โลกแบ่งขั้ว เลือกข้าง เศรษฐกิจไทยปี’67 โตได้ 3%

map

ความท้าทายด้านการเมืองระหว่างประเทศ หรือ Geopolitic Challenge เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ไทยต้องเผชิญ หลังจากทั่วโลกแบ่งสีแบ่งฝักฝ่าย (ตามกราฟิก) ไทยจะวางแนวทางอย่างไร เพื่อยังคงรักษาความเป็น “กลางทางการเมือง” เปิดรับนักท่องเที่ยวและการลงทุน เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ

มองไม่ชัดเจน

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า Geopolitic Challenge เป็นหนึ่งในปัจจัยที่เราต้องเผชิญ เหตุการณ์ล่าสุดระหว่างอิสราเอล-อิหร่านเป็นหนึ่งในตัวอย่างของความน่ากังวล เพราะข่าวที่ออกมาช่วงแรก “ยังไม่มีความชัดเจน” เกี่ยวกับสถานการณ์จึงยากที่จะคาดการณ์ผลกระทบที่จะตามมา

“จีโอโพลิติกทำให้ไม่มีใครกล้า Predict ว่าเกิดอะไรขึ้น ราคาน้ำมันขายปลีกขึ้น 50 สต. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2567 หลังสิ้นสุดการลดภาษีสรรพสามิตมีผลต่อกำลังซื้อ และความเชื่อมั่น หลายฝ่ายเริ่มมองว่าทิศทางราคาน้ำมันจะไปอยู่ตรงไหน รัฐไม่กู้เงินเพิ่ม ภาษีสรรพสามิตน้ำมันจะไม่ลดลงต่อ คำถามคือ เพิ่ม 50 สตางค์กี่วัน เพิ่มไปถึงเมื่อไร”

กราฟฟิก ปัญหา

ประเด็นเรื่อง “ความไม่ชัด” ทำให้ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไร ดอกเบี้ยโลกจะลดลงหรือไม่ จากข้อมูลที่ปรากฏว่าธนาคารกลางยุโรป ประกาศว่าลดแน่ในเดือนมิถุนายน ส่วนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังระบุว่าไม่กล้าลดดอกเบี้ย

Advertisment

เพราะไม่มั่นใจว่าระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะปรับขึ้นไปสูงเท่าไร จะถึง 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลหรือไม่ เชื่อมโยงถึงเงินเฟ้อที่อาจจะไม่ลดลงแน่ เมื่อไม่ลดดอกเบี้ยเศรษฐกิจโลกจะไม่ฟื้นตัวตามที่ IMF เคยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัว 3.1-3.2% ซึ่งเป็นการคาดการณ์ ตอนยังไม่มีเหตุการณ์อิหร่านและอิสราเอล”

ความเสี่ยงภายในประเทศ

สมมุติฐานว่าธนาคารกลางสหภาพยุโรปและสหรัฐไม่ลดดอกเบี้ย อาจมีความไม่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตามที่คาดการณ์ไว้ในช่วงครึ่งปีหลังหรือไม่ ขณะเดียวกัน “งบประมาณ” ที่เคยคาดการณ์จะเริ่มใช้ได้ต้นเดือนเมษายนแต่ตอนนี้ เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และยังต้องรอความชัดเจนของการคิกออฟดิจิทัลวอลเลต ซึ่งหากสามารถใช้ได้ 500,000 ล้านบาท

จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.5% รวมเป็น 3% ในปีนี้ แต่หากใช้ได้ไม่ถึงการขยายตัวก็จะอยู่ที่ประมาณ 2.5-2.6%

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคล่าสุด ช่วงสงกรานต์ควรจะมีเงินสะพัดมากกว่านี้ จากสถานการณ์ราคาพืชผลดี แต่ปรากฏว่าเผชิญกับปัญหาภัยแล้งครึ่งปีแรก ส่วนครึ่งปีหลังมีแนวโน้มที่ปริมาณน้ำจะเยอะเกินไป

Advertisment

ส่วนภาคการท่องเที่ยว ในช่วง 3 เดือน 15 วัน ปีนี้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา 10.7 ล้านคน มีการใช้จ่าย 518,000 ล้านบาท จ่ายเฉลี่ยต่อคนเพิ่มเป็น 48,000 บาท จากปีก่อน 42,000 บาท แสดงว่าการท่องเที่ยวมีอัตราเติบโตดีมาก

เร่งเบิกจ่ายงบฯลงทุน “ท้องถิ่น”

ท่ามกลางความไม่ชัดเจนจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงท้าทาย รศ.ดร. ธนวรรธน์เสนอว่า ควรให้หน่วยงานของรัฐองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเร่งรัดการลงทุนโครงการก่อสร้างต่าง ๆ เพื่อดันเศรษฐกิจให้ค่อย ๆ ฟื้นตัว หากทั้งหมดสามารถบริหารจัดการดี และมีดิจิทัลวอลเลตมาช่วยอีก การท่องเที่ยวสามารถประคองตัวให้ดี และผลจากนโยบาย Soft Power เข้ามาจะช่วยเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังฟื้นและภาพรวมทั้งปี 3%

จุดเปราะบางเศรษฐกิจ

“จุดเปราะบางเศรษฐกิจ คือ ต้นทุนเอกชน และกำลังซื้อประชาชนยังไม่มี สิ่งสำคัญต้องเข้าใจเรื่องการบริหารพลังงาน เช่น ถ้าขึ้นราคาดีเซลทุก 1 บาท จากปริมาณการใช้ดีเซลวันละ 70 ล้านลิตร เท่ากับเงินไหลออกวันละ 2,100 ล้านบาท ฉะนั้น คำถามที่สำคัญ พยายามบริหารอย่าให้เกิน 32 บาท ในระยะสั้น เหตุผลคือว่า ถ้าขึ้น 2 บาท เงินจะไหลออกเดือนละ 4,000 ล้านบาทเท่านั้น

แม้ว่าเป็นเม็ดเงินไม่สูง แต่มีผลทำลายทางจิตวิทยา แต่งบประมาณแผ่นดิน อัดเข้ามา 40,000-50,000 ล้านบาทต่อเดือน หากเทียบกับเงินค่าน้ำมันที่ไหลออก “เติมน้ำในบ่อให้มากกว่าน้ำที่ไหลออก ดังนั้นจุดสำคัญคือ เร่งเบิกจ่ายเงินก่อน ถ้าไม่มีใครเติมน้ำเข้าไปอย่าเร่งเอาน้ำออก ทั้งดอกเบี้ยและค่าแรง”

“โครงสร้างกองทุนน้ำมัน 1.5 แสนล้านบาท ถ้าใช้สถิติเดิม คือ 1 แสนล้าน ถ้าใช้สถิติเดิมในการประคองน้ำมัน 1 แสนล้าน และเอา 5 หมื่นล้านไปดูแลแอลพีจีครัวเรือนซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจน้อย แต่เมื่อน้ำมันขนส่งสะเทือนอย่างรุนแรง ฉะนั้นเรายังมีตัวเลขอีก 5 หมื่นล้าน เท่ากับยังมีรูมในการบริหารระยะสั้น ระหว่างดึงเงินงบประมาณออกมาในช่วงเปราะบางของเศรษฐกิจ”

โฟกัส FTA เป้าหมาย

ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 1 กล่าวว่า จีโอโพลิติกยังไม่มีผลต่อการค้าระหว่างประเทศ เพราะยังไม่มีสงครามใหญ่แบ่งค่ายแบ่งข้าง ไทยอยู่ตรงกลาง ฉะนั้น การเจรจาความตกลงเปิดการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่อยู่ระหว่างเจรจา ไม่ว่าจะเป็น เอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ไทย-สหราชอาณาจักร (ยูเค) ไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) และกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) 4-5 ฉบับ

ยังสามารถเดินต่อได้ ส่วนเอฟทีเอไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) อยู่ระหว่างการเตรียมจัดทำข้อตกลงสำหรับการลงนาม ซึ่งหากแก้ไขข้อบทต่าง ๆ สำเร็จ คาดว่าจะสามารถลงนามได้แน่นอน

“สิ่งที่รัฐบาลต้องระวังคือ อุปสรรคการแก้กฎหมายที่กำลังดำเนินการ หากเราไปแก้ไขประเด็นที่ขัดระเบียบสากลจะกลายเป็นปัญหากับเราได้ กรณีนี้อยากให้มองว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอิสราเอล-อิหร่านนั้นมี 2 มุมไม่ใช่ไม่ดีหมด แม้ว่าในทางตรงคือต้นทุนราคาพลังงานสูงแน่นอน รัฐบาลควรออกมาตรการประหยัดพลังงานได้แล้ว ส่วนทางอ้อมคือซัพพลายเชน กระทบต้นทุนของเราสูงขึ้น แต่ด้วยมีปัจจัยค่าเงินอ่อน บวกกับความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นทำให้มีรายได้ส่วนนี้ดีขึ้น มีสองมุม”

มองอนาคต “ราคาสินค้า”

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมการแสดงสินค้าไทยที่ เมืองริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ในเดือนพฤศจิกายน 2567ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง

“เอกชนเห็นว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ลำบากในการบริหารของรัฐบาลเองที่ต้องดูแลน้ำมันและค่าพลังงาน ซึ่งจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นแน่นอน และต้องดูแลเรื่องสินค้าให้ถูก และคนมีหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งต้องดูแลด้วย ถ้าจะไปกระชากทำให้ราคาน้ำมันหรือราคาพลังงานสูงขึ้นทันที คงจะรับไม่ได้ เพราะว่าผู้ประกอบการเผชิญผลกระทบเรื่องต้นทุน ถ้าผลิตสินค้าออกมาขายขาดทุน เศรษฐกิจจะยิ่งแย่ไปกันใหญ่ อันนี้เป็นส่วนที่สำคัญ”

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการก็ตระหนักดีว่า 1) การแข่งขันสูง 2) การใช้กำลังการผลิตอยู่ระดับ 60% ต้น ๆ และ 3) กำลังการซื้อของคนไทยไม่แข็งแรง ดังนั้นไม่มีใครกล้าขึ้นราคา เพราะขณะนี้แข่งขันกันแทบแย่อยู่แล้ว ส่วนนี้เชื่อว่ารัฐบาลต้องหาทาง ถ้าจะขึ้นราคาน้ำมันก็คงค่อย ๆ ขยับขึ้น และการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกส่วนที่สามารถจะช่วยได้ คือ โครงการธงฟ้า ช่วยคนในชุมชนสามารถทำได้เลย”่