สินมั่นคง ธุรกิจกงสี “ดุษฎีสุรพจน์” พลาดท่าพิษโควิด จับตามรดกหนี้ กปว.

สินมั่นคง

สินมั่นคงประกันภัย ธุรกิจกงสี “ดุษฎีสุรพจน์” 72 ปีอยู่คนไทย มรดกตกทอดสู่รุ่นที่ 3 พลาดท่าพิษโควิด จับตามรดกหนี้กองทุนประกันวินาศภัย 8 หมื่นล้าน

วันที่ 16 ธันวาคม 2566 ต้องยอมรับว่าผลกระทบจากกรณีการขายประกันภัยโควิด-19 แบบ “เจอจ่ายจบ” ที่กลายเป็นระเบิด ทำให้บริษัทประกันวินาศภัยที่ขายกรมธรรม์ประเภทนี้ ประสบปัญหาวิกฤตสภาพคล่องจนต้องปิดกิจการไปแล้ว 4 บริษัท ประกอบด้วย

  • เอเชียประกันภัย
  • เดอะวัน ประกันภัย
  • อาคเนย์ประกันภัย
  • ไทยประกันภัย

และเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 การต่อสู้ของบริษัทสินมั่นคงประกันภัย ในการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ “ก็ไม่สำเร็จ” เพราะเจ้าหนี้ไม่ยอมรับแผน และกรมบังคับคดีได้ประกาศคดีสินมั่นคงประกันภัย ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตามมาตรา 90/48 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483

ดังนั้นอำนาจหน้าที่ในการจัดกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้กลับเป็นของผู้บริหารของลูกหนี้ และสภาวะพักการชำระหนี้ (Automatic Stay) สิ้นสุดลง มาตรา 90/74 และ 90/12 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483

ขณะที่ทางบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK ได้โพสต์ประกาศแจ้งบนเว็บไซต์ของบริษัท ระบุว่า ประกาศการหยุดรับประกันภัย โดยบริษัทขอให้ทุกท่านทราบว่า บริษัทมีความจำเป็นต้องหยุดรับประกันภัยทุกประเภททันที

ซึ่งดูแนวโน้มแล้วตามขั้นตอนกระบวนการที่ผ่านมา ๆ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จะมีคำสั่งตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ให้บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว และหากไม่ดำเนินการแก้ไขฐานะการเงิน หรือไม่มีผู้เพิ่มทุน

ADVERTISMENT

ก็คาดว่าจะอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 59 (1) (2) (4) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยเป็นมาตรการสูงสุด ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีคำสั่งกระทรวงการคลัง สั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย

วันนี้ ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมข้อมูลประวัติบริษัทสินมั่นคงประกันภัย และอัพเดตภาระหนี้ของบริษัทสินมั่นคงประกันภัย ที่ทางกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) จะเป็นผู้ชำระบัญชีจ่ายหนี้ ภายหลังสำนักงาน คปภ. มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต

ADVERTISMENT

สินมั่นคง ธุรกิจกงสี “ดุษฎีสุรพจน์” 72 ปีอยู่คู่คนไทย

บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หนึ่งบริษัทประกันภัยที่ก่อตั้งและอยู่คู่คนไทยมาร่วม 72 ปี ดำเนินธุรกิจด้านการบริการรับประกันวินาศภัย 4 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ ประกันภัยรถยนต์ ประกันอัคคีภัย ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง และประกันภัยเบ็ดเตล็ด มีพอร์ตรับประกันรถยนต์ใหญ่สุด

มีศูนย์บริการ 4 แห่ง สาขาหลัก 63 แห่ง และสาขาย่อยอีก 102 แห่ง ทั่วประเทศ เป็นบริษัทประกันวินาศภัยแรกที่ได้รับความไว้วางใจให้จดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อปี 2534

เริ่มดำเนินธุรกิจตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2494 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 2 ล้านบาท ภายใต้ชื่อ บริษัท บ้วนฮงเซ้งประกันภัย จำกัด และต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น สินมั่นคงประกันภัย โดยได้เพิ่มทุนอย่างสม่ำเสมอ จนมีมีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท

ปัจจุบัน นายเรืองวิทย์ ดุษฎีสุรพจน์ นั่งเก้าอี้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ โดยได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2539 เป็นอีกหนึ่งนักธุรกิจที่มีความสามารถและประสบการณ์จากหลายองค์กร อีกทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา แต่ดำรงตำแหน่งได้ไม่ถึง 1 เดือนก็ได้ลาออกจากตำแหน่ง

และมีนายเรืองเดช ดุษฎีสุรพจน์ นั่งเก้าอี้ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ

ในส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของสินมั่นคงประกันภัย (ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์) ปรากฏชื่อ คือ บริษัท ดุษฎีสุรพจน์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจใหญ่ของตระกูล “ดุษฎีสุรพจน์” โดยถือหุ้นจำนวน 50,037,760 หุ้น สัดส่วน 25.02%

สินมั่นคงประกันภัย มรดกตกทอด รุ่นที่ 3

แหล่งข่าววงการประกันวินาศภัย เคยเล่ากับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทสินมั่นคงประกันภัย เป็นธุรกิจกงสีของคนจีน ตระกูล “ดุษฎีสุรพจน์” ที่ก่อร่างสร้างตัวมาตั้งแต่รุ่นพ่อ ซึ่งเริ่มทำธุรกิจประกันภัยมาตั้งแต่ต้น และเป็นมรดกตกทอด สู่รุ่นที่ 3 หลังจากพ่อเสีย

มาถึงยุครุ่นลูก “เรืองวิทย์ ดุษฎีสุรพจน์” ก็ขึ้นเป็นประธานบริษัทสินมั่นคงประกันภัย ซึ่ง “เรืองวิทย์ ดุษฎีสุรพจน์” เเป็นนักธุรกิจที่มีประสบการณ์ในการบริหารองค์กรหลายแห่ง เช่น เคยเป็นประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน)

แต่เมื่อเจอวิกฤตโควิด บริหารผิดพลาดจนต้องควักกำไรสะสมที่มีมาจ่ายสินไหมไปแล้วกว่า 11,875 ล้านบาท และเคลมในระบบอีกกว่า 30,000 ล้านบาท จนมีปัญหาสภาพคล่องไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ เคลมให้กับผู้เอาประกันได้

จนต้องยื่นขอเข้าแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เหมือนกรณีบริษัทอาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัยของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี แต่เคสนั้นจะไม่ได้เริ่มต้นทำธุรกิจมาจากศูนย์ เป็นการเทกโอเวอร์ธุรกิจของต่างชาติมา

โดยเมื่อก่อนก็จะมี royal & sun ธุรกิจประกันของอังกฤษ ถือหุ้นอยู่และอยากจะซื้อหุ้น 100% แต่ตอนนั้นตระกูล “ดุษฎีสุรพจน์” ไม่ได้ขาย จนกระทั่งช่วงหนึ่งเกือบ 20 ปีที่แล้ว royal & sun ได้ขายหุ้นออกไปหมด

หนี้ 3 หมื่นล้าน เจ้าหนี้ 3 แสนราย

สำหรับยอดภาระหนี้ของบริษัทสินมั่นคงประกันภัย อ้างอิงข้อมูลเจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้นื้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (ณ วันที่ 20 เมษายน 2566) พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 295,320 ราย รวมเป็นมูลหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้จำนวน 29,273.50 ล้านบาท

ขณะที่ท่าทีของเจ้าหนี้ประกันภัยโควิดของบริษัทสินมั่นคงประกันภัย พบว่าเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ในเพจเฟซบุ๊ก “รวมตัวฟ้องสินมั่นคง หากยกเลิกประกันโควิด” ต่างเข้ามาคอมเมนต์และแชร์ข้อมูลต่าง ๆ กันอย่างมากมาย โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมเอกสาร หากต้องไปยื่นเรื่องที่กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) จึงขอสรุปรายละเอียดให้คร่าว ๆ ดังนี้

เตรียมพร้อมเอกสารยื่น กปว.

1.แบบฟอร์มคำทวงหนี้ เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย
2.ใบรับรองแพทย์ (ต้นฉบับ) / สำเนาต้องมีตราปั๊มของโรงพยาบาล
3.ผลตรวจการติดเชื้อด้วยวิธี RT-PCR (ต้นฉบับ)
4.สำเนาประวัติการรักษาพยาบาล (ถ้ามี)
5.กรมธรรม์ประกันภัย (ที่ซื้อ) / สำเนาตารางกรมธรรม์ (เซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง)
6.สำเนาบัตรประชาชน (เซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง)
7.สำเนาสมุดบัญชีธนาคาร (เซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง)
8.หนังสือมอบอำนาจ ติดอากรแสตมป์ 30 บาท (กรณีไม่ได้ยื่นด้วยตนเอง) พร้อมเขียนระบุว่า “ให้มีอำนาจยื่นคำทวงหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัย ผู้ชำระบัญชี บริษัท..(ระบุ).. เพื่อเรียกร้อง ค่า …(ระบุ)…”
9.สำเนาบัตรประชาชน ผู้มอบอำนาจ และ ผู้รับมอบอำนาจ (เซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง) (กรณีไม่ได้ยื่นด้วยตนเอง)
10.ถ้าเด็กยังไม่บรรลุนิติภาวะ (ยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์) ให้มารดา/บิดา ชอบด้วยกฎหมายทำแทน ไม่ต้องมอบอำนาจ พร้อมสำเนาสูติบัตร / สำเนาทะเบียนสมรส (ถ้ามี)
11.ใบคำแถลง/ใบสละสิทธิ์ (เฉพาะเคสเด็ก)

มรดกหนี้ 8 หมื่นล้าน

ขณะที่บทบาทของกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) ถูกจัดตั้งขึ้นโดยกฎหมาย (เหมือนกับสถาบันประกันเงินฝาก ของธนาคารพาณิชย์) ที่ต้องการคุ้มครองผู้เอาประกันภัยรายย่อย กรณีที่บริษัทประกันภัยถูกสำนักงาน คปภ. สั่งปิดกิจการ โดยจะคุ้มครองให้ในวงเงินคนละไม่เกิน 1 ล้านบาท

สำหรับแหล่งที่มาของเงินกองทุนนั้น ทาง กปว. จะเรียกเก็บเงินสมทบจากเบี้ยประกันภัยตรงของบริษัทประกันวินาศภัยเป็นรายไตรมาส อัตราเงินสบทบในปัจจุบัน 0.25% (ปี 2565 เบี้ยรวม 270,000 ล้านบาท X 0.25% = 675 ล้านบาท)

เท่าที่ทราบยอดเงินกองทุนฯ สิ้นปี 2565 จะมียอดสะสมอยู่ประมาณ 6,000 ล้านบาท

จากกรณีที่สำนักงาน คปภ. ได้สั่งปิด 4 บริษัท ได้แก่ เอเชียประกันภัย เดอะวันประกันภัย ไทยประกันภัย และอาคเนย์ประกันภัย ทำให้เงินกองทุนมีเงินไม่เพียงพอต่อการจ่ายค่าสินไหมโควิดต่อผู้เอาประกันภัย ซึ่งมีจำนวนกว่า 51,000 ล้านบาท

ทางคณะกรรมการกองทุน มีสิทธิใช้มติขอกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินของรัฐหรือเอกชนได้หรือไม่ เป็นคำถามที่ผู้บริหารกองทุนฯ ต้องตอบโจทย์นี้

ส่วนการคืนเงินกู้และดอกเบี้ยในอนาคต คณะกรรมการกองทุนสามารถพิจารณาปรับอัตราเงินสมทบ เพิ่มจาก 0.25% เป็น 0.5% ตามขั้นสูงสุดได้ ซึ่งบอร์ด คปภ.อนุมัติไปแล้ว จะเริ่มมีผลช่วงต้นปี 2567

โดยหากรวมภาระสินไหมโควิดของบริษัทสินมั่นคงอีกราว 30,000 ล้านบาท กปว. จะมียอดหนี้ที่ต้องรับผิดชอบต่อผู้เอาประกันภัยโควิดรวม 80,000 ล้านบาท