ล้งกระหน่ำทุบราคามังคุด จากโลละ 200 เหลือ 60 บาท

มังคุด

ตลาดมังคุดป่วนต้นฤดู ล้งทุบราคาจากโลละ 220 บาท ดิ่งเหลือ 60 บาท/กก. แค่ 4 วัน หวั่นช่วงพีกหน้าฝนยังลงต่อ ด้านชาวสวนร้อง “ฟรุตบอร์ด” กู้วิกฤตด่วน นายกสมาคมผู้ส่งออกผลไม้ไทย ออกโรงรณรงค์ไม่ซื้อ “มังคุดอ่อน” ซ้ำรอยปีก่อนขาดทุนตู้ละ 1 แสน วอนคัดคุณภาพส่งออกก่อนอินโดฯแซงไทย

นายพิพัฒน์ เต็งเศรษฐศักดิ์ อุปนายกสมาคมมังคุดไทยฝ่ายการตลาด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้แม้ตลาดมังคุดจะอยู่ในช่วงต้นฤดู และมีผลผลิตออกสู่ตลาดไม่มากนัก คือ ประมาณ 10% แต่ปรากฏว่าราคาเริ่มลดลงตั้งแต่ช่วงหลังสงกรานต์ และราคาตกต่ำอย่างรวดเร็ว จากปกติราคาจะลดลงต่ำในช่วงเดือนพฤษภาคมที่มีผลผลิตออกมาก ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบราคามังคุดปี 2565 และปี 2567 เดือนเมษายน-กรกฎาคม มีปริมาณผลผลิตใกล้เคียงกันมากกว่าปี 2566-2567

โดยช่วงระหว่างวันที่ 1-22 เมษายน 2567 เปรียบเทียบราคาตลาดปลายทาง กว่างโจว กับราคาต้นทาง www.rakamangkud.com ปรากฏว่าราคาในตลาดจีนขึ้นสูง แต่ราคาต้นทางจากไทยไม่สูงขึ้น และเมื่อราคาปลายทางทรง ๆ ขึ้นเล็กน้อย แต่ราคาต้นทางกลับดิ่งลง และเปรียบเทียบปี 2565 ก่อนสงกรานต์ราคาต่ำลง และหลังสงกรานต์ราคาสูงขึ้น แต่ปี 2567 หลังสงกรานต์ถึงปลายเดือนเมษายนต้นฤดูมังคุดออกไม่ถึง 10% ราคากลับต่ำลงเร็วมาก

จากราคาที่ลดลง แม้ว่าเกษตรกรอาจจะยังอยู่ได้ ถ้าราคาเริ่มต้นฤดูต่ำ แต่แนวโน้มราคามังคุดที่จะออกสู่ตลาดอีก 2 ช่วงก็มีความน่าเป็นห่วง คือ ช่วงพีกในเดือนพฤษภาคม และช่วงฤดูฝนเดือนมิถุนายนที่คุณภาพไม่ดีนัก ราคาอาจจะถึงขั้นวิกฤต ตอนนั้นเกษตรกรจะอยู่ได้หรือไม่ จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนบริหารจัดการ อาจจะเป็นการเตรียมการกระจายผลไม้ภายในประเทศ

“ถ้ากราฟราคาต้นทาง-ปลายทาง เป็นเส้นขนาน แสดงว่าสัมพันธ์กัน แต่กราฟที่เห็นเป็นต้นทางดิ่งลง แต่ปลายทางสูงขึ้น มีช่องว่างกว้างมากคืออะไร ทำให้ชวนคิดว่าราคาต้นทางปลายทางสัมพันธ์กันหรือไม่ ความเห็นนี้ได้เสนอที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาและจัดการผลไม้ (Fruit Board) เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหามังคุดในช่วงพีกและช่วงปลายฤดู ไม่ได้มองประเด็นเรื่องกดราคาของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด”

นายพิพัฒน์ยังให้ข้อมูลด้วยว่า ปัจจุบันมังคุดไทยมีคู่แข่งสำคัญหลัก ๆ คือ มังคุดอินโดนีเซีย โดยปี 2566 ที่ผ่านมา จีนนำเข้ามังคุดไทย 85% และอินโดนีเซีย 14% ส่วนมังคุดภาคตะวันออกของไทยออกเดือนเมษายน-มิถุนายน-กรกฎาคม ขณะที่มังคุดอินโดนีเซียออกปีละ 8 เดือน แบ่งเป็น 2 ช่วง ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม และสิงหาคม-ธันวาคม ซึ่งจะออกชนกับมังคุดภาคใต้ของไทย

ADVERTISMENT

ล้งเล่นเกมทุบราคาต้นฤดู

แหล่งข่าวจากวงการผลไม้จากภาคตะวันออก กล่าวในเรื่องนี้ว่า ราคามังคุดที่ลดลงมีสาเหตุหลัก ๆ คือ เนื่องจากมีผู้ประกอบการรายใหญ่ซึ่งเพียง 4-5 ราย ทำให้มีการตกลงราคากันง่าย และมีการตกลงราคารับซื้อกันได้ หรืออาจจะเรียกฮั้วราคากัน ต่างจากทุเรียนมีผู้ประกอบการรายใหญ่จำนวนมากกว่า 300 ราย

การรวมตัวกันกำหนดราคารับซื้อจึงเป็นเรื่องค่อนข้างยาก และล้งจะประกาศราคารับซื้อมังคุดช่วงเย็น และมีราคาปิดตู้ช่วง 20.00 น. แต่ชาวสวนส่วนใหญ่จะเก็บมังคุดมาขายแผงรับซื้อข้างทาง ตั้งแต่ช่วงเย็น ๆ ซึ่งทางหน่วยงานราชการได้ขอความร่วมมือให้ล้งติดป้ายราคารับซื้อมังคุด และมีล้งหลายรายประกาศราคารับซื้อทางเว็บไซต์กลาง rakamangkud.com แต่เกษตรกรเห็นว่าราคาล้งไม่ได้แข่งขันกันจริง

นายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี นายกสมาคมผู้ส่งออกผลไม้ไทย และเจ้าของโรงคัดบรรจุส่งออก บริษัท ริชฟิลด์ เฟรช ฟรุท จำกัด จ.จันทบุรี กล่าวในเรื่องนี้ว่า ปัญหามังคุดภาคตะวันออกที่ราคาตกต่ำอย่างรวดเร็วในขณะนี้ ทั้ง ๆ ที่เป็นช่วงต้นฤดู โดยช่วงเดือนมีนาคม เปิดรับซื้อกิโลกรัมละ 200-220 บาท ส่วนหนึ่งมาจากล้งรายเล็กมีการแย่งกันซื้อและดันราคาจนสูงเกินความเป็นจริง

ขณะที่ล้งรายใหญ่ยังไม่เปิดรับซื้อ และช่วงต้นเมษายนมีมังคุดอินโดนีเซียที่เป็นคู่แข่งสำคัญเริ่มส่งเข้าไปในตลาดจีนและราคาถูกกว่า โดยมังคุดอินโดนีเซียส่งออกวันละ 20-30 ตู้ แต่ช่วงปลายเดือนเมษายน มังคุดอินโดฯเริ่มจะลดลง ขณะที่มังคุดไทยเริ่มจะมีปริมาณและส่งออกเข้าตลาดจีนมากขึ้น

“การที่ล้งเล็ก ๆ ดันราคาขึ้นมาในช่วงต้นฤดู ขณะที่ล้งใหญ่ยังไม่เปิดราคา ไม่ใช่ราคาแท้จริง เพราะปริมาณมังคุดมีน้อย เมื่อปริมาณของออกสู่ตลาดมากขึ้น ล้งเปิดครบคือราคาตลาดที่แท้จริง ทำให้ราคาลดลงมา 30-50 บาท/กก. อย่างไรก็ตาม ปีนี้ราคามังคุดเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ดี แต่มังคุดที่ราคาตกต่ำส่วนใหญ่จะเป็นมังคุดเทรวมไม่คัดเกรด ที่ราคาอยู่ในระดับ กก.ละ 45-50 บาท

ส่วนมังคุดคัดไซซ์ส่งออก ผิวมัน หูเขียว น้ำหนัก 80 กรัม/ลูก ราคาสูงถึง กก.ละ 60-70 บาท ตอนนี้ราคาที่ลดลง หน่วยงานรัฐไม่ควรแทรกแซง เพราะยังไม่เกิดปัญหาจริง และโครงสร้างธุรกิจค่อนข้างซับซ้อน เพราะมังคุดที่รับซื้อมีหลากหลาย ชาวสวนบางคนขายเทรวม พ่อค้าบางกลุ่มที่เปิดขายข้างทางจะมีการตั้งราคาซื้อขายตามความพอใจ ทำให้ราคาแกว่ง และ/หรือราคาที่ล้งตั้งรับซื้อ แต่หากของยังไม่เต็มตู้ล้งก็จะมีการเปิดราคาคุยกัน เป็นต้น”

นายสัญชัยกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ปีนี้สมาคมผู้ส่งออกผลไม้ไทยพยายามรณรงค์ให้ล้งส่งออกไม่ซื้อมังคุดอ่อน หรือที่เรียกมังคุดเขียว ที่เก็บเกี่ยวระยะที่ 1 เพราะบ่มไม่สุก เนื่องจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน ล้งเผชิญปัญหามังคุดอ่อน เช่นเดียวกับทุเรียนอ่อน โดยเฉพาะปี 2566 ผู้ส่งออกได้รับความเสียหายจากการส่งออกมังคุดอ่อนไปตลาดจีน เฉลี่ยตู้ละ 100,000 บาท ปีนี้จึงต้องการให้ล้งส่งออกต้องช่วยกันแก้ไข คัดคุณภาพกันให้เข้มข้นขึ้น โดยรับซื้อมังคุดเขียวระยะที่ 2 ขึ้นไปเท่านั้น และหากสวนยังขายมังคุดอ่อนไม่มีคุณภาพ บ่มไม่สุกมาให้ล้งอีก ล้งส่งออกหลายรายอาจจะหันไปซื้อมังคุดของอินโดนีเซียที่ราคาถูกกว่าไปส่งออก

ส่องตลาดมังคุดในจีน

นายปรัตถกร แท่นมณี กงสุล (ฝ่ายเกษตร) ประจำกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว เปิดเผยว่า ปัจจุบันจีนเปิดนำเข้ามังคุดผลสดจาก 5 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย เมียนมา โดยปี 2565 ไทยมีสัดส่วน 87% อินโดนีเซีย 12% ขณะที่ปี 2566 ไทยส่งออกปริมาณ 200,000 ตัน ลดลง 2% ขณะที่อินโดนีเซีย มีสัดส่วนการตลาดเพิ่มขึ้น 2%

ส่วนราคามังคุดในตลาดจีน ปี 2566 ราคาขายส่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 32 หยวน (162 บาท) โดยราคาสูงสุดจะอยู่ในเดือนมกราคม-พฤษภาคม ประมาณ 51 หยวน และราคาต่ำสุดช่วงเดือนกันยายน 20 หยวน/กก. ซึ่งราคาเฉลี่ยสูงกว่าปี 2565 ที่อยู่ในระดับ 29 หยวน (148 บาท) โดยผู้นำเข้าจะตั้งราคาปลายทางที่ตลาดค้าส่งจากปริมาณและคุณภาพ ตามกลไกตลาด การปรับราคาขึ้นลงไม่มากครั้งละ 10-20 หยวน

รายงานข่าวจากสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า การส่งออกมังคุดสดไปจีน ปริมาณสะสมวันที่ 1 ม.ค.-23 เม.ย. 67 มีจำนวน 1,833 ตู้/ชิปเมนต์ ปริมาณ 31,980.96 ตัน มูลค่า 2,218.21 ล้านบาท ขนส่งทางรถยนต์ ปริมาณ 28,951.04 ตัน มูลค่า 2,106.23 ล้านบาท ทางเรือ ปริมาณ 1,957.13 ตัน มูลค่า 147.33 ล้านบาท ทางอากาศ ปริมาณ 1,072.79 ตัน มูลค่า 64.66 ล้านบาท