ข้าวจำนำ 10 ปีกินได้จริง ? เบื้องลึก ‘ชิมโชว์’ หรือจะแค่ชี้ว่าผลตรวจสอบยุคก่อนไม่จริง

ข้าวจำนำ 10 ปี

สภาผู้บริโภคปนสงสัย ข้าวจำนำ 10 ปีกินได้จริงหรือ? พาณิชย์ – เกษตร ต้องตรวจ ทุกกระสอบก่อนจำหน่าย ด้านเอกชนมองเหตุผลเบื้องลึก ‘ชิมโชว์’ ค้านผลตรวจสอบยุค ม.ล.ปนัดดา

วันที่ 7 พฤษภาคม 2567 หลังจากนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจสอบข้าวสารในโกดังของรัฐบาลตามโครงการรับจำนำข้าว ที่คลังกิตติชัยหลัง 2 อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ปัจจุบันมีข้าวประมาณ 112,711 กระสอบ และคลัง บจก.พูนผลเทรดดิ้ง หลัง 4 อ.เมืองสุรินทร์ จ.สุรินทร์ มีข้าวจำนวน 32,879 กระสอบ ที่ได้นำข้าวที่เก็บอยู่ในโกดังมาหุงและรับประทานร่วมกับสื่อมวลชนและผู้เกี่ยวข้องเพื่อยืนยันว่าข้าวดังกล่าวปลอดภัยและสามารถรับประทานได้ และประกาศว่าหลังจากนี้จะมีการตรวจสอบก่อนนำข้าวสารในโกดังของรัฐออกจำหน่ายเป็นการทั่วไปนั้น

ล่าสุด นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ รองหัวหน้าฝ่ายนโยบายและนวัตกรรม สภาผู้บริโภค แสดงความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า ข้าวดังกล่าวถูกเก็บในโกดังเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ซึ่งอาจมีการใช้สารเคมีหลายชนิดในการเก็บรักษาเพื่อยืดอายุและคงคุณภาพของข้าวนั้น อาจส่งผลต่อคุณภาพข้าวที่ทำให้ไม่ปลอดภัยในการบริโภค

นายภูมิธรรม เวชยชัย

จี้ทุกหน่วยงานตรวจละเอียด

ดังนั้น สภาผู้บริโภคจึงขอเรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เร่งส่งตัวอย่างข้าวทุกกระสอบตรวจวิเคราะห์คุณภาพความปลอดภัยด้านอาหาร ทั้งทางเคมีและทางกายภาพเพื่อหาการตกค้างของสารเคมีและเชื้อราต่าง ๆ อีกทั้งเมื่อตรวจยืนยันความปลอดภัยแล้วขอให้แถลงผลการทดสอบต่อสาธารณะให้ประชาชนรับรู้ก่อนการประมูลข้าว

Advertisment

ทั้งนี้ หากข้าวดังกล่าวผ่านมาตรฐานและมีการประมูลขายข้าวให้ประชาชน รัฐบาลต้องเปิดเผยชื่อบริษัทที่ประมูลข้าวด้วยว่าคือบริษัทอะไร มีวัตถุประสงค์ประมูลข้าวไปเพื่ออะไร และใช้ชื่อการค้าว่าอย่างไร รวมถึงต้องแสดงในฉลากสินค้าว่า “ข้าวนี้มาจากการเก็บในโกดัง 10 ปี”

ทั้งนี้ ข้อมูลของที่มาของสินค้าที่อาจมีการปนเปื้อนเป็นสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภคที่ควรจะได้รับรู้เพื่อใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อ

นายภูมิธรรม เวชยชัย

เอกชนชี้ ไม่ต้องชิมก็ขายได้แพง

ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการส่งออกข้าว ระบุว่า ปัจจุบันสถานการณ์การผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาดครบหมดแล้ว จึงทำให้ปริมาณวัตถุดิบข้าวสารเพื่อการส่งในตลาดตึงตัว ซึ่งแน่นอนว่า หากรัฐบาลเปิดประมูลข้าวลอตนี้ ถึงแม้จะเป็นข้าวที่จำนำมานาน 10 ปี แต่ก็มีโอกาสจะได้ราคาสูงถึง กก.ละ 20 บาท หรือ ตันละ 20,000 บาท โดยที่รัฐไม่ต้องมารับประทานข้าวโชว์ก็สามารถขายได้แน่นอน และได้ราคาสูงหากเทียบเฉพาะเนื้อข้าวที่รัฐบาลจำนำมา 15,000 บาท/ตัน สำหรับข้าวเปลือก คิดเป็น 24,000 บาทสำหรับข้าวสาร ไม่รวมค่าฝากเก็บ

Advertisment

ดังนั้น จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า การจัดกิจกรรมหุงข้าวโชว์ชิม น่าจะเป็นเหตุผลอื่นมากกว่าการสร้างความเชื่อมั่นกับผู้ซื้อ น่าจะเป็นเรื่องการตอกย้ำภาพการตรวจสอบในยุครัฐบาลก่อนหน้า ที่เคยจัดเกรดข้าวคุณภาพดีว่าเป็นข้าวเกรดต่าง ๆ และนำมาประมูลขายจนได้ราคาต่ำกว่าความเป็นจริง รัฐขาดทุนและเสียประโยชน์ มีผลทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อรัฐบาลที่ดำเนินโครงการรับจำนำในอดีต ซึ่งการนำข้าวมาชิมรอบนี้ทำให้มองได้ว่า การจัดเกรดข้าวตอนนั้นไม่ตรงกับความจริงหรือไม่

ย้อนผลสอบ ม.ล.ปนัดดา

รายงานข่าวระบุว่า ประเด็นข้อถกเถียงในเรื่อง ข้าวดี-ข้าวเน่า ในคลังรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่ถูกโยงให้เป็นเรื่องการเมืองว่า โครงการจำนำข้าวไม่มีข้าวเสื่อมสภาพ จนกลายมาเป็นกระแสร้อนแรงเมื่อปี 2560 ก่อนที่คำพิพากษาคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกกล่าวหา ว่าปล่อยปละละเลยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว

ซึ่งผลตรวจสอบโดยคณะทำงานของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ได้เข้าตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพข้าวโครงการรับจำนำข้าว 18 ล้านตัน ด้วยการแบ่งเกรดข้าวถูกมาตรฐานเป็น เกรด P เกรด A เกรด B และเป็นข้าวที่ผิดมาตรฐานมาก เช่น มีข้าวหักปนอยู่สูง มีเมล็ดเสียเมล็ดเหลืองปนอยู่มาก ยุ่ยเป็นผุยผง เมล็ดลาย ขึ้นรา มีกลิ่นเหม็น มีฝุ่น ซึ่งไม่คุ้มหรือไม่อาจปรับปรุงเพื่อการบริโภคของคนเป็นเกรด C และทยอยระบายขาย หากใครเสนอราคาสูงกว่า “ราคาเกณฑ์กลางขั้นต่ำ” ก็จะเป็นผู้ชนะการประมูลรอบนั้น ๆ

แต่หลังจากที่ใช้เงื่อนไขการประมูลด้วยการแบ่งเกรดข้าวข้างต้นปรากฏ ในช่วงระหว่างปี 2558-2559 รัฐบาลขายข้าวในสต๊อกได้เพียง 8 ล้านตันจากสต๊อกที่มีอยู่ทั้งหมด 18 ล้านตัน “ซึ่งช้ามาก” จึงมีคนเสนอ “สูตรใหม่” ให้กับ คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธาน นบข. เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560

โดยให้มีการเปลี่ยนเงื่อนไขการประมูลข้าวใหม่ โดยแบ่งข้าวออกเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มคุณภาพดีสำหรับบริโภคทั่วไป (คนกิน) 3 ล้านตัน กลุ่มข้าวคุณภาพปานกลางอุตสาหกรรม ที่มิใช่เพื่อคนบริโภค (อาหารสัตว์) และกลุ่มที่เก็บเกิน 5 ปีที่ไม่สามารถบริโภคได้ให้ระบายเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่ทั้งคนทั้งสัตว์ (พลังงาน)

โดยอาศัยเกณฑ์ในการปรับเปลี่ยนคุณภาพข้าว กล่าวคือ ถ้าในคลังใดมีข้าวเกรด C ตั้งแต่ 20% ขึ้นไปจากจำนวนข้าวที่ฝากเก็บทั้งหมดก็จะถูกตีว่า เป็นข้าวเกรดอาหารสัตว์ และที่สำคัญให้มีการประมูลแบบยกคลังและ “ยกเลิก” วิธีการประมูลแบบเดิมที่กำหนด “ราคาเกณฑ์กลางขั้นต่ำ”ออกไป

ผลทำให้ราคาขายที่ขายได้เฉลี่ย “ต่ำลงกว่าปกติ” และกลายเป็นการเปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการที่อ้างว่า ต้องการวัตถุดิบมาซื้อข้าวสารในราคาถูก กก.ละ 4-5 บาท ไปขายให้ผู้ส่งออก-โรงสี-ข้าวถุง-อาหารสัตว์แพงขึ้น 8-9 บาท (ต่ำกว่าตลาดขณะนั้นที่ซื้อขาย กก.ละ 11-12 บาท ) สามารถทำกำไรจากในกองข้าวเสียมีข้าวดีปะปนจนเกิดปรากฏการณ์ แห่กันแย่งประมูลข้าวเกรดอาหารสัตว์และข้าวที่ไม่สามารถบริโภคได้ทั้งคนและทั้งสัตว์กันมากมายเป็นประวัติการณ์ และรัฐก็ขาดทุนอย่างมากจากต้นทุนจำนำ