
บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร ชี้แจงกรณีการลาออกจากการเป็นสมาชิกของบริษัท ระบุ การสมัครสมาชิกต้องมีคุณสมบัติ มองการลาออก เป็นเรื่องปกติ หากไม่สามารถทำได้ตามหลักเกณฑ์ ยันไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลง-แก้ไขข้อมูลสมาชิก ชี้ กรณีไม่เป็นสมาชิกข้อมูลในระบบจะถูกลบทิ้งทันที
วันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่มีลูกค้าของ บริษัท โคเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด พบปัญหาหลังการใช้บริการเครื่องกรองน้ำ Coway ที่แบกรับหนี้ค้างชำระ และการติดเครดิตบูโร ต่อมา บริษัท โคเวย์ (ประเทศไทย) ได้ออกจากการเป็นสมาชิกของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ เครดิตบูโร
ล่าสุด นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Surapol Opasatien” ว่า ตามที่มีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกเครดิตบูโรนั้น ผมขอให้เรียนข้อมูลเพื่อความเข้าใจพื้นฐานที่ถูกต้องดังนี้นะครับ
1.การเข้าเป็นสมาชิกเครดิตบูโรนั้นเป็นเรื่องความสมัครใจของกิจการนิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจสินเชื่อซึ่งอาจจะเป็นบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบ้าน สินเชื่อธุรกิจ เช่าซื้อ หรือสินเชื่อเกษตร เป็นต้น
2.นิติบุคคลดังกล่าวจะต้องเป็นสถาบันการเงินตามคำนิยามของกฎหมายการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต ตัวอย่างเช่น ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารของรัฐ บริษัทบัตรเครดิต บริษัทเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์การเกษตร เป็นต้น
3.หน้าที่ของสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกของเครดิตบูโรตามกฎหมายโดยไม่ต้องขอความยินยอมคือ การส่งข้อมูลบัญชีสินเชื่อที่มีประวัติการชำระหนี้ของสินเชื่อประเภทนั้น ๆ ว่ามียอดคงค้างเท่าไหร่ กู้เดี่ยวกู้ร่วม เปิดบัญชีเมื่อไหร่ ชำระครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ การผ่อนชำระแต่ละเดือนมีสถานะอย่างไร เป็นปกติ หรือค้างชำระ เป็นต้น
โดยข้อมูลนั้นจะต้องมีความถูกต้อง ครบถ้วน ทันสมัย พร้อมใช้งาน ที่สำคัญในกรณีที่พบว่าข้อมูลอาจไม่ถูกต้อง ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
กฎหมายกำหนดให้สมาชิกต้องเป็นคนเข้าไปแก้ไขให้ตรงกับข้อเท็จจริง เครดิตบูโรถูกสั่งห้ามไม่ให้แก้ไขข้อมูลใด ๆ เว้นแต่จะเข้าเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด เช่น ศาลสั่งให้แก้ คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิตสั่งให้แก้เป็นต้น และเมื่อส่งข้อมูลเข้าระบบแล้ว ในครั้งแรกของการส่งข้อมูล จะต้องมีหนังสือแจ้งว่าในฐานะสมาชิกได้ส่งข้อมูลอะไรให้กับเครดิตบูโร ตลอดจนเมื่อสิ้นปีก็ต้องส่งข้อมูลอีกว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้ส่งข้อมูลอะไรให้กับเครดิตบูโร
การที่กฎหมายวางหลักให้การส่งข้อมูลเป็นหน้าที่ของสมาชิกก็เพราะว่า ข้อเท็จจริงทั้งหมดคนที่รู้คือเจ้าหนี้กับลูกหนี้ บุคคลที่สามที่ดูแลข้อมูลจะใช้วิธีการควบคุมคุณภาพข้อมูลตามมาตรฐานสากลมากลั่นกรอง สอบทานก่อนนำข้อมูลเข้าสู่ระบบ ที่เราเรียกกันว่า กระบวนการควบคุมดูแลคุณภาพข้อมูล เช่น บัญชีนี้ถูกส่งมาว่าปิดบัญชีแล้วแต่ทำไมยังมียอดหนี้คงค้าง อย่างนี้ก็จะถูกสกัดออกไปเป็นต้น
4.ทีนี้ก็มาถึงเรื่องการลาออกจากการเป็นสมาชิกของเครดิตบูโรครับ การลาออกก็เป็นไปด้วยความสมัครใจเช่นกัน อาจจะมีหลายสาเหตุ เช่น ธุรกรรมน้อยไม่คุ้มกับการเป็นสมาชิก หยุดหรือเลิกกิจการ ถูกควบรวมกิจการ
ไม่คิดว่าข้อมูลเครดิตที่ตนเองเรียกดูได้ภายใต้ความยินยอมในการวิเคราะห์สินเชื่อนั้นนั้นมีคุณค่าเพียงพอ หรือข้อมูลที่สมาชิกนำส่งนั้นมีปัญหามากต้องใช้เวลาแก้ไข จนส่งข้อมูลไม่ทันตามกำหนดเวลา มีการปรับเปลี่ยนระบบงานจนทำให้การส่งข้อมูลล่าช้า ส่งไม่ทันตามกำหนดได้ เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นเหตุผลทางธุรกิจ เหตุผลทางการบริหารจัดการข้อมูล อันนี้แล้วแต่ประเด็นสำคัญของสมาชิกเป็นสำคัญครับ
5.สุดท้ายคือ เมื่อมีการลาออกจริงจากการเป็นสมาชิกเครดิตบูโรนะครับ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ เครดิตบูโรจะดำเนินการลบข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่ของบัญชีสินเชื่อที่มีการนำส่งเข้ามาครับ เคยส่งเข้ามา 3 เดือนย้อนหลังก็ลบทิ้งทั้งสามเดือน
การลบทำลายคือจะไม่มีข้อมูลบัญชีสินเชื่อนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่ออะไรก็ตาม ภาษาชาวบ้านคือลบบัญชีที่ลูกหนี้มีอยู่กับเจ้าหนี้สมาชิกสถาบันการเงินที่ลาออกนั้นออกจากระบบฐานข้อมูลในวันที่การลาออกมีผลบังคับ
อยากเรียนว่า การที่สถาบันการเงินจะเข้ามาเป็นสมาชิกก็จะมีกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติ ความสามารถในการส่งข้อมูล การดูแลความถูกต้องของข้อมูล การรักษาความลับและสิทธิของลูกหนี้ผู้เป็นเจ้าของข้อมูลนะครับ ส่วนการลาออกก็เป็นสิทธิของสถาบันการเงินเช่นกัน ไม่มีการบังคับกัน ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย ไม่ได้มีอะไรพิเศษ พิสดาร หรือแปลกแตกต่างไปจากมาตรฐานสากล
ภาษาชาวบ้านคือ เข้ามาเป็นเพราะเห็นประโยชน์ มีความสามารถเข้ามาได้ ผ่านเกณฑ์การประเมิน ส่งข้อมูลได้ และเมื่อเห็นว่าไม่มีความจำเป็นก็ลาออกไปได้ครับ ทางผมมีหน้าที่ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพราะมันมีกฎกติกาอยู่ครับ
เปิดคำชี้แจง “โคเวย์ (ประเทศไทย)”
ก่อนหน้านี้ บริษัท โคเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด โพสต์คำชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ระบุว่า บริษัท โคเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ตระหนักถึงผลกระทบของลูกค้าบางท่าน ดังที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์
บริษัทขอแจ้งให้ทุกท่านทราบว่า บริษัทได้ดำเนินการขอประชุมวาระเร่งด่วน กับ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เพื่อหารือและชี้แจงในรายละเอียดต่าง ๆ และได้รับความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่ลูกค้าทุกท่านได้เป็นที่เรียบร้อย
โดยทางบริษัทจะลาออกจากการเป็นสมาชิกของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ซึ่งจะมีผลทำให้ลูกค้าผู้ขอสินเชื่อ (การบริการ subscription รายเดือน) ของบริษัททุกรายจะไม่มีชื่อและข้อมูลที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของบริษัท โคเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด อยู่ในระบบฐานข้อมูลของเครดิตบูโรอีกต่อไป ซึ่งการดำเนินการนี้จะมีผลตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป
บริษัทขออภัยในความไม่สะดวกต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้ และขอเน้นย้ำว่าบริษัทน้อมรับฟังความคิดเห็นของลูกค้าทุกท่านอยู่เสมอ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าทุกปัญหาของลูกค้าโคเวย์ จะได้รับการแก้ไขโดยเร็วที่สุด โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของลูกค้าเป็นสำคัญ ซึ่งทางบริษัทได้นำข้อเสนอแนะจากเหตุการณ์ในครั้งนี้มาใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการแก่ลูกค้าทุกท่านให้ดียิ่งขึ้นต่อไป