เงินบาททรงตัวในกรอบ จับตาดูเงินเฟ้อสหรัฐสัปดาห์หน้า

เงินบาท-ธนบัตรไทย-banknote
REUTERS/Athit Perawongmetha

เงินบาททรงตัวในกรอบ จับตาดูเงินเฟ้อสหรัฐสัปดาห์หน้า ขณะที่ตัวเลขภาคแรงงานส่งสัญญาณว่าตลาดแรงงานสหรัฐเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง นักลงทุนคาดเฟดลดดอกเบี้ยครั้งแรกของปีนี้ในเดือนกันยายน

วันที่ 10 พฤษภาคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 7-10 พฤษภาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันอังคาร (7/5) ที่ระดับ 36.74/75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3/5) ที่ระดับ 36.79/80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากการอ่อนค่าของดอลลาร์

หลังตัวเลขภาคแรงงานส่งสัญญาณว่าตลาดแรงงานสหรัฐเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลงและส่งผลให้นักลงทุนปรับเพิ่มน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในปีนี้ในเดือน ก.ย. และปรับลดอีกครั้งในเดือน ธ.ค.

คาดเฟดลดดอกเบี้ยเดือนกันยายน

โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนัก 50% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือน ก.ย. นอกจากนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 37% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.27% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมเดือน ธ.ค.

นอกจากนี้สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 49.4 ในเดือน เม.ย. จากระดับ 51.4 ในเดือน มี.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 52.0 บ่งชี้ถึงภาวะหดตัวของภาคบริการสหรัฐ หลังจากการขยายตัวติดต่อกัน 15 เดือน โดยได้รับผลกระทบจากการร่วงลงของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน

Advertisment

ทั้งนี้ นางมิเชล โบว์แมน ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐมีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง แม้คาดการณ์ว่าด้วยอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับปัจจุบันจะส่งผลให้เงินเฟ้อจะชะลอตัวลงในที่สุด โดยเฟดจะยังคงพิจารณาข้อมูลเศรษฐกิจที่จะมีการเปิดเผยออกมา ณ เวลานั้น ๆ ซึ่งจะเป็นมาตรวัดว่านโยบายการเงินของเฟดมีความเข้มงวดเพียงพอหรือไม่ ที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับไปสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% และปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินให้เหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าอย่างมาก หลังการเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกปรับตัวเพิ่มขึ้น 22,000 ราย สู่ระดับ 231,000 ราย ในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 8 เดือน หรือนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2566 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 215,000 ราย

ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก เพิ่มขึ้น 17,000 ราย สู่ระดับ 1.79 ล้านราย และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 4.2% ในไตรมาส 2/2567 สำหรับในปี 2566 เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.2%, 2.1%, 4.9% และ 3.4% ในไตรมาส 1, 2, 3 และ 4 ตามลำดับ

สำหรับการแสดงความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟด นายนีล แคชแครี ประธานเฟดสาขามินนีแอโพลิสกล่าวว่า เฟดอาจจำเป็นต้องตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงต่อไปในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงและตลาดที่อยู่อาศัยมีความแข็งแกร่ง และด้านนางซูซาน คอลลินส์ ประธานเฟดสาขาบอสตันกล่าวว่า นโยบายการเงินของเฟดในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะช่วยให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงจนทำให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% สำหรับตัวเลขเศษฐกิจที่มีการเปิดเผย

Advertisment

กกร.ปรับลดประมาณการ GDP ปี 67

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับลดประมาณการ GDP ไทยปี’67 มาที่ 2.2-2.7% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิม หลังภาคการส่งออกมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้เพียง 0.5-1.5% ตามทิศทางการค้าโลกที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ขณะเดียวกันยังปรับลดประมาณการเงินเฟ้อมาที่ 0.5-1%

ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเอนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.51-37.03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (10/5) ที่ระดับ 36.75/76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดวันอังคาร (7/5) ที่ระดับ 1.0773/74 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3/5) ที่ระดับ 1.0743/44 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตลอดทั้งสัปดาห์ ค่าเงินยูโรทรงตัวอยู่ในระดับแข็งค่าตามการอ่อนค่าของดอลลาร์ รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจยูโรที่ออกมาสูงกว่าที่คาดการณ์ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคผลิตและบริการของยูโรโซน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51.7 ในเดือน เม.ย. จากระดับ 50.3 ในเดือน มี.ค. ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ที่ 51.4 โดยนับเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน พ.ค. 2566

สำหรับดัชนี PMI ภาคบริการของยูโรโซนปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 53.3 จากระดับ 51.5 ในเดือน มี.ค. ขณะที่ภาคการผลิตออกมาหดตัวในสัปดาห์ที่ผ่านมา บ่งชี้ถึงความไม่สอดคล้องกันระหว่าง 2 กลุ่ม ยอดส่งออกของเยอรมนีปรับตัวขึ้น 0.9% ในเดือน มี.ค. เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลของรอยเตอร์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.4% และฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่ยอดส่งออกปรับตัวลดลง 1.6% ในเดือน ก.พ.

รายงานระบุว่า ยอดส่งออกไปยังประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.5% และยอดส่งออกไปยังประเทศที่สามปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.3% ในเดือน มี.ค. ขณะเดียวกันยอดนำเข้าของเยอรมนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือน มี.ค. หลังจากที่เพิ่มขึ้น 3.0% ในเดือน ก.พ. ทั้งนี้ ดุลการค้าระหว่างประเทศของเยอรมนีเกินดุล 2.23 หมื่นล้านยูโร ในเดือน มี.ค. ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 2.22 หมื่นล้านยูโร และสูงกว่าระดับ 2.14 หมื่นล้านยูโร ในเดือน ก.พ.

อีกทั้งสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนี (Destatls) เปิดเผยในวันพุธ (8/5) ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน มี.ค. ปรับตัวลดลงน้อยกว่าที่คาดการณ์ โดยได้อานิสงส์จากภาคการก่อสร้าง รายงานระบุว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน มี.ค.ปรับตัวลง 0.1% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ดีกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลของรอยเตอร์คาดว่าจะลดลง 0.6% แต่สวนทางกับเดือน ก.พ.ที่เพิ่มขึ้น 1.7%

การผลิตภาคอุตสาหกรรมเยอรมนีเพิ่มเล็กน้อย

โดยฟรานซิสกา พาลมาส นักเศรษฐศาสตร์ยุโรปอาวุโสจากแคปิตอล อีโคโนมิกส์ (Capital Economics) คาดการณ์ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงเวลาที่เหลือของปี แต่ยังคงอ่อนแอเมื่อเทียบกับมาตรฐานในอดีต สำนักงานสถิติฯระบุว่า เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาสซึ่งมีความผันผวนน้อยกว่า พบว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสเดือน ม.ค.-มี.ค. เพิ่มขึ้น 1.0% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

นายคาร์สเตน เบรสกี หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์มหภาคระดับโลกของบริษัทไอเอ็นจี กล่าวว่า “วัฏจักรขาลงสิ้นสุดลงแล้ว และมุมมองเชิงบวกกลับมาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เส้นทางสู่การฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมนั้น ยังคงอีกยาวไกล”

สำนักงานสถิติระบุว่า การผลิตในอุตสาหกรรมโรงงาน ซึ่งไม่นับรวมภาคพลังงานและภาคการก่อสร้าง ลดลง 0.4% ในเดือน มี.ค. เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ด้านการผลิตในภาคพลังงานลดลง 4.2% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ส่วนการผลิตในภาคการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 1.0% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0722-1.0766 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (10/5) ที่ระดับ 1.0774/75 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

เยนผันผวนหลังทางการเข้าแทรกแซง

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดวันอังคาร (7/5) ที่ระดับ 154.05/06 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3/6) ที่ระดับ 153.05/06 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ภายหลังการเคลื่อนไหวที่ผันผวนในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังการแทรกแซงตลาดของทางการญี่ปุ่นเพื่อพยุงค่าเงินเยนจากระดับต่ำสุดในรอบ 34 ปี

ขณะที่ในวันจันทร์ (6/5) มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 54.3 ในเดือน เม.ย. จากระดับ 54.1 ในเดือน มี.ค. แม้ว่าจะต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 54.6 โดยได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของการใช้จ่ายทั้งในภาคธุรกิจและผู้บริโภค อีกทั้งกิจกรรมภาคธุรกิจขยายตัวติดต่อกัน 6 เดือน จากภาคการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง

อย่างไรก็ดี ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้แถลงต่อรัฐสภาญี่ปุ่นว่า BOJ อาจจะใช้นโยบายการเงิน หากความเคลื่อนไหวของเงินเยนส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ ซึ่งถ้อยแถลงดังกล่าวถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนว่า BOJ จะป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบ และในวันพฤหัสบดี (9/5) รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลว่า ค่าจ้างที่แท้จริงของแรงงานญี่ปุ่นปรับตัวลดลงในเดือน มี.ค. เป็นเดือนที่ 24 ติดต่อกัน โดยลดลง 2.5% เมื่อเทียบรายปี

อย่างไรก็ดี เงินเดือนปรับขึ้นไม่ทันกับราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้กำลังซื้อของครัวเรือนลดลง เนื่องจากราคาสินค้าในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น และค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังคงระมัดระวังในการลงทุน เพราะกำลังจับตาท่าทีของทางการญี่ปุ่นในการแทรกแซงตลาดเงินเพื่อพยุงค่าเงินเยน ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 153.85-155.95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (10/5) ที่ระดับ 155.67/22 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ