เส้นทางขนกากแคดเมียมไปบ่อฝั่ง จ.ตาก เริ่มพรุ่งนี้ ชาวบ้านเผย ยังกังวล

ขนย้ายกากแคดเมียมกลับบ่อฝัง จ.ตาก เริ่มพรุ่งนี้ จังหวัดตากตรวจความพร้อมโรงพักคอยของเบาด์แอนด์บียอนด์ ที่จะใช้เก็บกาก ขณะที่รอบ่อฝังกลบหมายเลข 5 ซ่อมเสร็จ ชาวบ้านเผยความรู้สึก ยังกังวลความปลอดภัย

วันที่ 28 เมษายน 2567 รายงานข่าวจากจังหวัดตากแจ้งว่า นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก มอบหมายให้ นายสุรพล วงศ์สุขพิศาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบความพร้อมโรงพักคอยของ บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ก่อนการขนย้ายกากแคดเมียมกลับคืนบ่อฝังกลบที่ จ.ตาก โดยมีตัวแทนชาวบ้าน ต.หนองบัวใต้ อ.เมืองตาก, สส.ตาก เขต 1, วิศวกรผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมเจ้าหน้าที่ของบริษัทเข้าร่วมตรวจสอบด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมเห็นชอบแผนการขนย้ายกากแคดเมียมที่เสนอโดยบริษัทเบาด์แอนด์บียอนด์ ที่กำหนดให้เริ่มการขนย้ายกากแคดเมียมจากโรงงานเจแอนด์บี เมททอล สมุทรสาคร และโรงงานล้อโลหะไทย กรุงเทพ ในช่วงค่ำของวันจันทร์ที่ 29 เมษายน 2567

โดยจะเริ่มขนเที่ยวแรกเริ่มตั้งแต่เวลา 19.00 น. ด้วยรถเทรลเลอร์ท้ายเรียบ จำนวน 4 คัน และรถ 10 ล้อพ่วงล้อมคอก จำนวน 6 คัน โดยรถทุกคันจะมีการตรวจสอบความปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดการรั่วไหลฟุ้งกระจายของกากแคดเมียมก่อนออกเดินทาง

คาดว่ารถเที่ยวแรก จะถึงจุดหมายปลายทาง จ.ตาก ช่วงเช้ามืดของวันที่ 30 เมษายน 2567 หลังจากนั้นจะเริ่มทยอยขนที่เหลือจาก จ.สมุทรสาคร และ จ.ชลบุรี ทุกวัน โดยใช้รถขนส่งที่เตรียมไว้จำนวน 30 คัน จนถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2567

Advertisment

โดยกากแคดเมียมทั้งหมดจะถูกนำไปพักไว้ที่โรงพักคอยของบริษัทเบาด์แอนด์บียอนด์ จ.ตาก เพื่อรอการซ่อมแซมบ่อฝังกลบหมายเลข 5 ให้เสร็จเรียบร้อย แล้วจึงนำกากแร่ทั้งหมดมาฝังกลบ และทำการปิดบ่อภายในวันที่ 30 กันยายน 2567

สำหรับการตรวจสอบของ จ.ตาก ในวันนี้ ได้ตรวจสอบความพร้อมของโรงพักคอย ซึ่งมีขนาดพื้นที่ 2,200 ตารางเมตร สามารถรองรับกากแคดเมียมได้กว่า 14,000 ตัน โดยปัจจุบันโรงพักคอย ได้ปรับพื้นด้วยดินลูกรังสูง 30 เซนติเมตร และปูทับด้วยแผ่นดินเหนียวสังเคราะห์ กันซึมเปื้อน แต่ยังปูไม่แล้วเสร็จ คาดว่าจะเสร็จในอีก 1-2 วันนี้ ตลอดจนได้เตรียมร่องระบายน้ำ ปั๊มน้ำ บ่อรองรับน้ำฝน และวัสดุปิดคลุมไว้แล้ว

ขณะที่ชาวบ้านที่เข้าร่วมตรวจสอบด้วย พบว่า ยังมีความกังวลเรื่องความปลอดภัย อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บดอัดพื้นดินลูกรังให้เรียบ เพื่อไม่ให้แผ่นดินเหนียวสังเคราะห์ที่ปูทับไว้ รั่วหรือฉีกขาดได้ง่าย การนำถุง Bigbag ใส่กากแร่ลงจากรถขนส่ง ให้มีมาตรการป้องกันไม่ให้มีการฟุ้งกระจาย นอกจากนี้ ชาวบ้านยังมีความประสงค์จะเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการขนย้าย เหมือนอย่างที่ได้ตกลงกับภาครัฐไว้ก่อนหน้านี้ด้วย

Advertisment