ผู้ว่าการแบงก์ชาติ สัมภาษณ์ CNBC ย้ำตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยอย่างอิสระ

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ผู้ว่าการแบงก์ชาติให้สัมภาษณ์ซีเอ็นบีซี ยืนยันดำเนินนโยบายดอกเบี้ยอย่างเป็นอิสระ การตัดสินใจมาจากพื้นฐานที่เห็นว่าเหมาะสมสำหรับเศรษฐกิจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผ่านสำนักข่าว CNBC ว่า แรงกดดันทางการเมืองไม่สามารถบีบบังคับให้ ธปท. เปลี่ยนแปลงการตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยอย่างไม่เป็นอิสระ

“เรื่องนี้พิสูจน์ให้เห็นได้จากผลลัพธ์” เศรษฐพุฒิกล่าว เพราะแม้ว่าจะมีเสียงเรียกร้องให้ลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง แต่ ธปท. ไม่ได้ตัดสินใจจากคำเรียกร้องนั้น และยังสามารถตัดสินใจได้อย่างอิสระ

“ผมคิดว่ากรอบธรรมาภิบาลในการกำกับดูแลในเรื่องนี้ค่อนข้างชัดเจน การตัดสินใจที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่ามีพื้นฐานมาจากที่เราเห็นว่าเหมาะสมที่สุดสำหรับเศรษฐกิจ มากกว่าการพิจารณาที่จะช่วยลดแรงกดดันทางการเมืองหรือแรงกดดันอื่น ๆ”

ล่าสุด ธปท. ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยไว้ที่ 2.5% ต่อปี สำหรับการประชุมเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา ในขณะที่กำลังเผชิญแรงกดดันจากฝั่งรัฐบาลที่อยากจะให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แสดงออกถึงความกังวลเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น และตระหนักถึงการผ่อนชำระหนี้

Advertisment

“หนี้ที่อยู่ในระดับสูงอาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากหนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต หรือไม่ได้ช่วยเพิ่มความมั่งคั่ง” คำแถลง กนง.ระบุ

นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า สำหรับ ธปท. ในการสร้างสมดุลที่ยากลำบาก ระหว่างการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายการเงิน

“หากพิจารณาถึงสาเหตุที่ทำให้การเติบโตเศรษฐกิจชะลอตัวลง ปัจจัยหลักไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญกับอัตราดอกเบี้ย” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันเป็นระดับที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และสอดคล้องกับความพยายามที่จะลดภาระหนี้อย่างเป็นระบบ โดยเป็นการสร้างสมดุลเพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มภาระหนี้ให้กับครัวเรือนมากเกินไป ขณะเดียวกันก็ไม่ได้กระตุ้นให้ประชาชนก่อหนี้เพิ่มด้วยเช่นกัน

Advertisment

โดยรายงานล่าสุดของ ธปท.คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.6% ในปี 2567 และ 3.0% ในปี 2568 โดยได้รับแรงสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว

แม้แรงกดดันจากเงินเฟ้อจะลดลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่ผู้ว่าการแบงก์ชาติมองว่า “เราเห็นเงินเฟ้อค่อย ๆ เพิ่มขึ้นอีกครั้ง และค่อย ๆ กลับเข้าสู่เป้าหมายของเราที่ 1-3% ภายในสิ้นปีนี้”

โดยปัจจัยเชิงโครงสร้างทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน สิ่งสำคัญคือการเพิ่มประสิทธิผล เนื่องจากประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายของโครงสร้างประชากร โดยเฉพาะแรงงานที่กำลังลดลง
จำเป็นต้องให้ความสำคัญที่มากขึ้นกับการลงทุนภาครัฐมากกว่าการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น

“สิ่งสำคัญมากคือการให้ความสำคัญกับการยกเลิกกฎระเบียบบางอย่าง รวมถึงการมุ่งส่งเสริมเรื่องความสะดวกต่อการดำเนินธุรกิจ (Ease of Doing business)” นายเศรษฐพุฒิกล่าว