“ศุภวุฒิ” เตือนดอกเบี้ยสูงกระทบเศรษฐกิจแรงกว่าแบงก์ชาติคิด

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทรและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ

ดร.ศุภวุฒิ เตือนเศรษฐกิจไทย 2567 ระวังความเสี่ยงกำลังซื้อจากต่างประเทศชะลอ-ส่งออกไทยเจองานหนักต้องแข่งกับจีน ชี้ดอกเบี้ยไทยอยู่ระดับค่อนข้างสูง-เงินเฟ้อต่ำ ตั้งข้อสังเกตผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาจรุนแรงกว่าที่ ธปท. คิดไว้

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า หากดูในภาพรวมของเศรษฐกิจโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับการคาดการณ์ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ปีนี้ ว่าโลกจะโตเกิน 3% ซึ่งโดยปกติแล้ว GDP ไทยจะโตต่ำกว่า GDP โลกเพียงนิดเดียวในช่วงหลัง ฉะนั้น ก็อาจจะมองได้ว่าเป็นข่าวดีของไทย

อย่างไรก็ตาม มองว่า สิ่งที่ต้องระมัดระวังและให้ความสำคัญ เป็นกําลังซื้อจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเรื่องของการส่งออก หรือนักท่องเที่ยว โดยในปีที่ผ่านมาเห็นว่ายังไม่ได้มีการขับเคลื่อนดีมากนัก และในครึ่งแรกของปีนี้ ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะมีกำลังซื้อจากต่างประเทศมากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็จะเป็นความเสี่ยงหลักในไทย และมองว่ารัฐบาลก็น่าจะทำได้ค่อนข้างยาก

“หากถามว่ารัฐบาลทำอะไรได้มากแค่ไหนในเรื่องของกําลังซื้อต่างประเทศ ก็ค่อนข้างจะยาก เพราะว่ามีแรงกดดันอย่างจากจีนที่อาจจะขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเหมือนกัน เพราะกําลังซื้อภายในแผ่วลง จากปัญหาของภาคอสังหาริมทรัพย์”

ขณะที่ส่งออกขับเคลื่อนได้ยากส่วนใหญ่เพราะโครงสร้างพื้นฐานและไทยไม่มีความสามารถในการแข่งขัน หรือเป็นเพราะดอกเบี้ยสูงเกินไปหรือเปล่าเหมือนกับที่มีคนตั้งคำถาม เพราะว่าหากดอกเบี้ยสูง ก็จะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น รวมถึงอาจจะกระทบการท่องเที่ยวด้วย

“ในระยะสั้นสำหรับผู้ประกอบการ เรื่องของต้นทุน อย่างเช่น ดอกเบี้ย ค่าเงินบาทที่ใกล้จะแข็งค่าขึ้น ส่งผลสำหรับกำลังใจในระยะสั้นและความมั่นใจที่จะขับเคลื่อนต่อไป”

ดร.ศุภวุฒิ กล่าวอีกว่า ในอดีต 5 ปีก่อนโควิค-19 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับประมาณ 1.7% ทำให้เงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่แค่ 0.6% ต่ำกว่าเป้าของแบงก์ชาติที่ตั้งไว้ 1-3% อย่างต่อเนื่อง ผลที่ตามมาก็คือกําลังซื้อในประเทศแผ่วลง

เห็นได้ชัดจากที่ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาก ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่า ส่งผลกระทบผู้ที่ทำการส่งออก และจะเห็นเงินทุนสำรองที่เพิ่มขึ้น โดยไม่ได้นำมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับคนไทยสะท้อนให้เห็นว่าถ้าดอกเบี้ยจริงเกินกว่า 1% เหมือนสูงเกินไป ขณะที่ปัจจุบันเงินเฟ้ออยู่ไม่เกิน1% อาจติดลบด้วยซ้ำ แต่ดอกเบี้ย 2.5% ฉะนั้นดอกเบี้ยนโยบายสูงค่อนข้างมากแล้ว ก็กระทบกับเศรษฐกิจ สงสัยว่าจะแรงกว่าที่แบงก์ชาติคิด

“เงินเฟ้อติดลบตั้งนานแล้ว ไปขึ้นดอกเบี้ยทําไม ผมถามว่า ต้องรอให้เรือไททานิค ชนภูเขาน้ำแข็งก่อนหรือ ผมไม่แน่ใจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องทำงานร่วมกัน แม้ว่าแบงก์ชาติจะยืนยันว่า มีความอิสระในการดำเนินโยบายการเงิน แต่ปกติแล้วคุณอยู่ในเรือลําเดียวกัน แล้วคุณจะบอกว่าขอมีอิสระ แต่อยู่ในเรือลำเดียวกันมันก็ฟังแปลก”

ขณะที่ GDP ไทยที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ออกมาล่าสุด หากดูจากการผลิตเห็นภาพว่าไม่ค่อยดี เพราะภาคการผลิตอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของภาคการผลิต และไทยวิกฤตหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าถามใคร ซึ่งมีประชาชนหลายคน ที่เขารายได้น้อยแล้วดอกเบี้ยขึ้น ก็คิดว่าวิกฤตสำหรับเขาด้วย

สำหรับประเด็นที่เม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) ที่ไหลออกไทยนั้น ดร.ศุภวุฒิ กล่าวว่า มองว่าเป็นเงินระยะสั้นที่เข้าออกได้เร็ว โดยขึ้นอยู่กับความมั่นใจในระดับหนึ่งซึ่งระยะหลังจะเห็นว่าเงินไหลออกแสดงว่าความมั่นใจมีน้อยทั้งสำหรับตราสารหนี้และตราสารทุน ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นแบบนี้มานานแล้ว

“หุ้นไทย 5 ปีที่ผ่านมาแทบจะไม่ได้ผลตอบแทนเป็นบวกเลย ต้องยอมรับว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานที่เรายังแก้ไม่ตก และจะมีวิธีแก้อย่างไร วิธีแก้อันนึงที่เห็นได้ชัด คือความสามารถในการชักชวนเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนโดยตรง พร้อมกับเทคโนโลยี และความสามารถความเชี่ยวชาญของเขาในการสร้างโรงงาน สร้างงาน สร้างกําลังการผลิตในอนาคต”