ADFEST ปัญญามนุษย์ ผนึกแนวคิด AI สร้างสรรค์โลกยั่งยืน

จินตนาการ ความเห็นอกเห็นใจ วัฒนธรรม ตลอดจนนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการบรรลุการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ที่สามารถตอบสนองทั้งผู้คน โลก และผลกำไร

ADFEST (แอดเฟส) เทศกาลสร้างสรรค์ระดับภูมิภาคที่จัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2541 เป็นแหล่งรวมแรงบันดาลใจสำหรับภาคธุรกิจ องค์กร และสังคม โดยผู้จัดงานตระหนักดีว่าแนวทาง และวิธีแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์และยั่งยืนสามารถขับเคลื่อนโลกใบนี้ได้

ปีนี้แอดเฟสจึงเพิ่มรางวัล “Sustainable Lotus” ให้เป็นหนึ่งใน 21 หมวดหมู่สำหรับการประกวดผลงานสร้างสรรค์ที่จัดภายใต้ธีม “HI” Human Intelligence หรือ “ปัญญามนุษย์” เพื่อให้เข้ากับกระแสสำคัญของโลก โดยมีผู้คนจากหลายประเทศทั่วโลกมาร่วมเทศกาลที่จัดขึ้นในประเทศไทย โดยปีนี้มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งหมด 1,587 รายการ และมีสมาชิกคณะลูกขุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ 63 คน จาก 23 เมืองทั่วโลก

วินิจ สุรพงษ์ชัย
วินิจ สุรพงษ์ชัย

“วินิจ สุรพงษ์ชัย” ประธาน ADFEST กล่าวว่า AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ กำลังมีบทบาทสำคัญต่อธุรกิจ และอุตสาหกรรมทุกแขนง ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่ง AI แบบดั้งเดิมนำมาใช้เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล และคาดการณ์เป็นหลัก แต่ปัจจุบันมีความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด จนเกิดเป็น Generative AI ที่เก่งในด้านผลงานสร้างสรรค์ และทำได้อย่างเกินความคาดเดา จนทำให้หลายคนคิดว่าปัญญามนุษย์ต้องแข่งขันกับปัญญาประดิษฐ์

“สำหรับ ADFEST 2024 เราไม่โฟกัสไปที่การแข่งขันกับ AI แต่เรามองในเรื่องการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับ AI มากกว่า เราต้องการค้นหาศักยภาพที่แท้จริงของปัญญามนุษย์ที่สามารถใช้ AI เพื่อเสริมพลังไปสู่อนาคตร่วมกัน เพราะแท้จริงแล้ววงการสร้างสรรค์ได้ใช้ประโยชน์จาก AI มานานพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโปรแกรมที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงาน หรือการวิเคราะห์ข้อมูลที่ซับซ้อนเพื่อให้เราเข้าใจได้ง่ายและเร็วขึ้น

Advertisment

ปัจจุบัน AI เป็นมากกว่าสิ่งอำนวยความสะดวก เพราะบทบาทของ AI เข้าใกล้ความเป็นคู่คิดมนุษย์มากกว่า ฉะนั้น งานแอดเฟสปีนี้จึงมุ่งเน้นการพูดคุยเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์และ AI ซึ่งกลายมาเป็นคู่คิดคนสำคัญในการทำให้งานสร้างสรรค์ให้ดูโดดเด่นและน่าตื่นตาตื่นใจ เราเห็นพ้องกันว่ามนุษย์เป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยี และสามารถพา AI ไปได้ไกล และร่วมสร้างผลงานที่มีคุณค่าและทรงพลัง”

สำหรับรางวัล Sustainable Lotus เกิดขึ้นเพื่อตระหนักถึงความสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ของสหประชาชาติ โดยแอดเฟสตระหนักดีว่าการผสมผสานความคิดสร้างสรรค์ ความรู้ การพัฒนาเทคโนโลยี และทรัพยากรมนุษย์เข้าด้วยกันอย่างเหมาะสมนั้นมีคุณค่าอย่างยิ่งต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ

มัลคอล์ม พอยน์ตัน
มัลคอล์ม พอยน์ตัน

“มัลคอล์ม พอยน์ตัน” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสร้างสรรค์ระดับโลก บริษัท เชอิล เวิลด์ไวด์ (Cheil Worldwide) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในฐานะประธานคณะลูกขุนรางวัล Effective Lotus, Innova Lotus และ Sustainable Lotus ของ ADFEST 2024 กล่าวว่า การตัดสินของคณะลูกขุนเกี่ยวกับผู้ชนะ Sustainable Lotus ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ 4 ข้อ และมีน้ำหนัก ดังนี้

หนึ่ง ความคิดสร้างสรรค์/ความเข้าใจ 30% สอง กลยุทธ์ 15% สาม การดำเนินการ 15% และสี่ ผลลัพธ์ 40%

Advertisment

โดยมิติของผลงานที่ส่งเข้าประกวดจะแบ่งเป็น ด้านสังคม : 1.ความยากจนและความหิวโหย 2.สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี 3.การศึกษา และ 4.เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ด้านสิ่งแวดล้อม : 1.การดำเนินการและการอนุรักษ์สภาพภูมิอากาศ และ 2.การจัดการพลังงาน สุขาภิบาล และชุมชนที่ยั่งยืน ด้านเศรษฐกิจ : 1.ความไม่เท่าเทียมลดลง 2.งานดีมีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน 3.นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน และสถาบันต่าง ๆ และ 4.ความร่วมมือเพื่อเป้าหมาย

“Sustainable Lotus ปีแรกมีผู้ส่งประกวดทั้งหมด 55 รายการ คณะกรรมการตัดสินได้รับรางวัลทองแดง 4 รางวัล เงิน 4 รางวัล และโลหะทอง 1 รางวัล โดยทีม FINCH จากซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และ DDB Aotearoa จากโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ ได้รับรางวัล Gold Award จากผลงาน Correct The Internet”

“มัลคอล์ม พอยน์ตัน” อธิบายถึงผลงาน Correct The Internet ว่า มาจากการเห็นปัญหาของความไม่เท่าเทียมทางเพศผ่านการสื่อสารข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต โดยทีม FINCH ได้ Keyword ง่าย ๆ ที่คนใช้ค้นหาบนอินเทอร์เน็ต เช่น ใครทำประตูได้มากที่สุดในฟุตบอลระดับนานาชาติ

“เครื่องมือค้นหาบนโลกอินเทอร์เน็ตได้จัดลำดับความสำคัญของนักกีฬาชายที่เป็นที่รู้จักมากกว่า แม้ว่าข้อเท็จจริงคนที่ทำประตูได้มากที่สุดเป็นนักกีฬาหญิงก็ตาม ทีมจึงนำเสนอวิดีโอเพื่อสื่อสารว่าผู้หญิงต้องได้รับการยอมรับมากขึ้นในโลกกีฬา ซึ่งจากสถิติมีผู้หญิงได้รับการพูดถึงบนสื่อเพียง 0.4% เท่านั้น

แคมเปญนี้กระตุ้นให้ผู้คนหันมาใช้เครื่องมือเพื่อเน้นผลการค้นหาที่ลดอคติ และอนุญาตให้ผู้คนรายงานผลการค้นหาที่ผิดพลาดได้ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุด เพราะ Google ได้ทำการติดต่อกลับ ผู้สร้างแคมเปญ Correct The Internet นี้ ด้วยการอัพเดตฟีเจอร์ใหม่เพื่อแก้ไขอคติที่คนค้นพบ

และตอนนี้ Correct The Internet เป็นส่วนหนึ่งของการสอบถามเกี่ยวกับรัฐบาลเกี่ยวกับข้อมูลที่ผิด เพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงอนาคตของอินเทอร์เน็ต”

ด้วยจุดมุ่งหมายในการเสริมพลังให้กับผู้หญิงผ่านพลังของการเล่นกีฬา Correct The Internet ยังได้รับการสนับสนุนจาก Football for the Goals (FFTG) ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มขององค์การสหประชาชาติที่เป็นเวทีสำหรับชุมชนฟุตบอลทั่วโลกในการมีส่วนร่วมและสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมาย (SDG)

มาซายะ อาซาอิ
มาซายะ อาซาอิ

“มาซายะ อาซาอิ” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสร้างสรรค์ บริษัท Droga5 กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และฐานะคณะลูกขุนรางวัล Effective Lotus, Innova Lotus และ Sustainable Lotus ของ ADFEST 2024 กล่าวถึงบทบาทของเอเยนซี่โฆษณาและครีเอทีฟในการสร้างผลกระทบเชิงบวกเรื่องความยั่งยืนว่า เอเยนซี่โฆษณา และครีเอทีฟต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะนักสื่อสาร เพราะงานที่สร้างขึ้นนั้นถูกเปิดเผยต่อผู้ชมในวงกว้าง ซึ่งงานของพวกเขาสามารถเปลี่ยนการรับรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนได้

“ผมคิดว่าการตระหนักรู้ด้านความยั่งยืนแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ และเมื่อเราพูดถึงความยั่งยืน จะไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ต้องพยายามคิดให้กว้างเมื่อต้องจัดการกับความยั่งยืน และบางโปรเจ็กต์ต้องการหลีกเลี่ยงแนวคิดที่ดูเหมือนเป็นการประชาสัมพันธ์มากกว่าโซลูชั่นเพื่อความยั่งยืนอย่างแท้จริง

ผมเคยร่วมงานกับบริษัทยาขนาดใหญ่ที่เป็นพันธมิตรกับสตาร์ตอัพที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีคลื่นเสียง พวกเขาทำการศึกษาเรื่องคลื่นเสียงแบบมอดูเลต และพบว่าช่วยลดอาการของโรคสมองเสื่อมได้ เราจึงริเริ่มที่จะเผยแพร่เสียงนี้ในที่สาธารณะ

เช่น สนามบิน ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือสถานที่ใด ๆ ที่ผู้มีคนจำนวนมาก เพราะคลื่นเสียงนับเป็นเวชศาสตร์ป้องกัน สามารถปรับปรุงคุณภาพชีวิตได้ โดยผู้สูงอายุประมาณ 30% จะมีอาการสมองเสื่อมบางรูปแบบ และหลายคนลังเลที่จะขอความช่วยเหลือหรือเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต โครงการนี้สามารถช่วยพวกเขาต่อสู้กับปัญหาสุขภาพได้”

“มาซายะ อาซาอิ” ยังกล่าวถึงปัญหาความยั่งยืนที่ประเทศญี่ปุ่นว่า ปัญหาหลักคือขยะเศษอาหาร เพราะร้านสะดวกซื้อมีอยู่ทั่วไปและมีอาหารจัดแสดงอาหารมากมาย จึงกลายเป็นขยะจำนวนมากในแต่ละวัน นอกจากนั้น ยังมีเรื่องปัญหาบรรจุภัณฑ์ที่มากเกินไป เพราะวัฒนธรรมญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการห่อของที่สวยงาม ผมมองว่าเป็นการใช้วัสดุให้เสียเปล่า บ่อยครั้งร้านค้าจะให้บรรจุภัณฑ์ส่วนเกิน แม้ผมจะปฏิเสธก็ตาม

“ดังนั้น การออกแบบสร้างสรรค์ในญี่ปุ่นจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาใหม่ เพราะการออกแบบที่ยั่งยืนยังคงสวยงามและใช้งานได้ดี เราจำเป็นต้องพิจารณาห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด ทั้งวัสดุที่ใช้ แนวปฏิบัติด้านจริยธรรม ไม่ใช่แค่เพียงรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์หรือโฆษณาเท่านั้น แบรนด์ต่าง ๆ กำลังแข่งขันกันสื่อสารด้านความยั่งยืน

แต่หลายผลงานกลับทำออกมาเพื่อผลประโยชน์ทางการตลาด เว้นแต่ว่าความยั่งยืนจะเป็นหัวใจสำคัญของค่านิยมของแบรนด์ ผลงานก็จะออกมาส่งเสริมความยั่งยืนที่แท้จริง ผมเชื่อว่าแบรนด์ต่าง ๆ ควรทำให้ความยั่งยืนเป็นมาตรฐาน ไม่ใช่สิ่งที่จะอวดอ้าง เราควรส่งเสริมการสื่อสารด้วยความซื่อสัตย์และโปร่งใส เพื่อหลีกเลี่ยงข้อกล่าวหาเรื่อง Greenwashing”

นับว่าความคิดสร้างสรรค์ เป็นหนึ่งกุญแจสำคัญสู่ความเจริญรุ่งเรืองทางสังคม และความสำเร็จทางธุรกิจในอนาคต ที่สำคัญ ยังส่งผลต่อการสร้างความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนอีกด้วย