สิ่งที่เราควรเข้าใจ ก่อนพูดว่า “ญี่ปุ่นไม่ขึ้นค่าจ้างมา 30 ปี”

ญี่ปุ่น
ผู้คนเดินในย่านชินจูกุ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (ภาพโดย Yuki IWAMURA / AFP)
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : รุ่งนภา พิมมะศรี

ญี่ปุ่นเพิ่งผลักดันการปรับขึ้นค่าจ้างครั้งใหญ่ได้สำเร็จ จากการเจรจาค่าจ้างที่เรียกว่า “การเจรจาฤดูใบไม้ผลิ” หรือภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “ชุนโต” ซึ่งเป็นการเจรจาไตรภาคีระหว่างสมาพันธ์สหภาพแรงงานแห่งประเทศญี่ปุ่น (เร็งโง-RENGO) นายจ้าง และรัฐบาล

การเจรจาค่าจ้างปีนี้สามารถปรับขึ้นค่าจ้างได้ 5.28% ซึ่งสูงเกินคาด และเป็นการขึ้นค่าจ้างมากสุดในรอบ 33 ปี

เรื่องนี้เป็นข่าวที่ได้รับความสนใจทั่วโลก พร้อมกันนั้นข่าวนี้ก็ทำให้เกิดบทสนทนาในไทยว่าด้วยเรื่องที่ญี่ปุ่นแทบไม่ขึ้นค่าจ้างเลยมาเป็นเวลายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ

แต่ก่อนที่เราจะพูดกันแบบนั้น มีสิ่งที่เราควรจะทำความเข้าใจ เพื่อจะได้เข้าใจถูกต้อง และไม่นำมาเปรียบเทียบแบบผิดฝาผิดตัวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศของเราเองและประเทศอื่น ๆ ที่บริบทต่างกัน

จริงอยู่ที่ว่าค่าจ้างในญี่ปุ่นแทบไม่มีการปรับขึ้นเลยตลอด 30 กว่าปีที่ผ่านมา

เปิดตัวเลขดูกันชัด ๆ (อ้างอิง OECD) เมื่อปี 1991 ค่าแรงเฉลี่ยของญี่ปุ่นอยู่ที่ 40,379 ดอลลาร์สหรัฐ ผ่านมา 31 ปีจนถึงปี 2022 ค่าแรงเฉลี่ยของญี่ปุ่นอยู่ที่ 41,509 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้นเพียง 2.80%

ถ้ามองแค่การเพิ่มขึ้นของค่าจ้าง เราก็คงจะมีคำถามว่า รายได้ไม่เพิ่มขึ้นเลย คนญี่ปุ่นเขาอยู่กันมาได้ยังไง

แต่ถ้าจะให้ถูก เราต้องคำนึงถึงองค์ประกอบด้านอื่นที่สัมพันธ์กันด้วย นั่นคือ สภาพเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเป็นยังไง ราคาสินค้า-ค่าครองชีพของญี่ปุ่นเป็นยังไง หรือพูดด้วยข้อมูลอย่างเป็นทางการก็คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ต้นทุนทางการเงินหรือดอกเบี้ยของญี่ปุ่นเป็นอย่างไร

ความจริงก็คือ ตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจญี่ปุ่นชะงักงัน อัตราการเติบโตของจีดีพีญี่ปุ่นไต่อยู่ราว ๆ 0% ถึง 2% และมีหลายปีที่หดตัว มากสุดที่ทำได้คือโต 4% ในปี 2010 โดยเฉลี่ยเศรษฐกิจญี่ปุ่นโตได้แค่ปีละราว 1% 

ญี่ปุ่นมีช่วงเวลาที่เผชิญ “ภาวะเงินฝืด” หรือภาวะที่คนไม่ค่อยใช้จ่าย ราคาสินค้าและบริการลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า มากกว่าช่วงเวลาที่เผชิญ “ภาวะเงินเฟ้อ” หรือภาวะที่ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นไม่เคยขึ้นถึง 4% และอัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคอยู่ในแดนลบมากกว่าบวกมาตลอด 3 ทศวรรษ

ช่วงเวลาเหล่านี้ของญี่ปุ่นถูกเรียกว่า “ทศวรรษที่สูญหาย” (Lost Decade)

เมื่อสภาพเศรษฐกิจเป็นแบบนี้ ญี่ปุ่นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการใช้นโยบายการเงินแบบ “ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ” เพื่อกระตุ้นให้เกิดการกู้เงินเพื่อการลงทุนและการใช้จ่าย

อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ไม่เคยสูงกว่า 0.5% นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 1995 มาจนถึงปัจจุบัน และอยู่ที่ -0.1% มาตั้งแต่เดือนมกราคม 2016 ซึ่งอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ที่อ้างอิงจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็จะสูงกว่านี้ไม่มาก

ปัจจัยเหล่านี้หมายความว่า ค่าครองชีพของชาวญี่ปุ่นแทบจะไม่เพิ่มขึ้นเลย และชาวญี่ปุ่นมีต้นทุนในการกู้ยืมเงินน้อยมาก จนแทบไม่รู้สึกว่าการมีหนี้เป็นการมีภาระ

ดังนั้น การที่ค่าแรงในญี่ปุ่นแทบจะไม่เพิ่มขึ้นก็เลยไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวญี่ปุ่นมากนัก (แม้จะรู้สึกว่าไม่แฟร์ก็ตาม) แถมชาวญี่ปุ่นยังมีเงินเหลือเก็บออมสูงมาก ๆ ด้วย

ญี่ปุ่นเพิ่งเริ่มออกจากภาวะเงินฝืดเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อหลังจากที่รัสเซียบุกยูเครนที่ทำให้ราคาสินค้าพุ่งขึ้นทั่วโลก

เงินเฟ้อญี่ปุ่นแตะ 4% ครั้งแรกในรอบ 31 ปี ณ เดือนธันวาคม 2022 แต่ขณะที่เงินเฟ้อของประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ พุ่งสูงเกิน 7% ระดับเงินเฟ้อสูงสุดของญี่ปุ่นในรอบนี้ก็แค่ 4.3% เท่านั้น ณ เดือนมกราคม 2023

อัตราเงินเฟ้อแค่นั้นก็เพียงพอให้สามารถผลักดันให้ภาคธุรกิจญี่ปุ่นยอมปรับขึ้นค่าจ้างได้ 3.8% ในปีงบการเงิน 2023 (1 เมษายน 2023 ถึง 31 มีนาคม 2024) ซึ่งนับเป็นการขึ้นค่าจ้างมากสุดในรอบเกือบ 30 ปี ณ เวลานั้น

จากข้อมูลที่ว่ามา จะเห็นได้ชัดว่า ค่าแรงญี่ปุ่นแทบจะไม่เพิ่มขึ้น ก็เพราะว่าค่าครองชีพของเขาไม่เพิ่มขึ้น แต่ทันทีที่ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นในปี 2022 ญี่ปุ่นก็มีการปรับเพิ่มค่าแรงขึ้นเลย

ความสำเร็จในการปรับขึ้นค่าจ้างได้เร็วและมากของญี่ปุ่น มาจากความเข้มแข็งของสหภาพแรงงาน บวกกับการที่รัฐบาลยืนอยู่ข้างคนทำงาน เห็นได้จากการที่นายกฯญี่ปุ่นเรียกร้องให้ภาคธุรกิจขึ้นค่าแรงหลายต่อหลายครั้ง

บริบทของญี่ปุ่นต่างกันอย่างชัดเจนกับบางประเทศที่ค่าครองชีพเพิ่มทุกปี แต่กว่าจะผลักดันการขึ้นค่าแรงได้นั้นแสนยากเย็น แม้ว่าจะมีบางรัฐบาลที่ผลักดันการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่ก็ต้องเจอกับเสียงค้านและแรงเสียดทานมากมาย