“ศุภวุฒิ” ไม่รับตำแหน่ง รมว.คลัง ชี้ 3 นโยบาย เพื่อไทย-ก้าวไกล ทำร่วมกันได้

ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ศุภวุฒิ สายเชื้อ

“ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ” อดีตที่ปรึกษาทีมเศรษฐกิจเพื่อไทย ยันไม่รับตำแหน่ง รมว.คลัง พร้อมเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ เผย 3 นโยบาย “เพื่อไทย-ก้าวไกล” ทำร่วมกันได้ ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำทำคนละแบบ-มองแก้ทุนผูกขายทำได้หลายวิธี-ชี้ขึ้นภาษีนิติบุคคลต้องหาจุดพอดี

วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ อดีตที่ปรึกษาทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย และ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวในรายการ Billion Insight โดยระบุว่า ในช่วงเจรจาจัดตั้งรัฐบาลนี้ ตนถือเป็นคนนอก แต่ค่อนข้างมั่นใจว่า พรรคก้าวไกลในฐานะที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล คงต้องการโควตากระทรวงการคลัง ส่วนพรรคเพื่อไทยจะได้กระทรวงไหน คงเป็นอีกเรื่อง

“อย่างไรก็ตาม คงต้องมีการหาทางร่วมกันของทุกพรรคที่อยู่ร่วมกันในรัฐบาล คงต้องคุยกันว่าอันไหนจะทำมาก อันไหนจะทำน้อย” ดร.ศุภวุฒิกล่าว

แก้ทุนผูกขาดมีหลายวิธี

เมื่อถูกถามถึงสถานการณ์หุ้นตก เพราะกระแสเรื่องการจะจัดการกับทุนผูกขาด ดร.ศุภวุฒิ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยว่า ทุนผูกขาดไม่ดี สำหรับประเทศและผู้บริโภคโดยรวม เพราะการผูกขาดหมายถึงการจะขายสินค้าในราคาแพงกว่า แต่ในปริมาณที่น้อยกว่า นี่คือผลของการมีอำนาจเหนือตลาด

“ทุนผูกขาดในประเทศ ก็คงผูกขาดเพราะอำนาจรัฐนั่นแหละ เราถึงรู้ว่าหุ้นเซ็กเตอร์ไหนที่จะตก ก็คือเซ็กเตอร์ที่รัฐให้อำนาจมา อย่างหุ้นพลังงาน แล้วก็อาจจะมีอื่น ๆด้วย แต่ส่งออก ตลาดโลกมันใหญ่มาก ดังนั้นหุ้นส่งออก ไม่มีใครโดนหรอก ถามว่าเห็นด้วยไหม เห็นด้วย แต่ต้องบอกว่าหุ้นผูกขาด ที่ได้กำไรสูงผิดปกติ ราคาหุ้นก็จะสูงผิดปกติเหมือนกัน ฉะนั้นพอมีข่าวออกมาอย่างนี้ ราคาหุ้นพวกนั้นก็ต้องปรับลดลง”

ดร.ศุภวุฒิ กล่าวว่า สำหรับธุรกิจพลังงานนั้น หากจะแก้ไขเรื่องผูกขาด ก็คงต้องพยายามให้มีพลังงานทางเลือกมากขึ้น นอกจากจะใช้โรงผลิตไฟฟ้าที่ใช้แก๊สธรรมชาติ ก็หันมาใช้โซลาร์เซลส์มากขึ้นได้ ทั้งในส่วนของโรงไฟฟ้าเอง รวมถึงครัวเรือนก็ติดได้ ซึ่งจะช่วยลดผูกขาดลงไปได้มาก

Advertisment

อีกประเด็นคือ การประมูลต้องโปร่งใส โดยการคิดเรื่องกำไรก็ต้องนำมาตรฐานสากลมาวัด เพื่อที่ผู้ที่ได้รับสัมปทาน จะไม่ได้รับกำไรที่สูงเกินควร แม้จะเป็นกิจการผูกขาดก็ตาม แต่ก็ต้องมีรัฐบาลกำกับให้อยู่ระดับที่เหมาะสม

“ตามข่าวจะมีการไปรื้อสัญญาที่ทำไว้ก่อนแล้ว ซึ่งอันนี้ ถ้ารัฐบาลทำ จะทำให้เกิดผลกระทบในระยะยาว เพราะเวลาเซ็นสัญญาไปแล้ว แล้วถูกรื้อ นักลงทุน ผู้ประกอบการก็จะจำเอาไว้ ว่าถ้ามาทำสัญญากับประเทศไทย มีความเสี่ยง ดังนั้นเวลาทำสัญญา เขาก็จะคำนวณความเสี่ยง ที่ต้องเผื่อเอาไว้ ฉะนั้นเราก็จะได้ของแพงขึ้น”

Advertisment

“รัฐสวัสดิการรัฐ” จะใหญ่ขึ้น-เก็บภาษีมากขึ้น

เมื่อมีคำถามถึงความเป็นไปได้ในการทำนโยบายแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน จนกระทบธุรกิจ ว่ามีโอกาสจะเกิดขึ้นแค่ไหน ดร.ศุภวุฒิ กล่าวว่า ตนคิดว่า ตรงนั้นไม่น่าจะเป็นปัญหาหลัก เพราะในที่สุดแล้วจะมีบริษัทที่เข้าข่ายไม่กี่บริษัท และต้องมีการเจรจากัน ซึ่งสิ่งที่พูดมาทีมเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกลก็ทราบ เพราะมีนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์

“ผมคิดว่า สิ่งที่แตกต่างมากกว่า สำหรับพรรคก้าวไกล คือ เขาเสนอในสิ่งที่ไม่มีพรรคการเมืองใดเสนอ หรือเสนออย่างจริงจังเท่าเขา คือ เสนอเรื่องการทำรัฐสวัสิดิการ ซึ่งผมมองว่าตรงนี้เป็น Game changer เลย ถ้าเปรียบไปก็เหมือนสมัยพรรคไทยรักไทย ตอนปี 2001 ที่ตอนนั้นเสนอนโยบายประชานิยม อย่างที่พรรคการเมืองอื่นไม่มีใครเสนอ ถึงทำให้พรรคไทยรักไทยได้คะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง ครั้งนี้ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญในเชิงนโยบายของพรรคก้าวไกล คือประชานิยมที่เขาดูเหมือนตั้งใจจะทำจริง อันนี้แหละจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม เพราะนโยบายรัฐสวัสดิการนี้จะทำให้รัฐต้องใหญ่ขึ้นมาก ในเชิงของการเก็บภาษี จากปัจจุบันรัฐบาลเก็บภาษีได้ 15% ของจีดีพี ขณะประเทศที่ทำรัฐสวัสดิการ อย่างสวีเดน นอร์เวย์ เขาเก็บภาษี 40%”

ทั้งนี้ รัฐสวัสดิการคงต้องวางแผนให้ดีว่าจะเก็บภาษีมาจากตรงไหน ซึ่งตนคิดว่ามีเพียงพรรคก้าวไกลพรรคเดียวที่สัญญาว่าจะขึ้นภาษี ขณะที่พรรคเพื่อไทยทำเรื่องลดภาษี ดังนั้นจึงมีความต่างกัน

เห็นแตกต่างปรับค่าจ้างขั้นต่ำ

สำหรับมุมมองนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ พรรคเพื่อไทย และ ก้าวไกล นั้น ดร.ศุภวุฒิ กล่าวว่า มุมมองของพรรคเพื่อไทยนั้นมองเรื่องค่าแรงเป็นเป้าหมาย ว่าหากทำให้จีดีพีโตได้สูง ๆ ปีละ 5% จะทำให้อีก 4ปี จะเกิดแรงกดดันที่ทำให้ค่าแรงขั้นต่ำสามารถขึ้น 600 บาทได้ ส่วนพรรคก้าวไกลบอกว่าจะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทุกปี โดยคำนวณจากการเติบโตของจีดีพี ซึ่งนักธุรกิจจะเป็นห่วงตรงนี้ เนื่องจากผลิตภาพของแรงงานมีความแตกต่างกัน

ทั้งนี้ ผลกระทบการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น ดร.ศุภวุฒิ กล่าวว่า ในแง่บริษัทและธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก(SMEs) คาดว่าต้องมีการเจรจากับรัฐบาล เพื่อหาทางลดผลกระทบของต้นทุน ซึ่งก็ทำได้หลายทาง อย่างหวยใบเสร็จของ SMEs ก็ได้, การหักภาษีได้มากกว่าปกติ แต่การตั้งกองทุนเพื่อเพิ่มทุนให้แก่ภาค SMEs น่าจะเป็นทางออกที่ดี

“การขึ้นค่าแรงอาจจะเป็นอุปสรรคให้แก่เด็กจบใหม่ เนื่องจากผู้ประกอบการต้องการลูกจ้างที่มีประสบการณ์มากกว่าเด็กจบใหม่ รวมถึงเป็นสนับสนุนให้เป็นการทดแทนแรงงานโดยการใช้เทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหามากกว่า”

3 นโยบาย “เพื่อไทย-ก้าวไกล” ทำร่วมกันได้ง่ายสุด

สำหรับนโยบายที่พรรคเพื่อไทย และ พรรคก้าวไกล สามารถทำร่วมกันได้ง่ายที่สุด ก็คือ การเชื้อเชิญการลงทุนจากต่างประเทศ และอีก 2 เรื่องที่คงไม่ต้องถกเถียงกันมาก ก็คือ เรื่องนโยบายสาธารณสุข อัปเกรดสาธารณสุข การอัปเกรดการประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี คราวด์คอมพิวติ้งมาช่วย ซึ่งจะช่วยสังคมผู้สูงอายุได้มาก ตรงนี้พรรคเพื่อไทยมีผู้เชี่ยวชาญ ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องของรัฐสวัสดิการด้วย และ อีกเรื่องคือ การศึกษา ที่ต้องปฏิรูปครั้งใหญ่เพื่อเกิดการ up-skill, re-skill ของแรงงาน ทำให้ผลิตภาพสูงขึ้นและตามความต้องการของตลาดแรงงาน

ขึ้นภาษีกำไรนิติบุคคลต้องหาจุดพอดี

ดร.ศุภวุฒิ กล่าวว่า ค่อนข้างเป็นห่วง นโยบายที่ต้องการเก็บภาษีกำไรนิติบุคคลเพิ่มขึ้น สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งก็เข้าใจว่า ต้องการทำรัฐสวัสดิการ แต่ก็ต้องรู้ว่า จะได้อย่างเสียอย่าง คือถ้าจะแบ่งเค้กให้เป็นธรรมมากขึ้น ก็จะต้องยอมจ่าย ในเชิงของการที่เค้กจะโตช้าลง ดูว่าจุดพอดีอยู่ตรงไหน ซึ่งตลาดหุ้นก็อาจจะต้องทำใจว่าจะมีการขึ้นภาษีตรงนี้

ปัดรับตำแหน่ง รมว.คลัง-หนุนคนรุ่นใหม่

เมื่อถูกถามว่า สนใจจะรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือไม่นั้น ดร.ศุภวุฒิ กล่าวว่า ตนไม่เอา เพราะสิ่งที่ตนทำอยู่ ก็สุขสบายดีอยู่แล้ว ซึ่งจริง ๆแล้ว ตอนนี้ประเทศไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤต แม้จะมีความท้าทายอยู่มาก ดังนั้นจะต้องให้โอกาสคนรุ่นใหม่

“ผมอายุ 66 แล้ว คนเหล่านี้ (คนรุ่นใหม่) แต่ละคนเขาก็เรียนมา การศึกษาก็สูง ถ้าเขามีความตั้งใจดี ผมคิดว่าประเทศนี้เป็นประเทศของเขาเป็นหลักมากกว่าของเรา เพราะผมจะอยู่อีก 10-20 ปี แต่เขาจะอยู่อีก 40-50 ปี ต้องให้โอกาสเขาแน่นอน และต้องสนับสนุนด้วย” ดร.ศุภวุฒิกล่าว