ญี่ปุ่นกดดันธุรกิจ “ขึ้นค่าจ้าง” กระตุ้นกำลังซื้อสู้เงินเฟ้อ

ญี่ปุ่นกดดันธุรกิจขึ้นค่าจ้าง

รัฐบาลญี่ปุ่นเรียกร้องให้ภาคธุรกิจขึ้นค่าจ้างให้กับพนักงาน เพื่อรับมือกับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น และสร้างแรงกดดันต่อกำลังซื้อของภาคครัวเรือนญี่ปุ่นอย่างรุนแรงในรอบหลายสิบปี

การประกาศขึ้นค่าแรงให้กับพนักงานในญี่ปุ่น สูงสุดถึง 40% ของ “ฟาสต์ รีเทลลิ่ง” เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้ายักษ์ใหญ่อย่าง “ยูนิโคล่” กลายเป็นที่จับตามองสำหรับความเคลื่อนไหวในการขึ้นค่าจ้างของภาคธุรกิจญี่ปุ่น ตามความต้องการของรัฐบาลที่ออกมาส่งสัญญาณบ่อยครั้ง

แม้ว่าการขึ้นค่าแรงของฟาสต์ รีเทลลิ่งจะมีเหตุผลเฉพาะของบริษัทที่ต้องการปรับค่าจ้างในญี่ปุ่นให้สอดคล้องกับธุรกิจในพื้นที่อื่นทั่วโลก โดยเฉพาะยุโรปและอเมริกาที่ค่าจ้างไปไกลกว่าญี่ปุ่นมาก แต่นับเป็นบริษัทญี่ปุ่นรายแรก ๆ ที่ออกมาขยับในเรื่องนี้

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ก่อนหน้านี้ “ฟูมิโอะ คิชิดะ” นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เรียกร้องให้บริษัทต่าง ๆ ปรับขึ้นค่าจ้าง 3% หรือมากกว่านั้น เพื่อรับมือเงินเฟ้อที่กดดันค่าครองชีพของครัวเรือน ซึ่งสร้างความเสี่ยงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเข้าสู่ “ภาวะชะงักงัน” (stagflation) เนื่องจากผู้บริโภคขาดกำลังซื้อ ซึ่งทำให้พลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจลดลง

“วงจรเศรษฐกิจที่ดีนั้นอยู่ที่การเติบโตของค่าจ้างที่สอดคล้องกับค่าใช้จ่าย บริษัทต้องสร้างผลกำไรและจ่ายให้กับพนักงานอย่างเหมาะสม การบริโภคจึงจะเติบโต การลงทุนทางธุรกิจจึงจะเติบโต และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป” 
นายกรัฐมนตรีคิชิดะกล่าว

ขณะที่พบว่าความสามารถในการทำกำไรของภาคธุรกิจญี่ปุ่นพุ่งสูงขึ้นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แต่ค่าจ้างกลับก้าวไม่ทัน รอยเตอร์ ระบุว่า บริษัทญี่ปุ่นมีความมั่งคั่งสะสมทั้งในรูปเงินสดและเงินสำรองต่าง ๆ รวมมูลค่าราว 500 ล้านล้านเยนเมื่อ ก.ย. 2022

เจแปนไทมส์รายงานข้อมูลของ “องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ” (OECD) ชี้ว่า ค่าจ้างเฉลี่ยของญี่ปุ่น ณ ปี 2021 อยู่ที่ 39,700 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มสมาชิก 38 ประเทศที่ 51,600 ดอลลาร์สหรัฐอย่างมาก

นอกจากนี้พบว่าค่าจ้างแรงงานบริษัทต่าง ๆ ในประเทศญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระดับเดียวกับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เรียกว่าขยับขึ้นน้อยมาก

ส่วนค่าจ้างที่แท้จริง เมื่อ พ.ย.ที่ผ่านมา ลดลงถึง 3.8% ผลจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น โดยกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น ระบุว่าค่าจ้างที่แท้จริงของชาวญี่ปุ่น ปรับลดลงติดต่อกัน 8 เดือนแล้ว และรุนแรงสุดนับตั้งแต่ปี 2014 สาเหตุจากค่าจ้างที่เติบโตช้าสวนทางกับค่าครองชีพที่พุ่งสูง

ด้านสถาบันวิจัยไดวา เปิดเผยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมราคาอาหารสดและพลังงาน) เมื่อพ.ย. 2022 เพิ่มขึ้นถึง 3.7% เป็นระดับสูงสุดนับจากปี 1981

“ฮารุฮิโกะ คุโรดะ” ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเพิ่มค่าจ้างของบริษัทต่าง ๆ โดยระบุว่า “บีโอเจจะสนับสนุนเศรษฐกิจด้วยการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินต่อไป เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อเป็นไปตามเป้าหมายที่มั่นคงและยั่งยืนควบคู่ไปกับการเติบโตของค่าจ้าง” ซึ่งบีโอเจมีเป้าหมายรักษาอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2%

ขณะที่สมาพันธ์สหภาพแรงงานญี่ปุ่นหรือ “เรนโก” เตรียมเรียกร้องภาคธุรกิจปรับขึ้นค่าจ้าง 5% ซึ่งคาดว่าหลังการเจรจาสิ้นสุดลงในช่วง มี.ค.นี้ บริษัทต่าง ๆ น่าจะเสนอปรับขึ้นค่าจ้างราว 2.7%

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งส่งสัญญาณปรับขึ้นค่าจ้าง อย่างบริษัทประกันชีวิต “นิปปอน ไลฟ์ อินชัวรันซ์” ประกาศขึ้นเงินเดือนราว 7% ส่วนกลุ่มผู้ผลิตเครื่องดื่มอย่าง “ซันโทรี่โฮลดิงส์” ก็เตรียมขึ้นค่าจ้าง 6% ขณะที่อาซาฮี กรุ๊ป โฮลดิงส์, คิริน โฮลดิงส์ และซัปโปโร โฮลดิงส์ ก็กำลังพิจารณาปรับฐานเงินเดือนเช่นกัน