อาเซียนเนื้อหอม ซีอีโอ Apple-Microsoft เดินหน้าขยายการลงทุน

Apple-Microsoft
ทิม คุก-สัตยา นาเดลลา ภาพโดย AFP

“อาเซียน” ขึ้นแท่นภูมิภาคเนื้อหอม รับอานิสงส์การลงทุนจากต่างชาติ หลัง 2 ซีอีโอบิ๊กเทคระดับโลก “Apple-Microsoft” เดินทางเยือนประเทศต่าง ๆ เข้าพบรัฐบาลหารือแผนการลงทุน

วันที่ 28 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเยือนประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ของ “นายทิม คุก” (Tim Cook) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ “แอปเปิล” (Apple) เพื่อเข้าพบผู้นำแต่ละประเทศ และพูดคุยเกี่ยวกับแผนการลงทุนในอนาคต เมื่อวันที่ 15-19 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา กลายเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความสำคัญของภูมิภาค “อาเซียน” ในฐานะตลาดเกิดใหม่ที่มีประชากรมากกว่า 685 ล้านคน และหมุดหมายในการกระจายความเสี่ยงจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา

แต่ไม่ได้มีเพียง Apple เท่านั้นที่ให้ความสนใจและเตรียมขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน เพราะในวันที่ 30 เมษายน-2 พฤษภาคม 2567 “นายสัตยา นาเดลลา” (Satya Nadella) ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอของไมโครซอฟท์ (Microsoft) มีกำหนดการเยือนภูมิภาคอาเซียนเช่นกัน ในประเทศอินโดนีเซีย ไทย และมาเลเซียตามลำดับ

โดยนายสัตยาจะเดินทางมาร่วมงาน Microsoft Build : AI Day ซึ่งเป็นกิจกรรมฟรี 1 วัน ที่ช่วยให้นักพัฒนาค้นพบโอกาสใหม่ ๆ จาก AI พร้อมทั้งพัฒนาความรู้และทักษะเกี่ยวกับ AI และ Microsoft Azure โดยผู้เข้าร่วมงานจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมล่าสุด และมีโอกาสพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญจาก Microsoft อย่างใกล้ชิด ซึ่งงานในไทยจะจัดขึ้นวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เวลา 08.30-16.30 น. ณ Plenary Hall ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ทั้งนี้ ภายในงานจะมีเซสชั่น Opening Keynote หรือการกล่าวเปิดงานเกี่ยวกับ “ยุคใหม่ของ AI” และโอกาสที่จะเกิดจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในองค์กรจากนายสัตยา รวมถึงมีเซสชั่นเวิร์กช็อปเกี่ยวกับ AI ที่เปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมฟรี ไม่ว่าจะเป็น Immerse in panel discussions and topics, GitHub Copilot Hackathon และ Azure OpenAI Hackathon

Advertisment

นอกจากนี้ สำนักข่าวเดอะวอลล์สตรีตเจอร์นัล (The Wall Street Journal) รายงานว่า นายสัตยามีกำหนดการเข้าพบ “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีของไทย ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 และ “นายอันวาร์ อิบราฮิม” (Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐรายอื่น ๆ เพื่อร่วมหารือเกี่ยวกับแผนการดำเนินงานด้านคลาวด์และ AI ของ Microsoft ในภูมิภาคอาเซียน

รายงานระบุด้วยว่า Microsoft มีความสัมพันธ์อันยาวนานกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะการตั้งศูนย์ข้อมูล (Data Center) และใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อขับเคลื่อนภาคธุรกิจในประเทศ รวมถึงผลักดันสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีให้เติบโต ซึ่ง Microsoft ตั้งศูนย์ข้อมูลแห่งแรกในภูมิภาคเมื่อปี 2553 ที่ประเทศสิงคโปร์ และตามมาด้วยแผนการสร้างศูนย์ข้อมูลที่อินโดนีเซียและมาเลเซียในหลายปีต่อมา

ก่อนหน้านี้ ในการประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ที่นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา Microsoft ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับรัฐบาลไทย นำเทคโนโลยีคลาวด์ และ AI มาเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ สร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการจ้างงาน พร้อมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์กับหน่วยงานภาครัฐ โดยไมโครซอฟท์ยังมีแผนนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้งานเต็ม 100% ในโครงการและแผนการลงทุนในอนาคตด้วย

อย่างไรก็ตาม ความต้องการโซลูชั่นด้านคลาวด์และ AI ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังเห็นได้จากรายได้ในกลุ่มธุรกิจหน่วยประมวลผลคลาวด์ (Intelligent Cloud) ประจำไตรมาส 1/2567 ของ Microsoft อยู่ที่ 26,708 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 21% ส่วน Microsoft Azure และผลิตภัณฑ์คลาวด์ เพิ่มขึ้น 31%

Advertisment