กรุงเทพฯ ตั้งเป้าเป็น “มหานครโซลาร์เซลล์” ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

BABGKOK View
credit : pixabay

กทม.ขับเคลื่อนแผนแม่บทโลกร้อน ตั้งเป้าเป็น “มหานครโซลาร์เซลล์” ชวนทุกฝ่ายลดก๊าซเรือนกระจก ร่วมลดคาร์บอน 10 ล้านตันในปี 2573

วันที่ 24 เมษายน 2567 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เมื่อช่วงที่ผ่านมาได้มีการประชุมคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564-2573 (Steering Committee on the Implementation of Bangkok Master Plan on Climate Change 2021-2030) ครั้งที่ 1/2567 โดยการประชุม กทม.ได้พยายามพูดถึงเรื่อง Net Zero หรือการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เป็นศูนย์ ซึ่งถือเป็น Commitment เช่นเดียวกับทั่วโลก

“ในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้ปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์หรือปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 43,000,000 ตันต่อปี จุดมุ่งหมายคือต้องพยายามลดให้ได้ โดยที่เป้าหมายในปี 2573 ระยะสั้นจะลดคาร์บอนให้ได้อย่างน้อยประมาณ 10 ล้านตัน โดยเฉพาะจากภาคพลังงานที่มาจากการใช้พลังงานในอาคาร การใช้เครื่องปรับอากาศ และการใช้พลังงานที่มาจากภาคการขนส่ง”

“ซึ่งทั้งสองส่วนนี้รวมแล้วมากกว่า 90% เป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรุงเทพฯทั้งหมด ที่เหลือเป็นก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการฝังกลบขยะ ทำให้เกิดก๊าซมีเทนและส่งผลให้เกิดก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งน้ำเน่าเสีย โดยทั้งหมดจะลดลงด้วยการช่วยกันปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว”

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า เป้าหมายลดก๊าซขณะนี้ได้พยายามแยกย่อยเป้าหมายในแต่ละปีเพื่อทำให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งก็จะมีหลายมาตรการเข้ามาขับเคลื่อน ทั้งในเรื่องการขนส่ง การส่งเสริมการใช้รถขนส่งมวลชนให้มากขึ้น การลดการใช้น้ำมัน และการใช้โซลาร์เซลล์ให้มากขึ้น

“เรามีมาตรการหลายอย่างที่จะทำให้กรุงเทพฯ ของเรากลายเป็นมหานครของโซลาร์เซลล์ ให้มีการใช้พลังงานจากแสงแดดให้มากขึ้น เพราะเป็นพลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก

ในส่วนของกรุงเทพมหานครได้มีการโฟกัสที่ 3 เขต โดยได้เชิญองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) มาช่วยวัด ว่าแต่ละเขตได้สร้างก๊าซเรือนกระจกมากน้อยแค่ไหน ซึ่งอย่างน้อยตัวเราเองต้องดูก่อนว่าเราผลิตมากน้อยแค่ไหน จากนั้นเราจะขยายผลไปทุกเขต รวมถึงชุมชนต่าง ๆ ในเขตด้วย” 

ด้านนายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่วนใหญ่มาจากภาคพลังงาน ดังนั้นแผนจึงต้องมาจาก 3 ส่วน คือ

1.การส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพของพลังงาน เช่น การเปลี่ยนมาใช้หลอดไฟแอลอีดี หรือการจำกัดความเย็นของอาคาร ซึ่งใช้พลังงานเยอะมาก

2.คือการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน

3.คือเรื่องของการส่งเสริมการใช้การเดินทางทางเลือก ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดนี้ต้องเผยแพร่ให้กับประชาชนเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานของตัวเอง และให้แผนของภาคประชาชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก 10 ล้านตันต่อปีของกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ นายชัชชาติกล่าวอีกว่า ในการประชุมคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564-2573 (Steering Committee on the Implementation of Bangkok Master Plan on Climate Change 2021-2030) ที่ประชุมได้พิจารณารายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามโครงการต่าง ๆ ประกอบด้วย

รายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564-2573 จำนวน 160 โครงการ โดยที่ประชุมขอให้เปรียบเทียบความสำเร็จของโครงการกับเป้าหมาย และโครงการที่สำเร็จแล้วให้คิดเป็นปริมาณคาร์บอนที่ลดได้

เพื่อให้เห็นความสำเร็จตามตัวชี้วัด จากนั้นที่ประชุมได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างโยโกฮามากับกรุงเทพมหานคร (City-to-City Collaboration for Zero-Carbon Society) โดยผู้แทนโครงการ OECC (Overseas Environmental Cooperation Center) ประเทศญี่ปุ่น

สำหรับรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการศึกษาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยแบบจำลอง Asia-Pacific Integrated Model (AIM) คณะทำงานได้กำหนดกรอบการทำงาน โดยตั้งเป้าสมมติฐานภายใต้ Scenario ต่าง ๆ และเห็นว่าหาก กทม.ตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ จะต้องเริ่มจากการใช้พลังงานสะอาดภายในหน่วยงาน ร่วมกับภาคประชาสังคมให้ความร่วมมือแยกขยะ เพื่อให้การจัดการขยะในภาพรวมดีขึ้น

ส่วนการแก้ไขในอนาคตต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุน ที่ประชุมเห็นว่าในระยะยาวหากมีโครงการความร่วมมือกับต่างประเทศโดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ให้มากขึ้น จะทำให้ กทม.สามารถลดก๊าซเรือนกระจกในอนาคตได้อย่างชัดเจน ร่วมกับการรณรงค์ให้ประชาชนและทุกภาคส่วนตระหนักถึงการแยกขยะ

“สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ หัวใจคือเรื่องการเดินทาง ที่ต้องเข้าไปดูที่ต้นตอ ในระบบรถที่ใช้ EV ก็ต้องดูว่าสามารถลดคาร์บอนได้กี่ตันและอาจต้องใช้มาตรการทางกฎหมายควบคู่กันด้วย ซึ่ง กทม.ไม่ได้มีอำนาจควบคุมทั้งหมด แต่มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ผ่านมา สภา กทม.ได้เคยเห็นชอบข้อบัญญัติควบคุมรถโดยสารสาธารณะให้เป็น EV แต่สุดท้าย คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นว่าไม่ใช่อำนาจของ กทม.ในการควบคุมรถโดยสารสาธารณะ

จึงทำให้ต่อไป กทม.ต้องมาดูเรื่องที่อยู่ในอำนาจ เช่น มาตรการแยกขยะ คนไหนที่แยกขยะจะจ่ายค่าจัดการขยะที่น้อยลง โดยต้องพยายามหามาตรการให้มากขึ้น สุดท้ายจะต้องนำมาตรการทางเศรษฐกิจเข้ามาจูงใจ ดูว่าจะนำกฎหมายที่มีมาออกข้อบังคับได้อย่างไรเพื่อโน้มน้าวประชาชน” 

นายชัชชาติกล่าวอีกว่า ในส่วนของรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์ของกรุงเทพมหานคร (Carbon Footprint for Organization : CFO) โดยกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. และรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ องค์การ JICA องค์การ GIZ องค์การ GCoM และบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (IFC)

ความร่วมกับต่างประเทศมีหลายโครงการต้องพยายามทำให้ชัดเจนขึ้น อย่างทางญี่ปุ่นก็ได้ให้ความช่วยเหลือ กทม.มาอย่างเหนียวแน่นตลอดมา นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาแผนการดำเนินการประจำปีของการดำเนินงานตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานครประจำปี 2567 และร่างแผนปฏิบัติการพลังงานกรุงเทพมหานคร (Bangkok Energy Action Plan) โดยแผนปฏิบัติการพลังงานกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2567-2573 มีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ

1.กำหนดกรอบและทิศทางการดำเนินงานในระดับแผนปฏิบัติการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและภาคขนส่งในกรุงเทพมหานครอย่างเป็นรูปธรรม

2.กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของภาคพลังงานและภาคขนส่งที่สอดคล้องกับมาตรการที่ระบุในแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (พ.ศ. 2564-2573)

3.เป็นแนวทางเพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครมีการดำเนินงานที่สอดคล้องหรือเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงช่วยสร้างความต่อเนื่องและความยั่งยืน

4.เพื่อส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้สังกัดกรุงเทพมหานคร ตลอดจนภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

ทั้งนี้จะแบ่งแผนเป็น 3 ระยะ คือ

  • ระยะที่ 1 พ.ศ. 2566-2567 ระยะเตรียมความพร้อม
  • ระยะที่ 2 พ.ศ. 2568-2570 การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการอย่างเต็มรูปแบบ
  • ระยะที่ 3 พ.ศ. 2571-2573 ส่งเสริมการดำเนินงานของภาคส่วนต่าง ๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง และสามารถติดตามประเมินผลโครงการและมาตรการต่าง ๆ เพื่อพิจารณาผลสัมฤทธิ์และปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก

“แผนแม่บทต้องยืดหยุ่นสามารถเพิ่มและลดได้ พร้อมกำหนด KPI ตัวชี้วัดให้ชัดเจน และพิจารณาเรื่องการออกกฎหมาย การออกข้อบัญญัติ กทม. ว่าจะนำมาใช้อย่างไรเพื่อจูงใจประชาชนให้ร่วมโครงการให้มากขึ้น นอกจากนี้ เห็นว่าการตั้งเป้าหมายไกลไปนั้นไม่ดี ควรทำเป้าหมายให้สั้นเพื่อให้เห็นผลได้ทันที” 

กรุงเทพมหานคร