ญี่ปุ่นเศรษฐกิจหด ส่อถดถอย แม้ท่องเที่ยวบูมก็แบกไม่ไหว

เศรษฐกิจญี่ปุ่น
ย่านโคจิโจจิ หนึ่งในย่านช้ปปิ้งยอดนิยมในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น/ บันทึกภาพเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2024 (ภาพโดย Philip FONG / AFP)

แม้ว่าการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นจะบูมมากมาตั้งแต่ปีที่แล้วมาจนถึงตอนนี้ เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นที่นิยมในหมู่ชาวต่างชาติอยู่เป็นทุนเดิม บวกกับเงินเยนที่อ่อนค่าเป็นอีกปัจจัยหนุนที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลเข้าไป แต่การท่องเที่ยวก็ไม่สามารถแบกเศรษฐกิจญี่ปุ่นในภาพรวมได้

ไตรมาส 1 ของปี 2024 เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวลง 2% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) ซึ่ง “แย่” กว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้ว่าจะหดตัว 1.2-1.5%

การบริโภคภาคเอกชน ซึ่งเป็นองค์ประกอบใหญ่ที่สุดของจีดีพีลดลง 2.7% การลงทุนของภาคธุรกิจลดลง 3.2% และการส่งออก (นับรวมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ) ลดลง 18.7% การนำเข้าลดลง 12.8% และการลงทุนที่อยู่อาศัยของภาคเอกชนลดลง 9.8%

ทั้งนี้ จีดีพีที่หดตัวลง ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากปัจจัยชั่วคราว อย่างเหตุแผ่นดินไหวในช่วงปีใหม่ และการหยุดชะงักของการผลิตและการขายรถยนต์ หลังเกิดเรื่องอื้อฉาวของ “ไดฮัทสุ” ในเครือ “โตโยต้า”

3 ไตรมาสที่ผ่านมาเศรษฐกิจญี่ปุ่นอยู่ในโซนน่าเป็นห่วง เริ่มจากไตรมาส 3 ปี 2023 จีดีพีหดตัว 3.3% (YOY) ต่อมา รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศในเดือนกุมภาพันธ์ว่าจีดีพีไตรมาส 4 ปี 2023 หดตัว 0.4% แต่หนึ่งเดือนถัดจากนั้น มีการประกาศแก้ไขตัวเลขว่าจีดีพีโตได้ 0.4% ซึ่งส่งผลให้ญี่ปุ่นไม่ต้องเข้าสู่ภาวะ “เศรษฐกิจถดถอย”

กระทั่งตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1 ปี 2024 ออกมาติดลบ เป็นการจุดประเด็นสนทนาขึ้นมาอีกครั้งว่า จริง ๆ แล้วเศรษฐกิจญี่ปุ่นถดถอยไปแล้วหรือไม่ ? เพราะหากทางการญี่ปุ่นไม่ได้แก้ไขตัวเลขของไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 ญี่ปุ่นก็เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามนิยามทางเศรษฐศาสตร์ไปแล้ว

ADVERTISMENT

แม้ว่าการแก้ไขตัวเลขจะช่วยให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่ถดถอย และสำหรับตัวเลขของไตรมาสล่าสุดก็อาจจะมีการแก้ไขอีกในเดือนหน้า แต่ตัวเลขเศรษฐกิจที่แก้ไขใหม่ ก็ไม่น่าจะสามารถปกปิดข้อเท็จจริงที่ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นล้มเหลวที่จะเติบโตนับตั้งแต่กลางปีที่แล้ว

เหตุผลใหญ่ที่สุดที่ทำให้เศรษฐกิจซบเซาคือ การใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลงติดต่อกันมาแล้ว 4 ไตรมาส ซึ่งเป็นความซบเซาอันยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ช่วงวิกฤตการณ์การเงินโลก หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ในช่วงปี 2007-2008

ADVERTISMENT

ความไร้เรี่ยวแรงของเศรษฐกิจญี่ปุ่นเป็นอุปสรรคต่อการปรับทิศนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่อยู่ระหว่างเลิกนโยบายผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ และกำลังเล็งจะปรับขึ้นดอกเบี้ยขึ้นเหนือ 0%

ถึงอย่างนั้นก็ตาม ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา มีพัฒนาการบางอย่างที่เป็นความหวังว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะดีขึ้นในเร็ว ๆ นี้ นั่นคือการปรับขึ้นค่าจ้าง

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนคาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในไตรมาสที่ 2 นี้ เนื่องจากผลผลิตรถยนต์ฟื้นตัว และการปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 3 ทศวรรษ น่าจะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคดีขึ้น อีกทั้งครัวเรือนจำนวนมากจะได้รับการลดหย่อนภาษีแบบครั้งเดียวตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้

ผู้กำหนดนโยบายก็คาดหวังอย่างมาก ว่าการขึ้นค่าจ้างและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น

แต่ในขณะเดียวกัน เงินอุดหนุนสำหรับตรึงราคา-ค่าสาธารณูปโภคจะสิ้นสุดลงในเดือนพฤษภาคมนี้ และการอ่อนค่าของเงินเยนก็กำลังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคบริการ

คงต้องรอดูว่า ระหว่างปัจจัยบวกกับปัจจัยลบ เมื่อหักกลบกันแล้วจะเป็นลมหนุนให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นได้เพียงใด หรือจะยังคงเป็นลมปะทะที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตต่อไป