เปิดอันดับ “ประเทศที่อากาศมีมลพิษที่สุดในโลก” ไทยไม่ติดท็อป 10 !

Photo: Photoholgic/unsplash

เปิด 10 อันดับประเทศที่มลพิษมากที่สุดในโลก ไทยไม่ติดท็อป 10 ทั้งนี้ หมอกควันข้ามพรมแดนเป็นปัจจัยสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความเข้มข้นของ PM 2.5 เพิ่มขึ้นเกือบทุกประเทศ

วันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากข้อมูลของ IQAir องค์กรผู้สร้างแพลตฟอร์มข้อมูลคุณภาพอากาศที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้จัดอันดับประเทศที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกแบบเรียลไทม์ โดยจัดอันดับเมืองใหญ่ประมาณ 120 เมือง เรียงตามดัชนีคุณภาพอากาศ AQI (Air Quality Index) ซึ่งข้อมูลที่ใช้จัดอันดับรวบรวมจากสถานีตรวจสอบคุณภาพอากาศหลายพันแห่ง และเซ็นเซอร์คุณภาพอากาศที่ดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐ สถาบันวิจัย องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร บริษัท และนักวิทยาศาสตร์พลเมือง

ซึ่งตัวเลขที่แสดงแต่ละเมืองใหญ่คือดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) โดยเฉลี่ย (ค่ามัธยฐาน) จากสถานีทั้งหมดในเมืองนั้นในช่วงเวลานั้น ๆ โดยการจัดอันดับเมืองใหญ่จะอัปเดตอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อชั่วโมง เพื่อสะท้อนถึงสภาวะคุณภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลก

TOP 10 ไทยไม่ติดอันดับ

ประชาชาติธุรกิจสำรวจแพลตฟอร์มข้อมูลคุณภาพอากาศของ IQAir ณ วันที่ 7 พฤษภาคม 2567 เวลา 19.00 น. (เวลาประเทศไทย) พบตัวเลขจัดอันดับมลภาวะทางอากาศ ดังนี้

อันดับ 1 เดลี ประเทศอินเดีย : ความเข้มข้น PM 2.5 ในเมืองเดลีขณะนี้คือ 70.5µg/m³ สูงกว่าแนวทางคุณภาพอากาศประจำปีของ WHO 14.1 เท่า

Advertisment

อันดับ 2 หางโจว ประเทศจีน : ความเข้มข้น PM 2.5 ในเมืองหางโจวขณะนี้คือ 47µg/m³ สูงกว่าแนวทางคุณภาพอากาศประจำปีของ WHO 9.4 เท่า

อันดับ 3 ฮานอย ประเทศเวียดนาม : ความเข้มข้น PM 2.5 ในเมืองฮานอยขณะนี้คือ 46.9µg/m³ สูงกว่าแนวทางคุณภาพอากาศประจำปีของ WHO 9.4 เท่า

อันดับ 4 ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ : ความเข้มข้น PM 2.5 ในเมืองดูไบขณะนี้คือ 35.5µg/m³ สูงกว่าแนวทางคุณภาพอากาศประจำปีของ WHO 7.1 เท่า

อันดับ 5 กาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล : ความเข้มข้น PM 2.5 ในเมืองกาฐมาณฑุขณะนี้คือ 42.1µg/m³ สูงกว่าแนวทางคุณภาพอากาศประจำปีของ WHO 8.4 เท่า

Advertisment

อันดับ 6 ธากา ประเทศบังกลาเทศ : ความเข้มข้น PM 2.5 ในเมืองธากาขณะนี้คือ 37.2µg/m³ สูงกว่าแนวทางคุณภาพอากาศประจำปีของ WHO 7.4 เท่า

อันดับ 7 มานามา ประเทศบาห์เรน : ความเข้มข้น PM 2.5 ในเมืองมานามาขณะนี้คือ 36.5µg/m³ สูงกว่าแนวทางคุณภาพอากาศประจำปีของ WHO 7.3 เท่า

อันดับ 8 โดฮา ประเทศกาตาร์ : ความเข้มข้น PM 2.5 ในเมืองโดฮาขณะนี้คือ 35µg/m³ สูงกว่าแนวทางคุณภาพอากาศประจำปีของ WHO 7 เท่า

อันดับ 9 เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน : ความเข้มข้น PM 2.5 ในเมืองเซี่ยงไฮ้ขณะนี้คือ 34.5µg/m³ สูงกว่าแนวทางคุณภาพอากาศประจำปีของ WHO 6.9 เท่า

อันดับ 10 ย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา : ความเข้มข้น PM 2.5 ในเมืองย่างกุ้งขณะนี้คือ 38µg/m³ สูงกว่าแนวทางคุณภาพอากาศประจำปีของ WHO 7.6 เท่า

ทั้งนี้ การจัดอันดับเมืองจะอัปเดตอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อชั่วโมง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของอันดับเป็นประโยชน์ต่อการดูผลกระทบของเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น ไฟป่า การเผาไหม้ชีวมวล กิจกรรมทางอุตสาหกรรม พายุทราย และเหตุการณ์สภาพอากาศผกผันที่มีต่อคุณภาพอากาศในเมือง

รายงานคุณภาพอากาศโลก

ทุก ๆ ปี ผู้คน 7 ล้านคนเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ และอีกหลายพันล้านคนต้องทนทุกข์ทรมานจากผลกระทบของคุณภาพอากาศที่ไม่ดีโดยไม่จำเป็น แต่หลายคนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศได้ทันท่วงที และบ่อยครั้งที่มลพิษทางอากาศไม่มีใครสังเกตเห็น IQAir จึงมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้เพื่อโลกและทุกคน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2567 IQAir เผยรายงานคุณภาพอากาศโลกประจำปีครั้งที่ 6 ที่เป็นข้อมูลจากสถานีตรวจสอบคุณภาพอากาศมากกว่า 30,000 แห่งในสถานที่ 7,812 แห่ง ใน 134 ประเทศ ดินแดน และภูมิภาค ได้รับการวิเคราะห์โดยนักวิทยาศาสตร์คุณภาพอากาศของ IQAir พบรายละเอียดสำคัญที่น่าหนักใจเกี่ยวกับมลพิษในปี 2566 ดังนี้

– มีเพียง 7 ประเทศที่สามารถปฏิบัติตามแนวทาง PM 2.5 ประจำปี 2566 ของ WHO คืออยู่ที่ค่าเฉลี่ยต่อปี 5 µg/m3 หรือน้อยกว่า ได้แก่ ออสเตรเลีย เอสโตเนีย ฟินแลนด์ เกรเนดา ไอซ์แลนด์ มอริเชียส และนิวซีแลนด์

– 124 ประเทศ (92.5%) จาก 134 มีค่า PM 2.5 เกินค่าแนะนำประจำปีของ WHO (5 µg/m3)

– แอฟริกายังคงเป็นทวีปที่ด้อยโอกาสมากที่สุด โดยประชากร 1 ใน 3 ยังขาดการเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศ

– สภาพภูมิอากาศและหมอกควันข้ามพรมแดนเป็นปัจจัยสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งความเข้มข้นของ PM 2.5 เพิ่มขึ้นในเกือบทุกประเทศ

– ภูมิภาคเอเชียกลางและเอเชียใต้เป็นที่ตั้งของเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกสิบอันดับแรก

– 70% ของข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ในภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริบเบียนมาจากเซ็นเซอร์ราคาประหยัด