ส่องปฏิกิริยารัฐ-ตลาด หลังญี่ปุ่นเลิก “ดอกเบี้ยติดลบ” แต่ยังผ่อนคลายที่สุดในโลก

ธนาคารกลางญี่ปุ่น
อาคารที่ทำการธนาคารกลางญี่ปุ่น (ภาพโดย Richard A. Brooks / AFP)

ธนาคารกลางญี่ปุ่นสิ้นสุดอัตราดอกเบี้ยติดลบที่ใช้มานาน 8 ปี ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 17 ปี ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินวันที่ 18-19 มีนาคม 2024 นี้ นับเป็นธนาคารกลางแห่งสุดท้ายของโลกที่ยุติการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ หลังจากที่ทั่วโลกเผชิญภาวะเงินเฟ้อในช่วงสองปีที่ผ่านมา 

คณะกรรมการนโยบายการเงินลงมติไม่เอกฉันท์ 7 ต่อ 2 เสียง กำหนดช่วงอัตราดอกเบี้ยนโยบายใหม่ระหว่าง 0% ถึง 0.1% เปลี่ยนจากอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1% นอกจากนี้ BOJ ยังได้ยกเลิกโครงการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนที่ซับซ้อน พร้อมให้คำมั่นว่าจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวต่อไปตามความจำเป็น และยุติการซื้อกองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยน 

อย่างไรก็ตาม BOJ ไม่ได้ส่งสัญญาณถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต อัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นอาจคงที่อยู่ที่ระดับนี้ และการขยับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของวงจรนโยบายการเงินที่เข้มงวดอย่างในยุโรปและสหรัฐ ซึ่งหมายความว่าญี่ปุ่นยังคงเป็นประเทศที่มีนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายที่สุดในโลก  

คาซูโอะ อูเอดะ (Kazuo Ueda) ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นกล่าวว่า การบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ที่ยั่งยืนนั้นอยู่ในระยะที่มองเห็นได้ และกล่าวว่า นโยบายผ่อนคลายทางการเงินขนาดใหญ่ที่ทำมาบรรลุวัตถุประสงค์ของมัน (ในการพาญี่ปุ่นออกจากภาวะเงินฝืด) 

อูเอดะเน้นย้ำว่า ถึงแม้จะสิ้นสุดอัตราดอกเบี้ยติดลบแล้ว แต่จำเป็นที่จะต้องคงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเอาไว้ 

ถึงอย่างนั้นก็ตาม อูเอดะก็ยังระมัดระวังความคิดเห็นของเขาในระหว่างการแถลงข่าว ในขณะที่ให้คำมั่นว่าจะคงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเอาไว้จนกว่าแนวโน้มดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานจะแตะ 2% เขายอมรับด้วยว่า หากแนวโน้มเชิงบวกของการปรับขึ้นค่าจ้างและราคาสินค้า กระตุ้นให้เกิดการคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อ ความเสี่ยงที่ราคาสินค้า และบริการจะสูงขึ้นก็อาจส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น

คาซูโอะ อูเอดะ
คาซูโอะ อูเอดะ ประธานธนาคารกลางญี่ปุ่น ระหว่างการแถลงข่าว วันที่ 19 มีนาคม 2024 (ภาพโดย Richard A. Brooks / AFP)

ด้านนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) ที่ยังคงต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจยินดีกับคำบอกใบ้ของธนาคารกลาง ที่ว่านโยบายการเงินจะคงผ่อนคลายต่อไป 

นายกฯญี่ปุ่นกล่าวหลังจากผู้ว่าฯ BOJ แถลงผลการประชุมว่า รัฐบาลเชื่อว่ามีความเหมาะสมที่จะรักษาสภาพแวดล้อมทางการเงินที่ผ่อนคลายเอาไว้ เพื่อรับประกันว่าพัฒนาการเชิงบวกของเศรษฐกิจจะดำเนินต่อไป 

สำหรับปฏิกิริยาของฝั่งตลาดเงินตลาดทุน การที่ BOJ ไม่ส่งสัญญาณถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ค่าเงินเยนร่วงลงผ่านระดับ 150 เยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 150.68 เยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ณ เวลาประมาณ 18.54 น. ตามเวลาประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเข้าใกล้ระดับที่อ่อนแอที่สุดในปีนี้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลง 

เงินเยนที่อ่อนค่าลงสนับสนุนตลาดหุ้นญี่ปุ่น ช่วยให้ดัชนีหุ้น Nikkei 225 ฟื้นคืนสู่ระดับ 40,000 จุดได้ อีกทั้งการอ่อนค่าลงของเงินเยนอาจสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริหารบริษัทส่งออกและผู้ลงทุนตราสารทุนบางรายที่กังวลว่าการแข็งค่าของเงินเยนจะกดดันผลกำไรในอนาคต 

มาซามิชิ อาดาชิ (Masamichi Adachi) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ญี่ปุ่นของบริษัทหลักทรัพย์ยูบีเอส (UBS Securities) และอดีตเจ้าหน้าที่ BOJ มองว่า การบอกใบ้ล่วงหน้าของธนาคารกลางญี่ปุ่นไม่ได้เสนอวิธีที่ชัดเจนในการพิจารณาการขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม เขามองว่า BOJ กำลังเปิดประตูสำหรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในปลายปีนี้ 

โชทาโร โมริตะ (Chotaro Morita) หัวหน้านักกลยุทธ์ของบริษัท ออล นิปปอน แอสเสต แมเนจเมนต์ (All Nippon Asset Management Co.) กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากการผ่อนคลายเป็นพิเศษในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนที่ BOJ ได้ดำเนินการมา การกระชับนโยบายให้เข้มขึ้นจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ 

“มันเป็นช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่ แต่นี่เป็นเพียงจุดที่ผ่านพ้นไป BOJ อยู่ระหว่างการยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มากเกินไป นั่นหมายความว่าจะต้องมีขั้นตอนในการกระชับ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากการผ่อนคลาย” โมริตะกล่าว