ศุภวุฒิ ตีโจทย์นโยบายรัฐบาลใหม่ ปมขึ้นค่าแรง-รีดภาษี หนี้เสีย 1 ล้านล้าน

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ปรากฏชื่อเป็นแคนดิเดตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในโควตาของ “พรรคเพื่อไทย” เพราะเขาเป็น 1 ใน ทีมที่ปรึกษา คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจของพรรคในช่วงหาเสียง ของพรรค ตั้งแต่ต้น

ล่าสุด การจัดตั้งรัฐบาลยังไม่สะเด็ดน้ำ “ประชาชาติธุรกิจ” นัดสัมภาษณ์พิเศษ กับเขาในฐานะกูรูเศรษฐกิจ ที่ปัจจุบันมีตำแหน่งอย่างเป็นทางการ คือ “ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร” เพื่อพิเคราะห์ นโยบายเศรษฐกิจของ 2 พรรค ว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลใหม่ 

กะเทาะนโยบายเศรษฐกิจ 2 พรรค

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า นโยบายของพรรคก้าวไกลกับเพื่อไทย มีความตั้งใจดีเหมือนกัน คืออยากให้เศรษฐกิจขยายตัวดี และลดความเหลื่อมล้ำ แต่ถ้าจะให้ประเมินความแตกต่าง คือ เพื่อไทยพูดถึงนโยบายประชานิยม ที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ หรือว่าเข้าไปช่วยในบางภาคส่วน เช่น พูดถึงการพักชำระหนี้ หรือการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยดิจิทัลวอลเลต

ส่วนพรรคก้าวไกลไปไกลกว่า คือไปสู่รัฐสวัสดิการ โดยบอกว่ารัฐบาลจะดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย มีความชัดเจนว่าจะช่วยตั้งแต่เกิด ถึงช่วงเรียนหนังสือ หรือช่วยเหลือระหว่างทำงาน และที่สำคัญคือช่วยเหลือเมื่อคุณสูงอายุ นโยบายเหล่านี้รวมกันจะใช้เงินประมาณปีละ 6.5 แสนล้านบาท พร้อมกับบอกว่าจะเก็บภาษีรายการใดบ้าง เพื่อนำมาใช้จ่ายสำหรับรัฐสวัสดิการเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม วิธีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทั้งสองพรรคไม่ได้แย้งกัน แต่ในเชิงแนวคิด พรรคเพื่อไทยมีแนวคิดให้รัฐเป็นผู้ช่วยจุดพลุ ให้รัฐบาลเป็นลูกน้องช่วยผลักดันคนไทย ธุรกิจไทยลงมือทำเอง ซึ่งเมื่อทำเองก็จะดันให้เศรษฐกิจโต ผู้ประกอบการก็มีรายได้ดี ส่วนรัฐบาลก็สามารถเก็บภาษีได้

“แนวคิดของเพื่อไทย รัฐบาลจะเป็นลูกมือเสมอ รัฐบาลอาจช่วยกรุยทางข้างหน้าให้หน่อย แล้วก็ว่ากันไป แต่สำหรับพรรคก้าวไกล บอกว่าไม่ใช่ เขาจะเป็นรัฐสวัสดิการ ดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งมันต่างกันตรงนี้ แต่ถามว่าพอถึงเวลาเอามารวมกล้อมแกล้มได้ไหม ก็ต้องได้ เพียงแต่ต้องรู้ว่าจุด trade-off หรือจุดพอดีอยู่ตรงไหน”

“ขึ้นค่าแรง” ประเมินสถานการณ์ให้ถูก

อย่างเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ พรรคเพื่อไทยบอกว่าจะขึ้นค่าแรงเป็น 600 บาท ในอีก 4 ปีข้างหน้า เพราะมีแนวคิดว่าจะทำให้เศรษฐกิจดี ทำให้เศรษฐกิจโตปีละ 5% ขณะที่พรรคก้าวไกลบอกว่า จะจัดการเลยในฐานะรัฐบาล จะทำปีนี้เลยและคิดมาครบแล้วว่าต้องขึ้น 450 บาท และจะปรับขึ้นทุกปีด้วยตามสูตร

“เรื่องพวกนี้ขึ้นอยู่กับวิธีคิด แต่ที่สำคัญคือต้องประเมินสถานการณ์ให้ถูก”

เก็บภาษีต้องระวังฉุดเศรษฐกิจ

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า อยากให้อ่านบทวิเคราะห์ของธนาคารโลก (World Bank) ล่าสุด ที่แนะนำว่า ประเทศไทยเก็บภาษีน้อยไปแค่ 15% ของ GDP ควรจะเก็บเพิ่มอีก 5-6% ของ GDP และวิธีที่ธนาคารโลกแนะนำว่า จะเก็บภาษีให้ได้เยอะที่สุด โดยมีผลกระทบน้อยที่สุด คือการขึ้น VAT (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) และลดการยกเว้น VAT

“เหตุผลที่ธนาคารโลกเสนอเช่นนั้น เพราะ VAT คือภาษีบนการบริโภค จะไม่กระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่ถ้าไปเก็บภาษีบนกำไรของบริษัท คือการเก็บภาษีบนผลตอบแทนของการลงทุนเลย มันมีราคาสูง ที่จะทำให้เศรษฐกิจ หรือจีดีพีโตช้าลง”

เนื่องจากนโยบายดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนตายของพรรคก้าวไกล ต้องใช้เงิน ซึ่งเงินนั้นจะมาจากการเก็บภาษีหลัก ๆ เช่น เก็บภาษีที่ดินที่จะได้ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งทำได้ไม่ง่าย ยกตัวอย่างกรณีกรุงเทพมหานคร ที่เก็บภาษีที่ดินได้น้อยลง

เพราะในหลักการปัจจุบัน คือเก็บภาษีอัตราสูง สำหรับที่ดินที่ว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ แต่ที่ดินที่ใช้ประโยชน์เก็บภาษีต่ำ แต่กลายเป็นว่า ทำให้เก็บภาษีห้างสรรพสินค้าได้น้อยลง จากเดิมที่เก็บได้เยอะ

หรือการเก็บภาษีทุนรายใหญ่เพิ่มขึ้น เก็บภาษีทุนเล็กน้อยลง เก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้น (capital gain tax) เก็บภาษีจากการซื้อขายหุ้น (financial transaction tax) และเก็บภาษีที่เรียกว่า wealth tax คือ ถ้าคุณมีความมั่งคั่งสุทธิเกินกว่า 300 ล้านบาท ก็จะถูกเก็บภาษี 0.5% ต่อปี เป็นต้น

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า เรื่องเหล่านี้หมายถึงว่า รัฐจะเก็บภาษีแล้วอย่างน้อย ๆ 4 ชั้น และเป็นการเก็บภาษีพื้นฐานของกำไรจากการลงทุน โดยในเศรษฐกิจทุนนิยมที่พัฒนาได้ดี หลักคือจำเป็นต้องพึ่งพาการลงทุนเพื่อให้เศรษฐกิจโต และคนที่ร่ำรวยเหลือเงินจากการบริโภค จะนำเงินไปใช้ได้ 3 ทาง

คือ 1.ฝากธนาคาร ซึ่งธนาคารจะเป็นตัวกลางไปปล่อยกู้ให้คนไปลงทุนทำธุรกิจ และทำให้เศรษฐกิจโต 2.ลงทุนโดยตรง ทำธุรกิจเอง เศรษฐกิจก็โต และ 3.เข้าตลาดหุ้น ใช้ตลาดหุ้นเป็นตัวกลาง จัดสรรทรัพยากรให้กับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่จะมีทุนไปขยายกิจการ

“การเก็บภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ต้องระวังว่าจะไม่กระทบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพราะในระยะยาวแล้ว ถ้าจะแบ่งเค้ก ถ้าเค้กมันใหญ่ขึ้น มันแบ่งง่าย ฉะนั้นพรรคเพื่อไทยพยายามจะมองว่าทำยังไงให้เค้กโต แล้วรัฐบาลเก็บภาษี มีเงินมาเกลี่ยให้ผู้ด้อยโอกาส ส่วนนโยบายรัฐสวัสดิการบอกว่าต้องแบ่งเค้กก่อน มันจึงต่างกันตรงนี้ แต่ในทางปฏิบัติมันทำไปด้วยกันได้ ไม่ใช่ทำด้วยกันไม่ได้”

ช่วย SMEs ให้รอด หรือให้รุ่ง

อีกประเด็นคือ นโยบายเรื่องหวย SMEs หรือหวยใบเสร็จของพรรคก้าวไกล ซึ่งคาดว่าเป้าหมายของพรรคก้าวไกล คือ ช่วยให้ธุรกิจเศรษฐกิจ SMEs ขยายตัว แต่เรื่องนี้เหมือนช่วยให้เอสเอ็มอีรอด แต่คำถามคือ เราต้องการให้เอสเอ็มอีรุ่ง ไม่ใช่หรือ

“ผมเข้าใจว่าผู้ประกอบการทุกคนต้องการแบบนั้น เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้เขาก้าวข้ามความเป็น SMEs ได้ ซึ่งปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ เขาต้องออกไปสู่ตลาดโลก ยกตัวอย่าง พรรคเพื่อไทยพูดถึง soft power ซึ่งยังไงก็ต้องส่งออก เพราะ soft power คือการส่งออก หรือการที่พรรคเพื่อไทยคิดถึงเรื่องของ value creation หรือการสร้างมูลค่า เป็นต้น”

เตือนเศรษฐกิจไทยฟื้นไม่จริง

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า สิ่งที่น่าสังเกตคือ แม้รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยระบุว่ากำลังฟื้นตัวดี ข้อมูลดีทุกเดือน แต่หุ้นไทยตั้งแต่ต้นปี (YTD) กลับปรับตัวลงไป 9% ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐ มีเรื่องเพดานหนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ย ธนาคารล้ม แต่หุ้นสหรัฐขึ้นไป 10% นับจากต้นปี ซึ่งตลาดหุ้นเป็นตัวคาดการณ์อนาคตเสมอ และสถานการณ์นี้กำลังบอกว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยไม่ได้แข็งแรง และรัฐบาลใหม่ควรรับมือให้ดี เมื่อเข้ามาแล้วก็ต้องทำงานได้เลย

นอกจากนี้ การที่ไตรมาส 1/2566 ธนาคารพาณิชย์ของไทยไม่ได้มีการปล่อยกู้เพิ่ม แปลว่าธนาคารเริ่มระวังตัว บวกกับเครดิตบูโรก็เตือนว่ามีหนี้เสีย (NPL) อยู่ประมาณ 9.5 แสนล้านบาท แล้วยังมีหนี้ที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พยายามช่วยปรับโครงสร้างประมาณ 8 แสนล้านบาท

ซึ่งยังไม่ค่อยลดลง แสดงว่าปรับโครงสร้างยาก รวมถึงที่น่าห่วงที่สุด คือหนี้อีกประมาณ 6 แสนล้านบาท ที่กำลังเป็นลูกผีลูกคน เรียกว่า Special Mention Loan (SM) อันนี้น่ากลัวจะพุ่งกลายเป็นหนี้เสียและกระทบกับกำลังซื้อ

“รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาจะต้องรู้ว่าจะพาประเทศไปทางไหน และจะต้องทำอะไรอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทรนด์ของเศรษฐกิจมหภาค ที่อาจจะไม่ได้ฟื้นตัวดี”

ทั้งนี้ ครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจไทยยังมีภาวะสุญญากาศเล็ก ๆ ตราบใดที่ยังไม่มีรัฐบาล และกว่าจะตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) และผ่านงบประมาณได้ อาจใช้เวลาถึงไตรมาส 1 ปี 2567 ฉะนั้น ถ้าโชคไม่ดี สหรัฐเกิดขึ้นดอกเบี้ยและทำให้เศรษฐกิจตกต่ำกว่าที่คิด ก็จะแย่ ด้านยุโรป ยูเครนก็กำลังจะเตรียมตัวรบเอาพื้นที่คืน และการที่เศรษฐกิจจีนยังฟื้นได้ไม่ดีเท่าที่คาด ก็จะกระทบต่อการท่องเที่ยวไทย สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในช่วงที่ไทยยังไม่มีรัฐบาล

“หรือเรื่องน้ำมันดีเซล ภาษีดีเซล ต้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตัดสินใจ ซึ่งประเทศนี้แปลก ที่การตัดสินใจต้องไปอยู่ที่ กกต. ซึ่งถ้าจำไม่ผิด กกต.ไม่น่ามีใครที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์สักคน อีกอย่างคือ นโยบายพลังงาน ยังต้องมีการบริหารจัดการต่อและปรับเปลี่ยน ซึ่งยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก มีปัญหาทั้งในระยะสั้น และการบิดเบือนราคาทำให้ดีเซลถูกเกินไป รวมถึงประเด็นเรื่องภาวะโลกร้อนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอีก ฉะนั้นเรื่องพลังงานนี้ จึงปราบเซียนและยาก”

ยืนยันไม่รับตำแหน่งทางการเมือง

สำหรับเรื่องตำแหน่งทางการเมืองนั้น ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ยืนยันไม่เคยคิดจะรับตำแหน่ง ตอนไหนก็ไม่เคยคิดจะรับ เพราะยุ่งยาก โดยสมัยที่ตนเคยรับเป็นรองเลขาฯนายกรัฐมนตรียุค ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะตอนนั้นรู้ว่าเศรษฐกิจวิกฤต ทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกัน แต่เศรษฐกิจไทยเวลานี้ไม่ได้บอบช้ำขนาดนั้น เพียงแต่ยังไม่ได้ดั่งใจ

“ประเทศไม่ได้วิกฤต ดังนั้น ที่ผมพูดให้ฟัง คนอื่นก็เอาไปทำได้ ทุกอย่างที่ผมพูดไม่ใช่อะไรที่ผมต้องไปทำเอง ใคร ๆ ก็ทำได้ ขอแค่คิดให้ครบและหาข้อมูลให้ครบ ก็ทำได้” ดร.ศุภวุฒิกล่าว