“ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กูรูเศรษฐศาสตร์ชื่อดังส่งสัญญาณเตือน นโยบายแจกเงินดิจิทัลเดิมพันสูง 5.6 แสนล้านบาท เป็นการกระตุ้นกำลังซื้อ-การบริโภค ไม่สร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุน หวั่นไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตต่อเนื่อง-ยั่งยืน เสี่ยงเจอปัญหา “ขาดดุลแฝด” คือขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและขาดดุลงบประมาณมากขึ้น ดันตัวเลขหนี้สาธารณะพุ่ง ชี้เศรษฐกิจไทยไม่มี Engine of Growth ตัวใหม่ที่จะมาเสริมเครื่องยนต์ท่องเที่ยว ขณะที่จีนคู่ค้ารายใหญ่ของไทยกำลังเผชิญปัญหา โจทย์ยากรัฐบาลพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย
ไม่มี Engine of Growth ตัวใหม่
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงมุมมองความท้าทายเศรษฐกิจไทยที่รัฐบาลใหม่ต้องเจอว่า ความท้าทายก็มีหลัก ๆ อยู่ 2 อัน คือ ความท้าทายระยะยาว ซึ่งผมคิดว่าเป็นปัญหาสำคัญกว่า ก็คือ ปัญหาโครงสร้างต่าง ๆ ที่ไม่ได้รับการแก้ไขมานาน โดยที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวด้วยการท่องเที่ยว เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก แต่หลังโควิดก็ยังกลับมาได้ไม่ได้ดีเท่าเดิม โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน
สิ่งที่เป็นปัญหาค้างคาก็คือเราหา Engine of Growth ตัวอื่น ๆ มาเสริมท่องเที่ยวได้แค่ไหน เพราะว่าแม้กระทั่งตอนก่อนโควิด เรามีนักท่องเที่ยวกว่า 40 ล้านคน ซึ่งค่อนข้างจะเต็มศักยภาพระดับหนึ่งแล้ว และเป็นการเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ก็เริ่มถูกตั้งคำถามว่าจะมีความยั่งยืนได้มากน้อยเพียงใด จึงมีคำถามว่าจะทำอย่างไรให้มีมูลค่าเพิ่มจากการท่องเที่ยว มีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นได้อย่างไร
นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่น อย่างเช่นเดิมประเทศไทยเป็น “ดีทรอยต์ออฟเอเชีย” แต่ตอนนี้ รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จะเข้ามาทดแทนรถสันดาปภายใน ซึ่งเดิมไทยเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนของรถยนต์สันดาปภายใน แต่เมื่อรถอีวีมา ชิ้นส่วนพวกนั้นไม่ต้องใช้เลย ฉะนั้นเราก็ต้องปรับตัว
ส่วนการจะปรับไปทำแบตเตอรี่ ประเทศไทยก็ไม่มีทรัพยากรที่จะสนับสนุนอย่างพวกลิเทียม หรือโคบอลต์ ต่าง ๆ ก็จะกลายเป็นแค่ผู้ประกอบแบตเตอรี่ ซึ่งคนที่ทำแบตเตอรี่ก้าวหน้ามากที่สุดก็คือ ประเทศจีน ขณะที่เราซึ่งเป็นผู้ประกอบก็คงได้มูลค่าเพิ่มไม่มาก แน่นอนว่าศักยภาพเราในด้านการทำตัวถังก็ยังดีอยู่ แต่ว่าอุตสาหกรรมรถยนต์จะหดตัวลงไปมาก เพราะว่าอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างชิ้นส่วนภายในจะหายไปเยอะ
นโยบายพลังงานย้อนแย้ง
ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า อีกตัวที่สำคัญก็คือพลังงาน ที่มีปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้นก็บ่นกันว่า พลังงานราคาแพงขึ้น และระยะยาวราคาพลังงานก็มีแนวโน้มจะแพงขึ้น เพราะว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกก็ปรับเพิ่มขึ้น แล้วก็ต้องระวังเรื่องของสิ่งแวดล้อม เรื่องของก๊าซเรือนกระจกก็จะมากขึ้นเรื่อย ๆ
“แต่กลายเป็นว่าระยะสั้น รัฐบาลจะพยายามลดราคาพลังงานลง ทั้ง ๆ ที่ราคาพลังงานอนาคตจะแพงขึ้น ก็จะเป็นการทำนโยบายสวนทางกับการโครงสร้างในระยะยาวที่จะลดการพึ่งพาพลังงาน แต่ว่าเราจะไปพยายามลดค่าไฟ ลดค่าน้ำมันดีเซล โดยการไปลดภาษี หรือเพิ่มหนี้ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ก็จะไปย้อนแย้งกับความจำเป็นในระยะยาวที่จะต้องควบคุมการใช้พลังงานไม่ให้เพิ่มขึ้นมาก”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราก็รู้ว่า ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยก็จะหมดลงไปเรื่อย ๆ ปัญหานี้จะแก้ยังไงในระยะยาว ก็ต้องพยายามลดทอนการใช้พลังงานที่ใช้อยู่ปัจจุบัน แต่กลายเป็นว่าเรากำลังจะต้องไปช่วยในระยะสั้น ลดราคาดีเซล ลดราคาไฟฟ้า มันไม่ตอบโจทย์ในระยะยาวแน่นอน”
ปัญหาสำคัญ “คน-การศึกษา”
ดร.ศุภวุฒิระบุว่า อีกความท้าทายสำคัญคือเรื่อง “คน” จริง ๆ เป็นเรื่องสำคัญมาก และเป็นปัญหาที่ยากที่สุด ทั้งด้านการศึกษาของคนไทย และที่คนรุ่นใหม่ และเด็กมีจำนวนลดลง ปี 2565 ที่ผ่านมา เป็นปีแรกที่จำนวนเด็กอายุ 0-14 ปี มีน้อยกว่าคนแก่ที่อายุ 60 ปี หรือมากกว่านั้น เข้าใจว่าคนแก่มีอยู่ 12 ล้านคน ส่วนเด็กจะเหลือแค่กว่า 11 ล้านคนแล้ว
ดังนั้นเมื่อมีจำนวนเด็กน้อยลง ในอนาคตแรงงานก็จะน้อยลงไปด้วย ดังนั้นยิ่งต้องทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น แต่เรามีปัญหาว่า PISA สกอร์เปรียบเทียบกับต่างประเทศของ OECD คุณภาพการศึกษาของไทยไม่เพิ่มขึ้นเลย ในวิชาพื้นฐานอย่างวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
“คุณภาพการศึกษาและความเท่าเทียมของการเข้าสู่การศึกษาสำหรับคนรุ่นใหม่ สำหรับเด็กไทย น่าจะเป็นตัวสำคัญที่สุด ถ้าพื้นฐานไม่ดี ยังไง ๆ คุณก็จะขับเคลื่อนให้เด็กกลายเป็นคนที่มีศักยภาพ จะไปทำทาง AI ไปทำงานโปรแกรมมิ่ง ไปทำครีเอทีฟอีโคโนมี ก็ทำยาก ถ้าพื้นฐานยังดึงไม่ขึ้นเลย ต้องแก้ตรงนี้
ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้มีการแก้ไขตรงนี้ได้อย่างจริงจังเลย อย่าว่าแต่เรื่องของเด็กเลย เรื่องของครูก็ยังมีปัญหาเรื่องหนี้สินครู ก็ต้องแก้ แต่ดูจากนโยบายที่จะแก้ตรงนี้ ผมยอมรับว่ายังไม่เห็นพรรคไหนเลยที่ออกมาพูดชัด ๆ ว่าจะแก้เรื่องของคุณภาพการศึกษายังไง อย่างเป็นระบบ”
ประเด็นสุดท้ายคือ คนแก่ ที่อายุ 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นจาก 12 ล้านคน เป็น 20 ล้านคน ในช่วงไม่ถึง 20 ปีข้างหน้าถ้าไม่ดูแลสุขภาพให้ดี ก็จะเป็นภาระหนัก เพราะเรารู้ว่า คนที่สุขภาพไม่ดี ตอนอายุประมาณปลาย ๆ 60 ปี พอป่วยหนักต้องรักษาแบบใช้ยาราคาแพง ใช้เทคโนโลยีแพง ๆ ตรงนั้นจะเป็นภาระอย่างรุนแรง แล้วถ้าเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ยาก ก็จะยิ่งทำให้ปัญหาเพิ่มพูนขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรามองกันว่าการเข้าถึงการรักษาเป็นสิทธิทางการเมืองไปแล้ว
แจกเงิน 10,000 จีดีพีโตไม่ยั่งยืน
ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า สำหรับความท้าทายระยะสั้นของรัฐบาล คือจากนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต ที่รัฐบาลบอกว่าต้องการกระตุ้นให้เศรษฐกิจพลิกฟื้นขึ้นมา ในหลักการอาจจะพูดว่ากระตุ้นแรงมาก เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นขึ้นมาทันที ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมาเลยมาก ๆ อันนี้ก็ไม่ว่ากัน
แต่ต้องกลับไปดูว่าสถานการณ์ของเศรษฐกิจมหภาคเอื้ออำนวยต่อการทำนโยบายแบบนั้นหรือเปล่า เพราะถ้าไม่เอื้ออำนวย คุณจะมีปัญหาว่าที่คาดหวังว่าจะกระตุ้นแรง ๆ แต่ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนก็จะเกิดปัญหาได้
โดยทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะที่เรียกว่าเคนเซียนอีโคโนมิกส์ จะบอกว่าเป็นไปได้ที่ในระยะสั้นที่เศรษฐกิจเกิดการขาดความมั่นใจทั้งนักลงทุนและทั้งผู้บริโภค ทำให้ไม่บริโภคและไม่ลงทุน ซึ่งทำให้เกิดการว่างงานเยอะ จากการไม่กล้าลงทุน
อันนั้นรัฐบาลมีหน้าที่ที่จะต้องยอมขาดดุลงบประมาณและเอาเงินในอนาคตมาใช้กระตุ้นให้เกิดความมั่นใจ ให้เกิดการลงทุน เพื่อจะช่วยให้เกิดการจ้างงาน ช่วยให้มีการสร้างรายได้ และเป็นการช่วยให้มีการบริโภค แล้วก็จะมีวัฏจักรในเชิงบวก เรียกว่าตัวทวีคูณเกิดขึ้น
“แต่คำถามคือ สถานการณ์ตอนนี้ของประเทศไทย มันเหมาะสมสำหรับทำสิ่งพวกนั้นหรือเปล่า วิธีดูอันนึงสำหรับผมคือ การไปดูดุลบัญชีเดินสะพัด ที่บอกว่าประเทศไทยส่งออกสินค้าและบริการมากกว่านำเข้าสินค้าและบริการหรือเปล่า ถ้าเกินดุลบัญชีเดินสะพัด แปลว่าส่งออกเกินการนำเข้า อันนี้จะสะท้อนว่าภายในเศรษฐกิจมีกำลังการผลิตเหลือ เราถึงส่งออกมากกว่านำเข้า” ดร.ศุภวุฒิอธิบาย
ถ้าเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ใช้กระตุ้นกำลังซื้อได้ เพราะว่ากระตุ้นไปเดี๋ยวก็จะมาผลิตในประเทศได้ หรือกระตุ้นแล้วนำเข้าสินค้าทุนเพื่อให้ฟื้นการลงทุนในประเทศ เพราะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด มันสะท้อนว่าเศรษฐกิจเรามีรายได้เหลือ แต่ถ้าขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งแปลว่าประเทศใช้จ่ายเกินตัว แล้วยังกระตุ้น จะยิ่งทำให้ขาดดุลมากขึ้น
เตือนภัยไทย “ขาดดุลแฝด”
ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ช่วงหลังต้องยอมรับว่าเราไม่ได้เกินดุลบัญชีเดินสะพัดเหมือน 6-7 ปีก่อน โดยปี 2021 ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยก็ขาดดุลกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2022 ก็ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณ 14,700 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย 6 เดือนแรกปีนี้เกินดุลนิดเดียว คือ 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐ แล้วเดือน ก.ค.ล่าสุดก็ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอีก 400 ล้านเหรียญสหรัฐ
“อันนี้มีความเสี่ยง ถ้าไปกระตุ้นมาก ๆ จะมีปัญหา เพราะว่าในการบริโภคของคนไทยจะมีสัดส่วนของการนำเข้าถึง 50% ของจีดีพี ถ้าใส่เงินเข้าไป เป็นไปได้มากเลยว่า ถ้าเอาไปบริโภค เงินจะไหลออกไปครึ่งหนึ่ง แม้กระทั่งปุ๋ยการเกษตรก็เป็นการนำเข้า 90% ถ้ากระตุ้นแบบนี้ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้น รวมถึงนโยบายที่บอกว่าจะลดภาษี ทำให้น้ำมันดีเซลราคาลดลง ก็จะทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น”
ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ฉะนั้นต้องกระตุ้นซัพพลาย ไม่ใช่กระตุ้นดีมานด์ เพราะการกระตุ้นดีมานด์ จะทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น แล้วก็จะทำให้เกิดขาดดุลแฝด เหมือนในยุควิกฤตต้มยำกุ้ง คือขาดดุลงบประมาณ และขาดดุลบัญชีเดินสะพัดพร้อมกัน
ซึ่งส่วนใหญ่ประเทศที่ขาดสองอันพร้อมกัน ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ยกเว้นประเทศที่พิมพ์เงินเองอย่างสหรัฐ ซึ่งการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะมีข้อดีตรงที่ว่า ถ้ามั่นใจว่าขาดดุลเพราะนำเข้าสินค้าทุนมาลงทุนเพื่อสร้างอนาคตที่ดีให้กับเศรษฐกิจ แล้วจะทำให้เศรษฐกิจในอนาคตโตมากขึ้น มีผลผลิตมากขึ้น แล้วใช้คืนหนี้ได้
เนื่องจากนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลตให้ประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน ต้องใช้เงินก้อนใหญ่มาก คือกว่า 5 แสนล้านบาท เพิ่มความเสี่ยงเรื่องสัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศ โดยรัฐบาลจะต้องทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำเงินไปใช้ทำนโยบาย และอีกส่วนก็ต้องเป็นการหมุนเงินจากสถาบันการเงินของรัฐ โดยขยายกรอบวงเงินใช้มาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง
ดันหนี้สาธารณะพุ่ง
“ถ้านโยบายนี้สำเร็จก็จะทำให้จีดีพีเติบโต มีรายได้เงินภาษีเพิ่มขึ้น แต่ถ้านโยบายไม่สำเร็จ คือไม่สามารถทำให้จีดีพีขยายตัวได้ตามคาดหวัง ก็จะทำให้รัฐบาลต้องขาดดุลงบประมาณมากขึ้น และสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีก็จะสูงขึ้น เพราะจีดีพีไม่ได้ขยายตัว”
ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรกล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายการแจกเงินเป็นการกระตุ้นดีมานด์ในการบริโภคของประชาชน ไม่ได้จูงใจให้เกิดการลงทุนระยะยาว เป็นการกระตุ้นระยะสั้น และโอกาสที่จะให้จีดีพีโต 5% ต่อเนื่องอย่างที่รัฐบาลต้องการยาก
นอกจากนี้ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ใช่แค่ปัญหาระยะยาว แต่ระยะสั้นจะสังเกตได้ว่าเงินบาทเริ่มอ่อน ซึ่งก็จะทำให้เงินเฟ้อเริ่มสูงขึ้นอีก แล้วพอเงินเฟ้อขึ้น ธปท.ก็จะขึ้นดอกเบี้ยอีก ก็เป็นปัญหาตามมาอีก
โจทย์ยากเศรษฐกิจโลกไม่เอื้อ
ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยต้องขึ้นกับเศรษฐกิจโลก แต่ตอนนี้สหรัฐปราบเงินเฟ้อไม่ค่อยได้ ดอกเบี้ยเลยสูงต่อเนื่อง ทำให้ดอกเบี้ยสูงทั้งโลก ซึ่งก็ไม่ดีเลยสำหรับทั้งโลก เพราะกระทบต้นทุนของผู้ประกอบการ ขณะที่จีนก็ฟื้นไม่ค่อยดี เพราะมีปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก แล้วก็กระทบกับทั้งภาครัฐบาลท้องถิ่น ทั้งธนาคารเงา เศรษฐกิจจีนก็อาจจะฟื้นช้า
ขณะที่จีนเป็นลูกค้ารายใหญ่ของประเทศไทย ส่งออกของไทยก็เลยไม่ดีเท่าไหร่ ขณะที่ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจจีนอาจจะต้องพึ่งพาการยอมให้หยวนอ่อนค่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตัวเอง ซึ่งถ้าจีนดึงเงินหยวนให้อ่อน เงินบาทก็จะอ่อนตามไปด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่นอกการควบคุมของเรา และดูทิศทางก็ไม่ได้เอื้ออำนวยให้การฟื้นตัวของไทยเป็นไปได้ง่าย
“ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ยากของรัฐบาลในการจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ต้องกลับไปพลิกฟื้นเศรษฐกิจแบบแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานเลย คือต้องใช้เวลานาน ถ้าหวังผลเร็ววันคงยาก ซึ่งเป็นสาเหตุที่นักการเมืองไม่แก้ปัญหาระยะยาว ก็เพราะรู้ว่าต้องใช้เวลาหลายปี ขณะที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีเวลาทางการเมืองเท่าไหร่ ทำไปแล้ว ไม่รู้ว่าจะทำสำเร็จหรือเปล่า แต่ทำอะไรสั้น ๆ มันจะเห็นผลงาน ดังนั้นปัญหาระยะยาวก็เลยไม่ได้ถูกแก้”
“สำหรับผมเรื่องระยะยาว เป็นเรื่องของอุปทาน หรือซัพพลาย ไม่ใช่เรื่องของดีมานด์ คือส่วนใหญ่ เราจะเห็นว่ารัฐบาลอยากกระตุ้นดีมานด์ แต่ปัญหามันคือซัพพลาย ปัญหาคือทำไงให้มีแรงงานที่มีศักยภาพให้ธุรกิจได้ใช้ หรือทำอย่างไรให้มีพลังงานที่มีศักยภาพ พลังงานที่มีราคาไม่แพง แต่ต้องไม่ใช่ไปบิดเบือนราคา เพราะไม่ได้สะท้อนความจริงว่า พลังงานหายากขึ้น ดีไม่ดีต้องพยายามลดการใช้พลังงานด้วยซ้ำ”
- ศิริกัญญา รมว.คลังเงา สอนมวย เศรษฐา ชี้ 2 ทาง แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท
- ถอดรหัสนโยบายรัฐบาลเศรษฐา จุดชนวนฟื้นเศรษฐกิจด้วยเงินดิจิทัล 1 หมื่น
- ยืมเงินรัฐวิสาหกิจ 5 แสนล้าน แจกเงินดิจิทัล 10,000 ผ่านแอป “เป๋าตัง”
- ธปท.เผยหารือนายกฯ ดิจิทัลวอลเลต 1 หมื่นบาท ชี้รอเก็บข้อมูลความชัดเจนก่อน
- แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท นักวิเคราะห์ชี้ “3 แหล่งเงินทุน” ทำนโยบาย