
ท่ามกลางกระแสข่าวการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรีเศรษฐา 1/2 กำลังแรงขึ้นเรื่อย ๆ รัฐมนตรีหลายคนมีชื่อหลุดโผ แต่สำหรับ “พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ยังปรากฏอยู่บนพื้นที่สื่อกระแสหลักทุกวัน
อาจจะเรียกได้ว่าวิกฤตการหลุดรอดของกากแคดเมียมจาก จ.ตาก เป็นโอกาสในการพิสูจน์ฝีมือของนักการเมืองหญิงวัยเพียง 45 ปี ที่ออกโรงลงพื้นที่กำกับดูแลการแก้ปัญหากากแคดเมียมด้วยตัวเองอย่างไม่ลดละความพยายาม
นับเป็นเวลาร่วมเดือนแล้วที่ “กากแร่แคดเมียม” จากเหมืองแร่สังกะสีของ บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือเดิมคือ บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ต้นตอประเด็นร้อนในสังคม ยังไม่คลี่คลาย ทั้งเรื่องที่มาที่ไปของการอนุมัติเอกสารการขนย้ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังคลุมเครือว่าจุดผิดพลาดนี้อยู่ตรงไหน
ทั้งที่ตามรายงานด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) กำหนดให้ฝังกลบถาวร แต่บริษัทดังกล่าวกลับนำออกมาทำสัญญาขายให้กับ บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ซึ่งประกอบกิจการหลอมหล่ออะลูมิเนียมแท่ง อะลูมิเนียมเม็ดจากเศษอะลูมิเนียม และตะกรันอะลูมิเนียม (SCRAP AND DROSS)
และเริ่มขนย้ายกากที่บรรจุในถุงบิ๊กแบ็ก ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2566 รวมประมาณ 13,450 ตัน จากใบอนุญาตขนย้ายเมื่อปี 2560 จำนวน 15,000 ใบ มีการขุดกากแคดเมียมออกมาจากพื้นที่กระจายขายไปยังจังหวัดต่าง ๆ รวม 3 จังหวัด คือ สมุทรสาคร ชลบุรี และกรุงเทพฯ
คำถามคือใครควรต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ เพราะกากแร่ดังกล่าวขึ้นชื่อว่าเป็น “วัตถุอันตราย” ซึ่งแม้ว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะมีมาตรการโยกย้าย “อุตสาหกรรมจังหวัดตาก” มาอยู่กระทรวง อาจจะถูกตั้งคำถามว่าเพียงพอหรือยัง
ขณะเดียวกัน กระบวนการจัดการกับกากแร่แคดเมียมกว่า 12,000 ตันนั้น แน่นอนว่าจะต้องส่งกลับไปยัง จ.ตาก เพื่อฝังกลบโดยเร็วที่สุด แต่ผ่านล่วงเลยมาเกือบเดือนแล้ว นับจากที่พบ รมว.อุตสาหกรรมมีคำสั่งให้ส่งกลับภายใน 7 วัน แต่ต้อง “เลื่อน” ออกมาเรื่อย เป็น 7 พ.ค. 2567 กระทั่งล่าสุดกำหนดการส่งกลับได้ตกผนึกแล้ว เป็น “ภายในเดือนเมษายน” 2567 แต่ยังมีเสียงคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่ จ.ตาก อย่างต่อเนื่อง
ซักซ้อมการขนย้าย
ภายหลังจากคณะทำงานแก้ไขปัญหาและการขนย้ายกากตะกอนแร่แคดเมียมเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน เห็นชอบให้เร่งการเริ่มดำเนินการขนย้ายให้เร็วขึ้นจากแผนเดิมที่วางแผนไว้ว่าจะเริ่มทำการขนย้าย ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ตามคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
“นายณัฐพล รังสิตพล” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่จังหวัดตากประชุมกับคณะทำงาน พิจารณาแผนบริหารจัดการการขนย้ายกากแคดเมียม พร้อมกับสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ จ.ตาก และจังหวัดที่มีกากแคดเมียมกระจายอยู่ 5 จุดในปัจจุบัน ถึงหลักการในการขนย้ายที่ถูกต้อง มีความปลอดภัยสูง และจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน รวมไปถึงได้รับการยอมรับของประชาชนในพื้นที่ด้วย
“การลงพื้นที่ของปลัดกระทรวงได้ไปดูถึงความแข็งแรงของบ่อคอนกรีตของบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) จังหวัดตาก ซึ่งจะเป็นบ่อสำหรับฝังกลบ ว่าจะต้องมีการปรับปรุงบ่อ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา แต่เชื่อมั่นว่าจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการขนย้าย”
ทั้งนี้ ทางบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จะเร่งปรับปรุงซ่อมแซมบ่อฝังกลบกากตะกอนแร่ให้มีความมั่นคงแข็งแรงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก
โดยจะเร่งปูพื้นอาคารโกดังเก็บแร่ ซึ่งจะใช้เป็นอาคารจัดเก็บพักคอยกากตะกอนแร่ด้วยวัสดุป้องกันการรั่วซึม พร้อมจัดทำระบบรวบรวมน้ำและบ่อตกตะกอน ป้องกันการปนเปื้อนและการรั่วซึมของกากตะกอนแร่ลงสู่ผิวดิน ตามข้อเสนอแนะของประชาชนรอบโรงงานที่ตั้งของบ่อฝังกลบ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและสามารถเริ่มทำการขนย้ายกากตะกอนแร่ทั้งหมดมาจัดเก็บพักคอยในอาคารโกดังเก็บแร่ รอการปรับปรุงซ่อมแซมบ่อฝังกลบแล้วเสร็จและจะทำการขนย้ายอย่างปลอดภัยโดยเร็วที่สุด
ส่วนรถที่จะใช้ในการขนส่งและวิธีการขนย้ายกากตะกอนแร่ คณะทำงานมีมติให้บริษัททำการขนย้ายกากตะกอนแร่ที่บรรจุถุงในลักษณะ Double Bag ด้วยรถบรรทุกที่มีวัสดุปิดคลุมมิดชิดร่วมกับการขนย้ายด้วยรถขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์ในช่วงแรก ซึ่งรถที่ใช้เป็นรถที่มีการขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมการขนส่งทางบกมีการติดตั้งระบบ GPS และควบคุมการขนส่งด้วยระบบ Manifest
โดยคณะทำงานจะทำการประเมินปัญหาและอุปสรรคในการขนย้ายและการฝังกลบเพื่อพิจารณาปรับปรุงแผนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การขนย้ายสามารถดำเนินการไปได้ด้วยความรวดเร็ว มีความปลอดภัย เป็นไปตามกฎหมาย และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน
เดินหน้าคดี
พร้อมกันนี้ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมยังเน้นย้ำว่า คณะทำงานจะเร่งรัดการตรวจสอบ สืบสวน แสวงหาข้อเท็จจริง และนับปริมาณที่แท้จริงของกากแคดเมียมด้วย ปัจจุบันปริมาณที่พบอยู่ที่ 12,535 ตัน จากปริมาณที่คาดการณ์ไว้เริ่มต้นอยู่ที่ 13,800 ตัน ทั้งนี้ จะต้องมีการพิจารณาปริมาณที่แท้จริง เพราะมีเรื่องของความชื้น และอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นจะต้องรอบคอบต่อไป และการหาผู้กระทำความผิดและดำเนินคดี โรงงานรีไซเคิลที่ไม่ได้มาตรฐานของทุนจีนสีเทาที่จังหวัดชลบุรี
ซึ่งขณะนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) โดย นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการ ป.ป.ท. นายเอกชัย เกษมสุขธวัช รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และคณะ ตรวจสอบข้อเท็จจริง แลกเปลี่ยนข้อมูล และวางแนวทางแก้ไขปัญหา วางมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต
รวมถึงร่วมกันตรวจสอบขยายผลว่าการขนย้ายกากตะกอนแร่จากจังหวัดตากมีการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพื่อให้การจัดการและการดำเนินการอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศเป็นอันดับแรก
นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวว่า ทาง ป.ป.ท. และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมกันหารือในประเด็นกากตะกอนแร่จากจังหวัดตาก ที่กังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่ตรวจพบ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
โดยจะร่วมมือกันตรวจสอบว่าการขนย้ายกากแคดเมียมดังกล่าว ได้ทำการขออนุญาต และการอนุญาตของเจ้าหน้าที่รัฐถูกต้องหรือไม่ โดยหากพบว่าผู้ประกอบการ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่รัฐรายใดไม่ปฏิบัติตามระเบียบหรือกฎหมาย จะดำเนินคดีและนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษอย่างเด็ดขาด
“ผมเน้นย้ำกับข้าราชการกระทรวงในการดำเนินการหรือปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยกันหาแนวทางและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้รวดเร็วที่สุด ซึ่งได้รับความร่วมมือที่ดีจาก ป.ป.ท. ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการกับผู้กระทำความผิด และแนวทางการแก้ไขป้องกันต่าง ๆ”
กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการโดยยึดตาม “ข้อสั่งการ” ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่เน้นการแก้ปัญหามีประสิทธิภาพ ถูกต้อง ครบถ้วน โปร่งใสตรวจสอบได้ และคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นลำดับแรก ซึ่งเชื่อมั่นได้ว่าบทพิสูจน์การทำงาน คลี่คลาย “ปมกากแร่แคดเมียม” นี้จะมีส่วนสำคัญต่อการวางอนาคตทางการเมืองของรัฐมนตรีแห่งกระทรวงอุตสาหกรรมไม่มากก็น้อย