คอลัมน์ : Market Move
ราคาของกินของใช้ในญี่ปุ่นยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องสวนทางกับค่าเงินเยนที่อ่อนตัวลง ล่าลุดสำนักข่าว นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า ผู้ผลิตอาหารและของใช้ในชีวิตประจำวันในแดนปลาดิบหลายรายต่างประกาศแผนขึ้นราคาอีกครั้งในปี’66 นี้ หลังจากปรับขึ้นมาแล้วหลายครั้งในปี’65 ที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาต้นทุนและค่าเงิน
โดยจากการสำรวจบริษัทชั้นนำในญี่ปุ่น 46 แห่งเมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมานั้น 27 บริษัทหรือ 59% ของทั้งหมดเตรียมขึ้นราคาสินค้า หรือใช้วิธีคงราคาเดิมไว้แต่ลดไซซ์ของบรรจุภัณฑ์ลง ในขณะที่อีก 18 บริษัทหรือ 39% ระบุว่ายังไม่ตัดสินใจ หรือเลือกไม่ตอบคำถามนี้ โดยมีเพียง 1 บริษัทที่ยืนยันชัดเจนว่าจะไม่ขึ้นราคาไม่ว่าด้วยวิธีการใด ๆ สะท้อนความเป็นไปได้ที่หลังจากนี้อาจจะมีการขึ้นราคาสินค้าจากหลายบริษัท
ในส่วนของระดับราคาที่จะปรับขึ้นนั้นคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 18% จากราคาปัจจุบัน ซึ่งตัวเลขนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งปีของปี 2565 ที่ราคาสินค้าในตลาดปรับขึ้นไปแล้ว 14% หลัง 89% ของบริษัทที่ร่วมการสำรวจนี้เมื่อปีที่แล้วต่างขึ้นราคาสินค้าหรือลดไซซ์ผลิตภัณฑ์กันถ้วนหน้า
สำหรับเหตุผลของการขึ้นราคานั้น 59% ระบุว่า เป็นผลจากราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้น ในจำนวนนี้ 28% คาดว่า ราคาวัตถุดิบจะเพิ่มขึ้นไม่ถึง 10% ส่วนอีก 22% คาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปอีก 10-20%
ผลสำรวจของ นิกเคอิ เอเชีย ครั้งนี้สอดคล้องกับผลสำรวจของ เทโคคุ ดาต้าแบงก์ บริษัทวิจัยสัญชาติญี่ปุ่นที่พบว่า เมื่อปีที่แล้วบริษัทผู้ผลิตอาหาร 105 แห่งในตลาดหุ้นญี่ปุ่น ต่างขึ้นราคาสินค้ารวมกันแล้วมากกว่า 2 หมื่นรายการ และอีกมากกว่า 7,000 รายการจะขึ้นราคาในช่วง ม.ค.-เม.ย. 66 นี้ ซึ่งจำนวนนี้มากกว่าช่วงเดียวกันของปี’65 ถึง 50%
ตัวอย่างเช่น นิชชิน ออยลิโอ กรุ๊ป ผู้ผลิตน้ำมันทำอาหาร เตรียมขึ้นราคาน้ำมันมะกอกและน้ำมันงาในเดือน มี.ค.ที่จะถึงนี้ หลังตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิตปี’64 เป็นต้นมา บริษัทขึ้นราคาน้ำมันทำอาหารประเภทต่าง ๆ ในพอร์ตโฟลิโอไปแล้ว 6 รอบ เช่นเดียวกับอายิโนะโมะโต๊ะ ที่ขึ้นราคาผงชูรสแล้วไปเมื่อ 1 ม.ค. 66
ขณะเดียวกันกระแสขึ้นราคานี้ยังลุกลามไปยังกลุ่มสินค้าที่ยื้อราคาเดิมมานานหลายสิบปีอย่าง แคลอรี เมท เอเนอร์จี้บาร์ ของบริษัทโอสึกะ ฟาร์มาซูติคัล ซึ่งคงราคาเดิมมาตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปี 2526 แต่เตรียมขึ้นราคาในเดือน ก.พ.ที่จะถึงนี้ ซึ่งนับเป็นการขึ้นราคาครั้งแรกในรอบ 40 ปี
อย่างไรก็ตาม การขึ้นราคาไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นเสมอไป บางบริษัทแม้จะขึ้นราคาสินค้าไปแล้ว แต่ผลประกอบการยังไม่ดีขึ้น เช่น เอ็นเอชฟู้ดและไพรมา มีท แพ็คเกอร์ 2 ผู้ผลิตแฮมและไส้กรอกรายใหญ่ของญี่ปุ่น ซึ่งต้องลดคาดการณ์ผลประกอบการปีงบฯ 2565 (สิ้นสุด มี.ค. 66) ลงอีกแม้จะขึ้นราคาสินค้าไปแล้ว 2 รอบ ตามต้นทุนราคาเนื้อสัตว์ แต่ยังไม่สามารถชดเชยผลกระทบจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและการอ่อนค่าของเงินเยนได้
ด้าน คิกโคแมน ผู้ผลิตซอสปรุงรสรายใหญ่ของญี่ปุ่น มีผลประกอบการงวด เม.ย.-ก.ย. 65 กำไรลดลงถึง 11% เช่นกัน โดย “โชซาบุโร นาคาโนะ” ประธานบริษัทคิกโคแมน ให้ความเห็นว่า ผู้บริโภคในญี่ปุ่นระมัดระวังการจับจ่ายมากกว่าประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ทำให้เมื่อขึ้นราคาสินค้าแล้วปริมาณการขายจะลดลงสวนทางกัน
สถานการณ์นี้ทำให้บางบริษัทพยายามรับมือด้วยกลยุทธ์บาลานซ์การขายสินค้าแต่ละเซ็กเมนต์ หนึ่งในนั้นคือ เชนร้านเบเกอรี่ยามาซากิ ซึ่งหันเน้นเพิ่มปริมาณการขายสินค้าราคาถูก ควบคู่กับการขึ้นราคาสินค้าขายดีอย่างขนมปังแผ่น ทำให้แม้ยอดขนมปังแผ่นจะลดลง แต่รายได้ยังเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของเงินเยนยังคงเป็นปัจจัยท้าทายสำหรับบรรดาธุรกิจญี่ปุ่น เนื่องจากต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ “เออิจิ โกชู” ประธานบริษัทลอตเต้ หนึ่งในผู้ผลิตขนมรายใหญ่กล่าวว่า การขึ้นราคาสินค้าสามารถชดเชยต้นทุนได้เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น หลังจากนี้ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญความท้าทายอีกมาก
สอดคล้องกับผลสำรวจซึ่งบริษัท 59% ระบุว่า นอกจากขึ้นราคาแล้วจะอาศัยการหาวัตถุดิบจากหลายประเทศมาช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยค่าเงินโดย คิริน โฮลดิ้ง ผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ เปิดเผยว่า จะนำเข้าวัตถุดิบจากหลายประเทศมากขึ้น ส่วนอายิโนะโมะโต๊ะจับมือกับพันธมิตรอีก 4 รายในธุรกิจอาหาร ตั้งบริษัทโลจิสติกส์เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านการกระจายสินค้า
สำหรับผลกระทบต่อผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นนั้น เทโคคุ ดาต้าแบงก์ประเมินว่า การขึ้นราคาสินค้าทำให้ครัวเรือนในญี่ปุ่นมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 68,760 เยน (ประมาณ 17,500 บาท) หรือคิดเป็น 2% ของการจับจ่ายของแต่ละครัวเรือน ตรงกันข้ามครัวเรือนญี่ปุ่นกำลังมีรายได้ลดลง โดยกระทรวงแรงงาน และกระทรวงกิจการภายในของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า เงินเฟ้อทำให้ชาวญี่ปุ่นมีรายได้ลดลงต่อเนื่อง 7 เดือน (มิ.ย.-ต.ค. 65) และในเดือน ต.ค. 65 ครัวเรือนญี่ปุ่นใช้เงินซื้ออาหารลดลง 0.4%
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจและครัวเรือนญี่ปุ่นยังมีความหวังอยู่บ้าง เมื่อยักษ์ธุรกิจบางรายเตรียมขึ้นเงินเดือนพนักงานให้สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ หวังกระตุ้นการจับจ่าย โดย ซันโทรี่ โฮลดิ้ง เตรียมขึ้นเงินเดือนพนักงาน 6% ส่วนอายิโนะโมะโต๊ะมีแผนขึ้นเงินเดือนเช่นกัน โดยจะพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น ระดับราคาสินค้าต่าง ๆ ในตลาด