ปัญหาของ “เทสลา” ในวันที่โลกไล่ตามมาทัน

tesla
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจ
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ในแวดวงอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลก มีผู้ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น “ผู้บุกเบิก” และเป็น “ผู้นำ” ทางด้านเทคโนโลยีอยู่มากมาย แต่ถ้าจำเพาะเจาะจงลงไปที่รถยนต์ใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ หรือที่กันว่า “อีวี” ทุกคนออกปากเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องเป็น “เทสลา” เท่านั้น

เทสลาใช้เวลาเพียงแค่ทศวรรษเศษ ผงาดขึ้นมาจากบริษัทสตาร์ตอัพ กลายเป็นผู้ผลิตที่เป็นผู้นำในตลาด Mass-market ของรถอีวี ถึงขนาดได้รับการกล่าวขานกันว่าเป็นผู้นำในการปฏิวัติอีวีของโลก

แต่ตอนนี้ “ยักษ์” ของวงการอีวี กำลังดิ้นรนอยู่กับสารพัดปัญหา ยอดขายตก การแข่งขันเข้มข้นโดยเฉพาะจากสารพัดแบรนด์จากประเทศจีน ทั้งยังมีปัญหาในตัวเองอีกมากมายกับ “กระบะไซเบอร์” (Cybertruck) ที่เปิดตัวอย่างฮือฮา ชวนตื่นตาตื่นใจก่อนหน้านี้

ลงเอยด้วยการที่เทสลาต้องทำอย่างที่ไม่เคยคิดจะทำ เช่น “หั่นราคาขาย” ในตลาดสำคัญ ๆ ลง เรื่อยไปจนถึง “ลอยแพพนักงาน” ราว 14,000 คน ซึ่งรวมถึงพนักงานอาวุโสในระดับผู้บริหารและทีมพัฒนาเครือข่าย “ซูเปอร์ชาร์จ” ทั้งทีม

เทสลา สร้างชื่อเสียงขึ้นมาในปี 2012 จาก “โมเดล เอส” ที่สามารถลบคำสบประมาท ลบภาพลักษณ์เก่า ๆ ของรถยนต์ไฟฟ้าก่อนหน้านั้นที่ว่า เป็นรถช้า ๆ ขับไม่สนุก ไม่ตื่นเต้น ใช้งานจริงไม่ได้ และได้ระยะทางจำกัดอย่างยิ่ง ให้กลายเป็นรถไฟฟ้าที่ทรงพลัง ขับสนุกและเร็วระดับสปอร์ตคาร์ ชาร์จครั้งเดียวขับได้ไกลถึง 265 ไมล์ แม้ราคาจะไม่ถูก แต่ผู้ครอบครอง “ยืด” ได้เต็มที่เพราะเท่ระเบิด

Advertisment

หลังจากนั้น เทสลาออกอีวีรุ่นใหม่ออกมาอีก 4 โมเดล ตั้งแต่โมเดลเอ็กซ์ ที่เป็นเอสยูวี, โมเดล 3 ที่ราคาอยู่ในระดับ “รับได้”, โมเดลวาย แล้วก็ไซเบอร์ทรัก

นอกเหนือจากโรงงานผลิตดั้งเดิมที่ ฟรีมอนต์ ในรัฐแคลิฟอร์เนียแล้ว เทสลายังเปิดโรงงานผลิตขนาดใหญ่ขึ้นที่เซี่ยงไฮ้ และเบอร์ลิน บวกกับโรงงานขนาดย่อมอีกจำนวนหนึ่งในสหรัฐอเมริกา เมื่อปีที่แล้ว เทสลาส่งมอบรถอีวีสู่ผู้ใช้ได้ถึง 1.8 ล้านคัน กลายเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ระดับ “แมส” เต็มตัว ก่อนเผชิญหน้ากับสารพัดปัญหาในเวลานี้

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเทสลานั้น ไม่มีอะไรสลับซับซ้อน ศาสตราจารย์ “ปีเตอร์ เวลส์” ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อการวิจัยอุตสาหกรรมรถยนต์ของมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ บอกว่า ในเวลานี้ “เทสลา” ไม่ได้อยู่ในฐานะ “ผู้บุกเบิก” เจ้าของผลิตภัณฑ์ใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นเจ้าของตลาดแต่เดิมที่ตอนนี้มีความท้าทายมากมายเข้ามาเผชิญ มีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในตลาดที่จำกัดอยู่เท่าเดิม

“พูดง่าย ๆ ก็ได้ว่า โลกไล่ตามเทสลามาจนทันแล้ว” ศาสตราจารย์เวลส์ระบุ

Advertisment

ผู้ผลิตรถยนต์ทั้งที่เคยเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีสันดาปภายใน อย่างเช่น โฟล์คสวาเกน ที่แทบจะทุ่มทั้งตัวพัฒนาอีวีของตนเองขึ้นมา หลังจากเจอเหตุอื้อฉาวถูกระบุว่าปกปิดบิดเบือนข้อมูลการปล่อยไอเสียในรถใช้น้ำมันดีเซลของตนเอง และยักษ์ใหญ่ในวงการรถยนต์ดั้งเดิม แถมยังมีสตาร์ตอัพอีวีโดยแท้จากจีน ที่ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมเต็มที่จากรัฐบาล อย่างเช่น Nio และ BYD ก็ผุดพราวขึ้นมากลายเป็นคู่แข่งขัน เสนอรถอีวีที่สมรรถนะใกล้เคียงกัน แต่ราคาถูกกว่าออกมา

ดังนั้นเมื่อถึงเวลาที่บรรดารัฐบาลหลายประเทศทั่วโลก หันมากาปฏิทินกำหนดวันที่จะห้ามใช้รถใช้น้ำมันในประเทศ บรรดาผู้ใช้รถยนต์ก็มีอีวีสารพัดไว้เป็นทางเลือกให้เลือกตัดสินใจใช้งาน

ผลเบื้องต้นก็คือ BYD ก้าวขึ้นมาแทนที่เทสลา ในฐานะผู้ผลิตรถยนต์อีวีที่ใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อสิ้นปี 2023 พร้อม ๆ กับที่ตลาดรถอีวีก็กลายเป็นตลาดที่มีตัวตนชัดเจนขึ้นมาในระดับโลก

แต่ในเวลาเดียวกัน บรรดารัฐบาลของหลายประเทศที่เคยให้การอุดหนุนทางการเงินเพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้อีวีแทนรถน้ำมัน พากัน “เหยียบเบรก” การสนับสนุนลงพร้อม ๆ กัน เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ว่าทำไม ยอดขายอีวีในช่วงไม่นานมานี้ถึงได้ลดลง ขนาดที่ทำให้ผู้ผลิตต้องหันมาหั่นราคาลงไปอีกเพื่อจูงใจ

“แมทเธียส ชมิดท์” นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมรถยนต์อิสระ เชื่อว่าทั้งหมดนั่นส่งผลกระทบต่อเทสลาอย่างรุนแรงและจริงจัง เพราะสภาพตลาดที่ก่อนหน้านี้เคยมีแต่เทสลากับเทสลา ให้เลือก ตอนนี้ไม่เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว

ยอดขายของเทสลาใน 3 เดือนแรกของปีนี้ ถึงได้ลดลงถึง 36% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ตอนนี้เทสลามาถึงทางสองแพร่งให้เลือกเดิน หนึ่งคือ หันกลับไปแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ สร้าง “รถขับเคลื่อนด้วยตัวเอง” (Full Self Driving) ขึ้นมา ตามที่ “อีลอน มัสก์” ซีอีโอคนดังเคยฝันถึง “โรโบแท็กซี่” ยี่ห้อเทสลานับล้าน ๆ คัน

หรือไม่ก็ลงมาคลุกฝุ่น หั่นราคา ลดต้นทุน ลดคน สู้อยู่ในตลาดแมสต่อไปเท่านั้นเอง