี้ได้อีก 10,000 กรมธรรม์ ขณะที่ตอนนี้กองทุนเหลือเงินสภาพคล่องสำหรับจ่ายหนี้ 350 ล้านบาท

โดยแผนในปี 2567 ตามที่คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) ได้อนุมัติเพิ่มเงินสมทบเข้ากองทุนเต็มเพดานตามกฎหมายกำหนดที่ 0.5% จากเดิมเก็บอยู่ 0.25% จากเบี้ยประกันภัยที่บริษัทประกันวินาศภัยได้รับ ทำให้ในปี 2567 เป็นต้นไป เงินสมทบเข้ากองทุนจะขยับมาอยู่ที่ปีละ 1,200-1,300 ล้านบาท ซึ่งการนำส่งเงินจะแบ่งเป็น 2 รอบ คือ สิ้นเดือน ม.ค. และสิ้นเดือน ก.ค. ของทุกปี เพื่อนำไปทยอยจ่ายคืนหนี้ ที่ปัจจุบันมีหนี้ค้างจ่ายรวม 51,154 ล้านบาท จำนวน 599,767 กรมธรรม์

“ถึงตอนนี้กองทุนยังไม่เห็นแสงสว่างตรงไหนเลย เพราะยังไม่เห็นท่าทีของรัฐบาล หรือหน่วยงานกำกับ และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ที่จะพูดคุยกัน ว่าจะร่วมกันแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งถ้าไม่มีรัฐบาลเข้ามาสนับสนุน และกองทุนยังหาแหล่งเงินทุนไม่ได้ คาด
ได้เลยว่าในปี 2567 จะจ่ายหนี้ได้ตามรายได้ที่ได้รับ นั่นคือแค่ปีละ 1,200-1,300ล้านบาท ซึ่งไม่สัมพันธ์กับหนี้ค้างจ่ายที่สูงมาก”

ตาราง กองทุนประกันวินาศภัย

อย่างไรก็ดี ในปีหน้ากองทุนจะเร่งรัดการตรวจพิสูจน์คำขอรับชำระหนี้ให้ได้ 10,000 กรมธรรม์/เดือน จากปีนี้ตรวจได้ราว 8,000 กรมธรรม์/เดือน และหากมีแหล่งเงินเข้ามาก็ทยอยจ่ายได้เลย

“ปัจจุบันเราทำทุกทางเพื่อหาเงินเท่าที่กฎหมายกำหนดให้ทำได้ โดยกองทุนได้เสนอแผนจัดหาแหล่งเงินหลายแพ็กเกจให้กับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ไปเรียบร้อยแล้ว เพื่อขอกู้เงินก้อนแรก 3,000 ล้านบาท แต่ตอนนี้ยังไม่มีธนาคารไหนให้กู้ เพราะรายได้ไม่สัมพันธ์กับเงินกู้ยืม

ขณะเดียวกันก็ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังสำนักงบประมาณ เพื่อขอหารือเรื่องเงินสนับสนุนจากรัฐบาลตามที่กฎหมายระบุไว้ เพื่อให้ความเชื่อมั่นและเป็นหลักประกันทีความคุ้มครองประชาชนที่ใช้บริการสถาบันการเงิน”

นอกจากนี้ ได้มีการพูดคุยถึงการแก้ไขกฎหมาย เพื่อเพิ่มอัตราเงินสมทบเป็นการชั่วคราว ไปอยู่ที่ระดับ 2% เพื่อให้กองทุนมีเงินสภาพคล่องประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท/ปี ในการทยอยจ่ายหนี้ได้ ซึ่งช่วยทำให้กองทุนมีเครดิตในการกู้เงิน

โดยกองทุนสามารถจะมาออกตราสารทางการเงินให้บริษัทประกันภัยซื้อลงทุน และสามารถนำไปดำรงเป็นเงินกองทุนของบริษัทได้ ซึ่งเชื่อว่าแนวทางนี้จะเป็นการดูแลอย่างครบวงจร และเยียวยาเจ้าหนี้ได้เร็ว แต่ขณะนี้ยังเดินไปไม่ถึงจุดนั้น

“ปีนี้กองทุนจะส่งบริษัทสัจจะประกันภัยเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย และปีหน้าจะส่งบริษัทเจ้าพระยาประกันภัยต่อไป ดังนั้น ใครที่มีหนี้สินให้รีบเคลียร์ เพราะหลังจากนั้นแล้ว จะต้องไปขอเฉลี่ยทรัพย์กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย”