เปิดใจบิ๊กธุรกิจ ธนสรรไรซ์ ลงพื้นที่ชิมข้าวจำนำ 10 ปี ทำไมมั่นใจร่วมประมูล?

ศุภชัย วรอภิญญาภรณ์
ศุภชัย วรอภิญญาภรณ์
สัมภาษณ์พิเศษ

ประเด็นร้อนจากกรณีที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะหลังลงพื้นที่ตรวจสอบข้าวสารในโกดังของรัฐบาลตามโครงการรับจำนำข้าว ที่คลังกิตติชัยหลัง 2 อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ปัจจุบันมีข้าวประมาณ 112,711 กระสอบ

และคลัง บจก.พูนผลเทรดดิ้ง หลัง 4 อ.เมืองสุรินทร์ จ.สุรินทร์ มีข้าวจำนวน 32,879 กระสอบ ที่ได้นำข้าวที่เก็บอยู่ในโกดังมาหุงและรับประทานร่วมกับสื่อมวลชนและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อยืนยันว่าข้าวดังกล่าวปลอดภัยและสามารถรับประทานได้ และประกาศว่าหลังจากนี้จะมีการเปิดประมูลข้าวภายในเดือนพฤษภาคมเพื่อปิดบัญชีโครงการรับจำนำ

หนึ่งในเอกชนผู้ลงพื้นที่ร่วมกินข้าวจากโครงการรับจำนำครั้งนี้คือ เสี่ยแอร์ “ศุภชัย วรอภิญญาภรณ์” ประธานกรรมการ บริษัท ธนสรรไรซ์ จำกัด บริษัทผู้ส่งออกข้าวท็อป 5 ของประเทศไทย ที่ส่งออกกว่า 6.4 แสนตันในปี 2566 ที่ผ่านมา ได้ให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” หลังเกิดประเด็นดราม่าคุณภาพข้าวจากโครงการรับจำนำ 10 ปี

ที่มาที่ไปของการลงพื้นที่ชิมข้าวจำนำ 10 ปี

นายศุภชัยกล่าวว่า ที่ลงพื้นที่ไปด้วย เพราะเราได้รับการเชิญจากกระทรวงพาณิชย์เป็นจดหมาย เพื่อให้เข้าร่วมการจัดคณะลงพื้นที่ในฐานะของภาคส่งออก

Advertisment

เนื่องด้วยทางกระทรวงพาณิชย์มีภาระหน้าที่ในการคุมคลังสินค้าเกษตรในโครงการรับจำนำ

“เราก็ได้ลงไปร่วมด้วยและผมได้ไปชิมด้วย ถ้าให้ดูในทางกายภาพสภาพของข้าวก็ยังมีสภาพที่ใช้ได้ ถือว่าคลังนี้เก็บรักษาได้ดี ถ้าหากเทียบกับครั้งก่อน ๆ ที่เคยขายออกมาถือว่าครั้งนี้มีการดูแลรักษาข้าวอยู่ในสภาพที่ดี ไม่นับรวมในเรื่องของการเมืองที่มีการโต้แย้งกันเป็นดราม่า”

ควรต้องมีการตรวจดีเอ็นเอไหม

ก่อนหน้านี้รัฐได้มีการระบายข้าวออกมาหลายล้านตัน ซึ่งก็ไม่ได้มีการตรวจดีเอ็นเอ เพราะตามระบบการประมูลข้าวก็จะเปิดให้ผู้ซื้อเข้าไปดูสภาพข้าวและประมูลเสนอราคาซื้อตามสภาพที่เห็นเลย

“ในส่วนนี้หลังจากที่มีประเด็นดราม่า ผมก็ยังมองว่าหากตัดประเด็นความกังวลของคนไทยก็ควรจะเปิดประมูลเพื่อการส่งออก ซึ่งก็จะสามารถทำให้ระบายข้าวลอตนี้ออกไปได้”

Advertisment

“ข้าวเป็นสินค้าที่มีมูลค่าอยู่แล้ว แต่การที่นักวิชาการออกมาประเมินอย่างนี้ก็จะทำให้เป็นการด้อยค่า และทำให้ข้าวของเราเสียหาย และที่สำคัญคือนักวิชาการที่ออกมาหลายคนมีการให้ความเห็น เช่นบอกว่ามีสารก่อมะเร็ง อีกคนออกมาที่ไม่สอดคล้องกันทั้งที่เรียนมาเหมือนกัน อาจารย์แต่ละคนยังพูดออกมาไม่เหมือนกันเลย มาทำให้เป็นประเด็นแบบนี้จะทำให้ประเทศเสียหายไปเปล่า ๆ”

ขั้นตอนการตรวจสอบทำให้มั่นใจ

ในตอนที่ไปดูคลัง ก็มีกระบวนการในการตรวจสอบแบบจริงจัง อาจจะเรียกว่าเกินจากที่เราคาดคิดไว้ด้วย เราคิดว่าจะให้เข้าไปดูเพื่อประเมินภาพรวม แต่มีการสุ่มตัวอย่างออกมาตรวจสอบมีระบบและมีวิธีการที่มีความน่าเชื่อถือ

ทั้งยังมีผู้ที่เกี่ยวข้อง มีสื่อมวลชนไปร่วมพิสูจน์จำนวนมาก และทางภาครัฐก็ไม่ได้ปิดบังอะไรเปิดให้เข้าไปดู ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ

“ถ้าไม่ได้พูดถึงเรื่องการเมือง ผมว่ากระบวนการเหล่านี้ก็เป็นการดำเนินการอย่างเป็นระบบจริงจังและมีความน่าเชื่อถือ เรายืนอยู่ตรงนั้น และทางท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ก็กินข้าวจริง ๆ เราเห็นเขากินแล้วเราก็กินข้าวด้วยเหมือนกัน ”

หลังจากกินไปแล้วกลัวไหม

“ผมไม่กลัว เพราะว่าเราทำข้าวมาเป็น 20 ปีแล้ว เรารู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่การที่นักวิชาการออกมาให้ความเห็นด้อยค่าคุณภาพข้าวของเราเอง นี่จะเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบกับประเทศมากกว่า”

เพราะว่าที่ผ่านมา เราส่งออกมาเป็น 10 ล้านตันแล้ว อันนี้เป็นข้าวแค่หมื่นกว่าตัน คงไม่ได้มามีปัญหาเพราะแค่นี้ แต่นักเลงคีย์บอร์ดที่มาให้ความเห็นต่างหากที่จะทำให้เกิดความเสียหาย”

ตลาดส่งออกรับซื้อได้

ในส่วนของตลาดส่งออกมีความพร้อมที่จะซื้อข้าวอยู่แล้ว เพราะจะมีตลาดกลุ่มประเทศแอฟริกาที่นิยมบริโภคข้าวเก่าเคยซื้อไปเป็นหลักสิบล้านตันแล้วไม่เคยมีปัญหา

“จากประสบการณ์ของผมที่ผ่านมาก็เข้าร่วมการประมูลข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลจากโครงการรับจำนำไปหลายล้านตัน ซึ่งที่นำออกมาประมูลก็เก่าแล้วตอนนั้นก็เก็บมา 6-7 ปีแล้ว แต่ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร และคิดว่าสภาพข้าวที่ไปดูในคลังที่สุรินทร์สามารถเปิดประมูลเพื่อการส่งออกได้แน่นอน ”

“ตลาดแอฟริกาเป็นตลาดที่บริโภคข้าวเก่า เพียงแต่ว่ามีเงื่อนไขว่าราคาอาจจะไม่สูงมากจนเกินไป เพราะข้อดีของข้าวเก่าคือ เมื่อหุงแล้วขึ้นหม้อ ซึ่งเอาจริง ๆ แล้วตลาดที่บริโภคในประเทศก็เป็นตลาดที่นิยมข้าวเก่าเหมือนกัน อย่างเช่นในร้านอาหารร้านข้าวแกงเพราะว่าข้าวเก่าหุงขึ้นหม้อ

สมมุติว่าร้านขายไม่หมดก็สามารถนำมาอุ่นนำมาหุงได้ ส่วนข้าวหอมมะลิใหม่นิยมจะเอาไปทำข้าวต้ม เพราะว่ามียาง แต่จะไม่นิยมนำมาหุง เพราะหุงแล้วจะแฉะเละ ร้านจะนิยมข้าวเก่าหรือข้าวแข็งอย่างเช่นข้าวเสาไห้ไปเลย แต่ถ้าตัดดราม่าไปก็ต้องไม่ขายในประเทศ ขายเพื่อส่งออกอย่างเดียว”

ต้องแจงมีความมั่นใจต่อลูกค้าหรือไม่

ไม่ต้องแจง เพราะว่าส่วนของลูกค้า เขาก็มีระบบในการตรวจสอบสินค้านำเข้าของเขา แล้วเขามีบริษัทเซอร์เวย์เยอร์ระดับโลกในการตรวจสอบเพื่อที่จะนำเข้าข้าวอยู่แล้ว ซึ่งเขาก็จะต้องมาดูว่าคุณภาพที่ส่งไปได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ตามที่เขากำหนดเขาก็ไม่รับมอบ ถ้าได้ตามคุณภาพเขาก็รับมอบ ซึ่งมีเป็นกระบวนการปกติ

ประเมินราคาประมูล 15-20 บาท/กิโลกรัม ยังมองว่ามีโอกาสเป็นไปได้

ตอนที่ไปดูผมพูดว่าราคาข้าวในคลังถ้านำออกมาขายกิโลกรัมละ 15-20 บาทเป็นไปได้ ส่วนที่จะกำหนดราคาอย่างชัดเจนเท่าไรก็จะต้องไปพิจารณาปัจจัยอื่นประกอบ เช่น ข้าวลอตนี้จะสามารถส่งออกไปตลาดไหนได้บ้าง

“ผมว่าไม่ต่ำกว่า 15 บาทอยู่แล้ว ถ้ารัฐบาลไม่เปิดประมูลแล้วขายวันนี้ราคา 15 บาทผมซื้อเลย จะดราม่าอะไรผมไม่สนหรอก เพราะว่าผมรับซื้อได้อยู่แล้ว แต่เราก็อยากจะให้ราคามันดีที่สุด เพื่อให้ประเทศชาติไม่เสียหายเยอะในมุมมองเรา”

การปรับปรุงคุณภาพข้าว

ต้องอธิบายอย่างนี้ว่า ผมเข้าประมูลข้าวทุกตัวในครั้งของรัฐบาลมาหมดแล้ว มีทางที่ดีกว่านี้แย่กว่านี้ผมก็เคยซื้อมาแล้ว แต่ก็สามารถนำมาปรับปรุงตาม Process ของมัน

ต้องยอมรับว่าโรงสีสมัยนี้กับเมื่อ 30 ถึง 40 ปีที่แล้วความสามารถในการปรับปรุงข้าวมีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น

ปมนักวิชาการห่วงผสมปลอมปน

“การที่มีนักวิชาการพูดว่าพอประมูลออกมาแล้วเราจะเอาข้าวเก่าไปผสมกับข้าวใหม่แล้วออกมาขาย อันนี้เป็นการให้ความเห็นโดยที่ไม่รู้ข้อเท็จจริง พูดได้อย่างไรใครจะเอาเข้าเก่าไปผสมกับข้าวใหม่ เพราะข้าว 2 ชนิดนี้เป็นคนละตลาดกันอยู่แล้ว เหมือนมีรถกระบะกับรถเบนซ์ใคร ๆ ก็แยกออกอยู่แล้วหรือเปล่า เขาขี่รถเบนซ์อยู่แล้ว เขาคงไม่มาเลือกซื้อกระบะหรอก ประเด็นมีเป็นการพูดไปเรื่อยแบบไม่รู้จริง”

ยกตัวอย่างตลาดข้าวใหม่ ข้าวหอมมะลิ เพราะส่งออกไปที่ตลาดหลักคือจีนซึ่งถ้าเป็นข้าวเก่าจีนเขาไม่ซื้ออยู่แล้ว และไม่มีผู้ส่งออกรายไหนที่จะเอาข้าวเก่าไปส่งจีน หรือจะเอาไปผสมมันก็เป็นไปไม่ได้ การส่งออกมีการวัดมาตรฐาน

ถ้าซื้อจากรัฐบาล กก.ละ 15 บาทแล้วผู้ส่งออกจะนำไปเสนอราคาอย่างไร

ราคาส่งออกที่จะกำหนดก็จะต้องไปดูปัจจัยอื่น ๆ ประกอบ แต่เท่าที่ประเมินหากซื้อในราคา 15 บาทนำไปปรับปรุงเพื่อส่งออกราคาส่งออกก็คงจะไม่ต่ำกว่าตันละ 500 เหรียญสหรัฐ

แต่จะได้เพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ก็ต้องไปดูว่าปรับปรุงมาแล้วจะได้คุณภาพข้าวเป็นอย่างไร ถ้าดีก็จะได้เกินกว่า 500 เหรียญสหรัฐไปมากหน่อย ซึ่งประเด็นนี้เรายังตอบไม่ได้ ต้องรอดูหลังจากที่ปรับปรุงแล้ว

“ถ้ารัฐบาลเปิดประมูล ผมเสนอซื้ออยู่แล้วแน่นอน ผมไม่กลัวดราม่า เพราะเราเป็นนักธุรกิจข้าว เราทำหน้าที่ค้าขาย ถ้ามีคนมาบอกว่ามันขายไม่โอเค เราจะเลิกขายได้หรือ เราต้องทำมาหากิน แล้วเราก็ไม่ได้อิงการเมืองอยู่แล้ว เราทำหน้าที่ซื้อมาแล้วก็ขายไป ถ้าเขาขายมาแล้วเราปรับปรุงแล้วมีกำไรเราก็ซื้ออยู่แล้ว”

ภาครัฐเสนออะไรให้ผู้ส่งออกไปช่วยซื้อข้าว เช่นช่วย GtoG แลกเปลี่ยน

“ไม่ได้มีข้อเสนอแลกเปลี่ยนอะไร และข้าวเก่าก็ไม่สามารถที่จะนำไปขายหรือส่งมอบเป็นข้าวระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือ GtoG ได้อยู่แล้ว ผู้ส่งออกต่างคนก็ต่างไปหาตลาดกันเอง เพราะว่าตลาดข้าวใหม่กับตลาดข้าวเก่าเป็นคนละตลาดกัน

อย่างการที่รัฐบาลไปทำ GtoG กับอินโดนีเซีย ทางอินโดนีเซียก็เป็นตลาดที่ไม่นิยมบริโภคข้าวเก่า ทางมาเลเซียหรือจีนก็ไม่กินข้าวเก่าเช่นกัน”