แบงก์แห่ตัดขาย “หนี้เสียเช่าซื้อ” รถยึดล้นตลาด-ราคาร่วง 50%

แอพเพิล ออคชั่น ประมูลรถยนต์
อัพเดตล่าสุด 4 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.58 น.

ธุรกิจรับซื้อหนี้เสียจับสัญญาณแบงก์เทขายหนี้เสียเช่าซื้อรถพุ่ง คุณภาพหนี้ด้อยลง-เจอปัญหาขาดทุนรถยึด “BAM” ประเมินแบงก์ตัดขายหนี้เสียปี’67 ทะลุแสนล้านบาท ชี้เทรนด์แบงก์แห่ตัดขายพอร์ตหนี้เช่าซื้อรถแทนการยึดรถ เผยไม่คุ้มขายทอดตลาดมูลค่าเหลือ 50% รถยึดล้นลานประมูล

แบงก์ขายตัด NPL ทะลุ 1 แสนล้าน

นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมการตัดขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในปี 2567 คาดว่ายอดขายจากทุกสถาบันการเงินจะทะลุเกิน 1 แสนล้านบาท จากเดิมจะเห็นการตัดขายหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 6-7 หมื่นล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ดี แม้ว่าปี 2566 ที่ผ่านมามีการเสนอขายหนี้เสียออกมาขายเกิน 1 แสนล้านบาท แต่จะเห็นสถาบันการเงินดึงทรัพย์กลับคืนราว 4-5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากราคาต่ำกว่าที่ต้องการ จึงเก็บทรัพย์และนำมาขายในปีนี้แทน

ADVERTISMENT

ขณะที่แนวโน้มหนี้เสียก้อนใหม่ในปี 2567 อาจจะมีทิศทางปรับลดลงกว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจระหว่างทางปรับดีขึ้น คนมีกำลังซื้อที่ดีขึ้น และหากทิศทางอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทยอยส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยในครึ่งหลังปี 2567 อาจทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับลดลงตาม ส่งผลให้แรงกดดันต่อภาระหนี้ลดลงได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจระหว่างทาง เพราะปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ยังคงมีอยู่

เดินหน้าตั้งบริษัท JV AMC

นายบัณฑิตกล่าวว่า สำหรับแนวทางการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนบริหารสินทรัพย์ หรือ JV AMC ยังคงให้ความสำคัญกับนโยบายนี้ เนื่องจากเป็นวิธีการบริหารจัดการหนี้ในช่วงที่ปริมาณหนี้ในระบบค่อนข้างมาก ซึ่งบริษัทได้มีการพูดคุยกับสถาบันการเงินหลายแห่งทั้งรัฐและเอกชน รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อพูดคุยถึงหลักการและเหตุผล และความเป็นไปได้ของโครงการ เพราะทั้งสององค์กรจะต้องได้ประโยชน์ โดยสามารถต่อยอดธุรกิจและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างเสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจไทย

“เรายังเห็นถึงความสำคัญของการร่วมทุน JV AMC ที่จะช่วยพลิกฟื้นหนี้ในระบบในภาวะที่มีหนี้ค่อนข้างเยอะ ซึ่งเรามีการพูดคุยกันหลายเจ้า ซึ่งจะต้อง Win ทั้งสองฝ่าย อาจจะเริ่มจากไซซ์ขนาดเล็กก่อน เป็น Pilot และค่อยต่อยอดกันไป หากลงทุนก้อนใหญ่จะยาก เราไม่อยากให้เป็นโปรเจ็กต์ไฟไหม้ฟาง ซึ่งจะไม่ดีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เราอยากเห็นการเติบโตมั่นคงยั่งยืน ซึ่งคาดว่าภายในไตรมาสที่ 1-2 น่าจะเริ่มเห็นการฟอร์มชุดทำงานในเรื่องนี้”

ADVERTISMENT

ตัดขายพอร์ต “หนี้เสียรถ” พุ่ง

ขณะที่นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่สะสมหมุนเวียนอยู่ในระบบอยู่ที่ราว 5-6 แสนล้านบาท คาดว่าปีนี้ระบบสถาบันการเงินจะมีการตัดขายหนี้ออกมาราว 1.5-2 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี ประเภทหนี้ที่มีการตัดขายออกมาในปีนี้ จะเห็นหนี้ประเภทสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และชัดเจนขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากความสามารถในการชำระหนี้ด้อยลง ทำให้คุณภาพลูกหนี้กลุ่มนี้แย่ลงจากเดิมมากขึ้น รวมถึงหนี้กลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อม (SSMEs) ที่ยังไม่ฟื้นตัวจากโควิด-19 ทยอยเป็นหนี้เสียมากขึ้น ขณะที่กลุ่มสินเชื่อไม่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงมีการตัดขายต่อเนื่อง

ADVERTISMENT

สำหรับแผนการรับซื้อหนี้มาบริหารของบริษัทในปีนี้ บริษัทได้เตรียมเงินลงทุนราว 1,000-2,000 ล้านบาท คาดมูลหนี้อยู่ที่ราว 1 หมื่นล้านบาท โดยจะเป็นหนี้ที่มีหลักประกันประมาณ 70% หรือมูลค่าราว 700-800 ล้านบาท และไม่มีหลักประกัน 30% หรือราว 200 ล้านบาท ส่งผลให้พอร์ตหนี้ภายใต้การบริหารคงค้างภายในสิ้นปี 2567 อยู่ที่ 1.1 แสนล้านบาท จากสิ้นปี 2566 อยู่ที่ราว 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน 73-75% และไม่มีหลักประกันราว 27-28%

“จำนวนหนี้ที่จะไหลออกมานั้น จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ และการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินด้วย เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมาตรการส่งเสริมให้ธนาคารช่วยเหลือลูกหนี้ในการปรับโครงสร้างหนี้ก่อนตัดขายชำระหนี้ ทำให้ความจำเป็นในการเร่งขายออกมาในตลาดจะลดลง ประกอบกับการก่อหนี้เริ่มชะลอลง จากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร แต่หนี้ที่ไหลออกมาปีนี้ที่จะเด่นสุดจะเป็นสินเชื่อเช่าซื้อที่เร่งตัวสูงขึ้น”

รถยึดขายทอดตลาดราคาร่วง

นายประชา ชัยสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ CHASE เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มการตัดขายหนี้เสียของสถาบันการเงินในปี 2567 น่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน แต่จะเห็นหนี้กลุ่มเช่าซื้อรถยนต์ปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งมาจากคุณภาพสินเชื่อและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้อยลง

ขณะเดียวกัน จากแนวโน้มราคารถมือสองปรับลดลง และรถยึดที่ไหลเข้ามาจำนวนมาก และรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เข้ามาทำตลาดมีการปรับลดราคา ทำให้ความต้องการซื้อรถมือสองลดลง ซึ่งจากทิศทางดังกล่าวสถาบันการเงินจึงเน้นตัดขายหนี้แทนการยึดรถ เนื่องจากการยึดรถจะทำให้ขาดทุนจากการขาย เพราะเดิมยึดรถมาขายทอดตลาด จากเดิมเคยขายได้ 70% ของราคาหลักประกัน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 50% ของราคาหลักประกัน ส่งผลให้สถาบันการเงินจะใช้วิธีเร่งตัดขายหนี้จะดีกว่าการตามยึดรถลูกหนี้ โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการตัดขายให้บริษัท บริหารสินทรัพย์ (AMC) ในช่วงไตรมาสที่ 2/2567 มากขึ้น

“จากการส่งสัญญาณการตัดขายหนี้รถยนต์ที่จะมีมากขึ้นตามหนี้เสียที่เร่งตัวขึ้นของสถาบันการเงิน เราจึงตั้งเป้างบฯ ลงทุนรับซื้อหนี้ไว้ 1,000 ล้านบาท มูลหนี้ราว 1-2 หมื่นล้านบาท โดยพยายามเข้าไปดูพอร์ตเช่าซื้อและสินเชื่อบุคคลให้สมดุลตามทิศทางการตัดขายหนี้ที่ไหลออกมาในระบบ คาดว่าเช่าซื้อจะอยู่ที่สัดส่วนราว 50% ของพอร์ตรับซื้อหนี้”