ยูนิโคล่ ขึ้นเงินเดือนพนักงาน 40% ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น หรือไม่

ยูนิโคล่
Fast Retailing's Uniqlo in Tokyo, Japan January 11, 2023. REUTERS/Issei Kato

ยักษ์ใหญ่แห่งวงการค้าปลีกเสื้อผ้าญี่ปุ่น ยูนิโคล่ สร้างความฮือฮาให้ผู้คน พากันวิเคราะห์ผลจากคำประกาศขึ้นค่าจ้างพนักงาน 40%

วันที่ 11 มกราคม 2566 สำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานว่า บริษัท ฟาสต์ รีเทลลิง จำกัด (Fast Retailing Co Ltd) ต้นสังกัดของ Uniqlo-ยูนิโคล่ แบรนด์ชุดเสื้อผ้าสำเร็จรูปชื่อดังของญี่ปุ่น ประกาศขึ้นเงินเดือนพนักงาน 40% ส่งสัญญาณว่าค่าจ้างขั้นต่ำของญี่ปุ่นอาจขยับขึ้นได้ หลังทศวรรษของการหดตัวทางเศรษฐกิจและตัดลดค่าใช้จ่าย

การขยับเขยื้อนครั้งนี้ของยูนิโคล่ ดูเหมือนจะมุ่งรับมือกับการต่อรองแรงงานประจำปีช่วงฤดูใบไม้ผลิที่จะมาถึง แม้ว่าจะไม่มีวี่แววว่าบริษัทอื่น ๆ ของญี่ปุ่นจะเพิ่มค่าจ้างในระดับเดียวกันได้

ข่าวนี้ทำให้หุ้นของบริษัทปิดตัวสูงขึ้น 1.4% และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของดัชนีหุ้นนิกเคอิ ที่ปิดตัวบวก 1% เมื่อวันพุธที่ 11 ม.ค.

FILE PHOTO: People shop at a UNIQLO store  in New York City, New York, U.S. REUTERS/Brendan McDermid

ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ ขอร้องให้บรรดาบริษัทห้างร้านขึ้นค่าจ้างให้พนักงาน สอดคล้องกับราคาสินค้าที่สูงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ จนเป็นราคาที่สูงเกินกว่าคาดคิด ตั้งแต่ราคาอาหารไปจนถึงราคาพลังงาน

สถานะที่ย่ำแย่นี้เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของโลก

เมื่อเทียบเป็นค่าเงินดอลลาร์ รายจ่ายประจำปีของญี่ปุ่นอยู่ที่ 39,711 ดอลลาร์ เมื่อปี 2021 หรือ พ.ศ. 2564 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่ม OECD องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ที่ 51,607 ดอลลาร์ ทั้งยังเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยมากนับจากช่วงต้นของทศวรรษ 1990

“นอกเหนือไปจากบริษัทฟาสต์ รีเทลลิง จะเห็นได้ชัดเจนว่า เมื่อปีก่อนหลายบริษัทเพิ่มอัตราการจ่ายสูงขึ้น และเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น” ทาโร ไซโตะ นักวิจัยสถาบันวิจัย NLI กล่าว และว่า กรณีของบริษัทฟาสต์ รีเทลลิง ที่ขึ้นค่าจ้างได้ไม่ได้สะท้อนว่าบริษัทอื่น ๆ จะทำตามได้

A shopper looks on, inside a Fast Retailing’s Uniqlo casual clothing store in Tokyo, Japan January 11, 2023. REUTERS/Issei Kato

เผย จื้อถง โฆษกของฟาสต์ รีเทลลิง ซึ่งมีร้านขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปมากกว่า 3,500 แห่งทั่วโลกกล่าวว่า การขยับค่าจ้างครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบกว่าอย่างน้อย 20 ปี ซึ่งบริษัทจะทบทวนการเพิ่มค่าจ้างนี้ให้หมดทั้งเครือ

ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมุ่งให้เกิดผลในรูปแบบการทำงาน และกระตุ้นการแข่งขันทั่วโลก ดังนั้น การขึ้นค่าจ้างในญี่ปุ่นจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะเมื่อเทียบกับประเทศอื่นแล้วยังถือว่าต่ำอยู่มาก

ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป พนักงานใหม่ที่จบปริญญาตรีจะได้ค่าจ้าง 3 แสนเยน หรือราว 7.5 หมื่นบาทต่อเดือน สูงกว่าปัจจุบันที่ได้ 255,000 เยน หรือราว 6.4 หมื่นบาท เป็นการปรับเพิ่มประจำปีที่ 18% ส่วนระดับผู้จัดการร้าน เพิ่มขึ้น 36% ให้มีค่าจ่าง 390,000 เยน หรือ 98,000 บาทต่อเดือน

Uniqlo Thailand
PHOTO : Uniqlo Thailand

สินค้าราคาพุ่ง-จุดเปลี่ยน

คำประกาศขึ้นเงินเดือนมีขึ้นหนึ่งปีหลังจากบริษัทแจ้งว่าจำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้าบางรายการ เนื่องจากวัสดุและค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น อย่างปีนี้สินค้าที่ขึ้นราคามีแจ็กเกตขนแกะและเสื้อโค้ทขนเป็ด สำหรับฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว ซึ่งเป็นเรื่องที่มองได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับผู้บริโภค 

ศักยภาพของยูนิโคล่ในการจับความต้องการของลูกค้าญี่ปุ่นก็คือ คุณภาพสูงและราคาไม่แพง ทำให้ยูนิโคล่มีชื่อเสียงในด้าน “cosupa” หรือประสิทธิภาพด้านต้นทุน

อย่างราคาสินค้าที่ส่งออกขายทั่วโลก  แจ็กเกตขนแกะอยู่ที่ 2,990 เยน หรือ 755 บาท และยีนส์ริมแดงอยู่ที่ 3,990 เยน หรือ 980 บาท ยอดขายที่ไปได้สวยทำให้ ยาดาชิ ยาไน เจ้าของยูนิโคล่ เป็นบุรุษที่ร่ำรวยที่สุดของญี่ปุ่น

แต่สิ่งที่เหมือนกับบริษัทอื่น ๆ ของญี่ปุ่นก็คือ การแขวนค่าจ้างแรงงานในประเทศไว้

“เราเชื่อว่าสิ่งนี้จะกดอัตราเงินเฟ้อและตรึงตลาดแรงงานไว้ได้ นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนขยายตลาดอย่างรุกหนัก ทั้งในอเมริกาและยุโรป นั่นหมายถึงการโยกพนักงานระดับซีเนียร์ที่ผ่านการฝึกแล้วจากญี่ปุ่นไปยังตลาดเหล่านั้น” โอศาธี กุมารสาสิริ นักวิเคราะห์ประจำไลต์สตรีม รีเสิร์ช กล่าว 

หากดูกรณีของบริษัท ซันโทรี โฮลดิงส์ ผู้ผลิตเครื่องดื่มชื่อดัง ก็เล็งจะเพิ่มค่าจ้างมากกว่า 6%, ส่วนฮอนด้า มอเตอร์ ก็ระบุว่า ต้องการเพิ่มค่าจ้างอย่างดุดันเช่นกัน

คำถามคือ การขึ้นค่าจ้างเหล่านี้ทั้งหมดทั้งมวลแล้วเพียงพอที่จะชดเชยค่าอาหารและค่าครองชีพอื่น ๆ ได้เพียงพอหรือไม่  

“เรายินดีที่เห็นข่าวบริษัทต่าง ๆ ประกาศนโยบายขึ้นค่าแรง เราเชื่อว่าเป็นหนทางที่ดีที่สุดให้เท่าทันราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยตระหนักว่าจะต้องเพิ่มค่าจ้างต่อไปเรื่อย ๆ” ฮิโรคะซุ มัตสึโนะ โฆษกรัฐบาลกล่าว

ฟาสต์ รีเทลลิง จะประกาศผลประกอบการรายได้ไตรมาสแรก วันพฤหัสฯที่ 12 มกราคมนี้ พร้อมกับกำไรของบริษัทจนถึงเดือนสิงหาคม รวมถึงอัตราการขยายกิจการในอเมริกาและยุโรป เพื่อชดเชยตลาดใหญ่ที่สุดของบริษัทที่วูบหนักในจีน