เฟดคงดอกเบี้ยตามคาด ส่งสัญญาณคงสูงต่ออีกนาน แต่เริ่มชะลอ QT มิ.ย.นี้

ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed-เฟด)

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25-5.50% ตามคาดการณ์ล่าสุด ส่งสัญญาณดอกเบี้ยอาจสูงต่อไปอีกนาน แต่ไม่กล่าวถึงการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว พร้อมประกาศเริ่มชะลอการลดงบดุล (QT) ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ซึ่งเร็วกว่าที่คาดไว้ 1 เดือน 

วันที่ 1 พฤษภาคม 2024 เวลา 14.00 น. ตามเวลา EDT สหรัฐอเมริกา ซึ่งตรงกับเวลา 01.00 น. วันที่ 2 พฤษภาคม ตามเวลาประเทศไทย ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) เผยผลการประชุมตัดสินใจนโยบายการเงินว่า ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่อัตรา 5.25-5.50% 

การคงดอกเบี้ยของคณะกรรมการเฟดเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ล่าสุดว่า  เฟดจะยังคงดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อและตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวที่ออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ยังไม่เป็นใจให้เฟดปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมครั้งนี้ 

ถึงแม้ผลการตัดสินใจนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟดจะ “ไม่เซอร์ไพรส์” แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นบวกต่อตลาด เพราะในการประชุมครั้งก่อนหน้านี้เมื่อกลางเดือนมีนาคม เฟดได้ส่งสัญญาณไว้ว่าจะปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมิถุนายนนี้ และจะมีการปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ แต่เมื่อถึงตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณชัดเจนว่าการลดดอกเบี้ยครั้งแรกจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนตามคาดหรือไม่ 

อีกทั้งเฟดยังส่งสัญญาณใหม่ว่า ยังขาดพัฒนาการเพิ่มเติมในการลดเงินเฟ้อ ซึ่งสัญญาณนี้หมายความว่าดอกเบี้ยอาจจะคงอยู่ระดับสูงต่อไปนานกว่าที่คาด  

Advertisment

แถลงการณ์ของเฟดระบุว่า ตัวชี้วัดล่าสุดชี้ให้เห็นว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงขยายตัวในอัตราที่มั่นคง การจ้างงานยังคงแข็งแกร่ง และอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อได้ผ่อนคลายลงในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ยังคงเพิ่มขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ยังขาดความคืบหน้าเพิ่มเติมในการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อของคณะกรรมการที่อัตรา 2% 

คณะกรรมการพยายามที่จะบรรลุการจ้างงานสูงสุดและอัตราเงินเฟ้อในอัตรา 2% ในระยะยาว คณะกรรมการมีความเห็นว่าความเสี่ยงในการบรรลุเป้าหมายการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อได้เคลื่อนไปสู่สมดุลที่ดีขึ้นในปีที่ผ่านมา แนวโน้มเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน และคณะกรรมการยังคงให้ความสำคัญกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเป็นอย่างมาก 

เพื่อสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว คณะกรรมการจึงตัดสินใจรักษาช่วงเป้าหมายสำหรับอัตราผลตอบแทนของธนาคารกลางไว้ที่ 5.25-5.50% ในการพิจารณาการปรับช่วงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนของธนาคารกลาง คณะกรรมการจะประเมินข้อมูลที่เข้ามา แนวโน้มการพัฒนา และความสมดุลของความเสี่ยง อย่างรอบคอบ

“คณะกรรมการไม่คาดว่าจะเป็นการเหมาะสมที่จะลดช่วงเป้าหมายจนกว่าจะเชื่อมั่นได้มากขึ้นว่าอัตราเงินเฟ้อกำลังเคลื่อนตัวอย่างยั่งยืนไปที่อัตรา 2%”

Advertisment

นอกจากนี้ คณะกรรมการจะยังคงลดการถือครองพันธบัตรกระทรวงการคลังและพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ และหลักทรัพย์ค้ำประกันโดยหน่วยงานรัฐต่อไป แต่นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน คณะกรรมการจะชะลอการลดการถือครองหลักทรัพย์ โดยลดเพดานการไถ่ถอนพันธบัตรกระทรวงการคลังรายเดือน (ปล่อยให้ครบอายุโดยไม่ซื้อเพิ่ม) จาก 60,000 ล้านดอลลาร์ ลงเหลือ 25,000 ล้านดอลลาร์ แต่จะคงวงเงินการไถ่ถอนรายเดือนสำหรับพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ และหลักทรัพย์ค้ำประกันโดยหน่วยงานรัฐไว้ที่ 35,000 ล้านดอลลาร์ และจะนำเงินต้นที่เกินกว่าขีดจำกัดนี้ไปลงทุนในพันธบัตรกระทรวงการคลัง 

“คณะกรรมการมีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะนำอัตราเงินเฟ้อให้กลับลงไปสู่เป้าหมาย 2%” 

“ในการประเมินจุดยืนที่เหมาะสมของนโยบายการเงิน คณะกรรมการจะติดตามผลกระทบของข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจที่เข้ามาใหม่ คณะกรรมการจะเตรียมปรับจุดยืนของนโยบายการเงินตามความเหมาะสม หากเกิดความเสี่ยงที่อาจขัดขวางการบรรลุเป้าหมายของคณะกรรมการ”

“การประเมินของคณะกรรมการจะพิจารณาข้อมูลที่หลากหลาย รวมถึงข้อมูลสภาวะตลาดแรงงาน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการคาดการณ์เงินเฟ้อ และพัฒนาการด้านการเงิน และด้านการระหว่างประเทศ” ถ้อยแถลงของเฟดระบุ 

ในช่วงแถลงข่าวหลังการประชุม เจอโรม พาวเวลล์ (Jerome Powell) ประธานเฟดกล่าวว่า แน่นอนว่าเฟดไม่พอใจกับอัตราเงินเฟ้อ 3% และมุ่งมั่นจะนำเงินเฟ้อลง 2% ให้ได้ อย่างไรก็ตาม เขาตอบผู้สื่อข่าวว่า การประชุมวันนี้หารือเรื่องการคงหรือลดดอกเบี้ยเป็นหลัก ไม่ได้มีการหารือถึงการขึ้นดอกเบี้ย 

นอกจากนั้น พาวเวลล์กล่าวว่านโยบายการเงินมีข้อจำกัด ซึ่งเขาเชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟดจะกังวลกับความเสี่ยงด้านการเติบโตขาลงมากกว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่สูงขึ้น 

ซีมา ชาห์ (Seema Shah) หัวหน้านักยุทธศาสตร์ระดับโลกของ พรินซิพัล แอสเสต แมเนจเมนต์ (Principal Asset Management) กล่าวว่า เฟดไม่สามารถหลบอยู่เบื้องหลังความคิดที่ว่า อัตราเงินเฟ้อที่แข็งค่าในช่วงนี้เป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น การยอมรับว่าเฟดยังขาดความคืบหน้าเพิ่มเติมในการลดเงินเฟ้อ เป็นการยืนยันว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเวลาอันใกล้นั้นไม่น่าจะเป็นไปได้อย่างยิ่ง 

“การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในปีนี้ ไม่เพียงแต่ต้องอาศัยการรักษาเสถียรภาพอัตราเงินเฟ้อเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยหลักฐานที่น่าเชื่อถือและยั่งยืนว่าแนวโน้มเงินเฟ้อกลับสู่จุดที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยแถลงการณ์ของเฟดก็ไม่ได้กล่าวถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่เพียงเน้นย้ำว่าพวกเขายังไม่อยู่ในจุดที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย”