ค่าเงินบาท จะอ่อนไปถึงไหน และเมื่อไหร่จะถึงจุดกลับตัว ?

Bath
คอลัมน์ : นั่งคุยกับห้องค้า
ผู้เขียน : กอบสิทธิ์ ศิลปชัย, จงรัก ก้องกำชัย ธนาคารกสิกรไทย

ค่าเงินบาททำจุดอ่อนค่ามากสุดในรอบกว่า 6 เดือนที่ 37.18 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา และนับตั้งแต่ต้นปี เงินบาทอ่อนค่าลงแล้วเกือบ 8% อ่อนค่ามากสุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาคเอเชีย และเป็นรองเพียงค่าเงินเยนเท่านั้นที่อ่อนค่าลงกว่า 9% แล้วในปีนี้

ในระยะต่อไป ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในแนวอ่อนค่าต่อเนื่องตลอดไตรมาส 2 และอาจลากยาวไปในไตรมาส 3 ของปี จากแรงกดดันที่จะยังมีอยู่รอบด้าน ทั้งจากปัจจัยภายนอกอย่างการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐตามทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะอยู่สูงนาน

รวมถึงการอ่อนค่าของสกุลเงินหลักของเอเชียอย่างค่าเงินเยนที่เผชิญแรงกดดันจากการดำเนินนโยบายการเงินของบีโอเจที่ค่อนข้างผ่อนคลาย และค่าเงินหยวนที่ยังได้รับแรงกดดันจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่เปราะบาง

ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยเองก็ยังน่าเป็นกังวล สะท้อนจากคาดการณ์จีดีพีของไทยในปีนี้ที่ถูกปรับลดลงต่อเนื่อง รวมถึงอัตราดอกเบี้ยของไทยเองที่อยู่ในระดับต่ำสุดเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออก

อย่างไรก็ดี โอกาสที่ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าไปแตะจุดต่ำสุดเดิมในเดือนตุลาคม 2565 ที่ประมาณ 38.4 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ยังมีค่อนข้างจำกัด ส่วนหนึ่งยังมีแรงหนุนจากดอกเบี้ยนโยบายไทยที่คาดว่าจะยังไม่มีการปรับลดในปีนี้ รวมถึงแรงหนุนจากราคาทองคำที่เป็นขาขึ้นตามอุปสงค์ท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กลับมาเป็นประเด็นบ่อยครั้ง โดยเราประเมินแนวต้านสำคัญแรกของค่าเงินบาทอยู่ที่ 37.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และแนวต้านสำคัญถัดไปอยู่ที่ 38.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment

อย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าทะลุ 38.4 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คือ หากเงินเฟ้อสหรัฐกลับมาเร่งตัวอีกครั้ง อาทิ เหนือ 4% หรือ 2 เท่าของกรอบเป้าหมายซึ่งไม่ได้เห็นมาเกือบปีแล้ว อาจทำให้เฟดต้องพลิกกลับมาขึ้นดอกเบี้ยต่อ และนำไปสู่การแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐทะลุจุดสูงสุดเดิมที่ 107.3 ได้

สำหรับจุดกลับตัวสำคัญของค่าเงินบาทคาดว่าจะเกิดขึ้นในปลายไตรมาสที่ 3 ถึงต้นไตรมาส 4 ของปี เมื่อเฟดเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งเราประเมินว่าในกรณีฐานเฟดมีแนวโน้มลดดอกเบี้ยลงครั้งแรกในเดือนกันยายนส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐอาจเห็นการอ่อนค่าลงชัดเจนขึ้น ประกอบกับปัจจัยฤดูกาลของไทยเองที่เป็นฤดูกาลท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 4 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาจำนวนมาก ทำให้มีอุปสงค์ต่อค่าเงินบาทซึ่งจะเป็นอีกแรงหนุนการแข็งค่าได้บ้าง

โดยเราคาดการณ์ค่าเงินบาท ณ สิ้นปีนี้ที่ 36.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องกับค่ากลางของคาดการณ์ตลาดที่สำรวจโดยบลูมเบิร์ก