“แบรนด์ใหญ่” ดาหน้าบุก ตลาดธุรกิจร้านอาหาร 4.8 แสนล้านระอุ

restaurant

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา แม้คนในแวดวงธุรกิจร้านอาหารจะมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ภาพรวมของตลาดร้านอาหารที่มีมูลค่าตลาดรวมราว 4.8 แสนล้านบาท ยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และเป็นปัจจัยที่หนุนให้การรับประทานอาหารนอกบ้านฟื้นตัวกลับมาประมาณ 80-90% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่เป็นช่วงก่อนโควิด

แต่ภาพการทยอยปิดสาขาของร้านอาหารแบรนด์ดังที่มีให้เห็นเป็นระยะ ๆ ไม่ว่าจะเป็น ร้านอร่อยดี (ซีอาร์จี) หรือ ไดโดมอน ร้านปิ้งย่างชื่อดัง (เจซีเค ฮอสพิทอลลิตี้) หรือหากย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2566 ก็มีภาพการปิดตัวของร้านทิมโฮวาน ติ่มซำระดับมิชลินสตาร์ แฟรนไชส์จากฮ่องกง ฟู้ดแลนด์ซูเปอร์มาร์เก็ต

นี่ยังไม่นับรวมถึงการปิดตัวของร้าน ฟาร์มดีไซน์ คาเฟ่สไตล์ญี่ปุ่น (เอส คอมพานี) ร้านเครื่องดื่มและไอศกรีม อาทิ สควีซ บาย ทิปโก้ (ทิปโก้ รีเทล) ร้านไอศกรีม บาสกิ้น ร้อบบินส์ (โกลเด้น สกู๊ป)

ธุรกิจร้านอาหารแข่งขันสูง

“ฐนิวรรณ มงคลกุล” นายกสมาคมภัตตาคารไทย แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า ภาพการปิดตัวของธุรกิจร้านอาหารที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ แม้จะเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนร้านอาหารในภาพรวมที่มีเป็นจำนวนมาก แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจร้านอาหารเป็นตลาดที่มีการแข่งขันที่รุนแรงมาก ไม่ต้องอื่นไกล ยกตัวอย่างกรณีในศูนย์การค้า เดินเข้าไปจะเห็นว่า มีร้านอาหารต่าง ๆ เต็มไปหมด มีทั้งศูนย์อาหาร มีร้านอาหารหลากหลายประเภท ร้านอาหารไทย ญี่ปุ่น เกาหลี ตะวันตก ปิ้งย่าง สุกี้ ชาบู บุฟเฟต์ และข้าง ๆ ศูนย์การค้า ก็ยังมีร้านอาหารที่เปิดอยู่ตามตึกแถว มีทั้งร้านอาหารตามสั่ง ข้าวมันไก่ ก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ ทุกร้านเป็นคู่แข่งซึ่งกันและกัน

อีกด้านหนึ่งก็จะพบว่า มีแบรนด์ร้านอาหารใหม่ ๆ เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ทั้งที่เป็นแบรนด์ของคนไทยและแบรนด์จากต่างประเทศ และมีหลากหลายประเภทมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีบริการดีลิเวอรี่เข้ามาเสริม ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น

Advertisment

“ต้องยอมรับว่าวันนี้เม็ดเงินส่วนหนึ่งมันหายไป เพราะเศรษฐกิจไม่ดี คนระมัดระวังการใช้จ่าย ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ทุกวันนี้ต้นทุนวัตถุดิบต่าง ๆ ก็เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าเช่าพื้นที่ซึ่งเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ทุกวันนี้ธุรกิจไม่เหมือนเดิม จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย ทุกวันนี้ร้านอาหารมีเป็นจำนวนมากและหลากหลายประเภท การแข่งขันสูง แต่ละรายจะต้องปรับตัว และมองตลาดให้ออก การวางโพซิชั่นให้ชัดเจน หรือเรื่องโลเกชั่นก็สำคัญ และจะต้องมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ”

ต้นทุนวัตถุดิบ-ค่าแรง โจทย์ใหญ่

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการร้านอาหารอีกรายหนึ่งกล่าวในเรื่องนี้ว่า จากภาพรวมของตลาดร้านอาหารที่มีจำนวนร้านค้าอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ต่ำกว่า 6.8-7 แสนร้านค้า (ทั่วประเทศ) แต่ละปีก็มีทั้งที่ปิดบ้าง หรือเปิดใหม่บ้าง เนื่องจากเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงมาก สำหรับวันนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการร้านอาหารทุกคนรู้ดีและต้องปรับตัวก็คือ ต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะวัตถุดิบ ราคาพลังงาน รวมถึงค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น แต่คนงานกลับหายาก การเทิร์นโอเวอร์สูง นอกจากนี้จากแรงกดดันทางเศรษฐกิจทำให้ผู้บริโภครัดกุมกับการใช้จ่ายมากขึ้น ลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น จึงต้องมีการทำการตลาดที่หนักหน่วงมากขึ้น

สอดคล้องกับข้อมูลขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือเจโทร กรุงเทพฯ ที่แถลงผลการสำรวจร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย ประจำปี 2566 เมื่อต้นปีที่ผ่านมาว่า ร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยมีถึง 5,751 ร้าน หรือเพิ่มขึ้น 426 ร้าน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และตลาดมีการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม โดยในปี 2566 พบว่ามีร้านซูชิมีจำนวนลดลง จากช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สาเหตุหนึ่งมาจากการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการร้านอาหารญี่ปุ่นยอมรับว่า มีปัญหาต้นทุนวัตถุดิบและค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้น

เช่นเดียวกับ “ณัฐ วงศ์พานิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสเตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (ซีอาร์จี) ที่ยอมรับว่า แม้ภาพรวมของตลาดร้านอาหารมีแนวโน้มจะเติบโต 5-7% จากมูลค่าตลาดรวมราว 4.8 แสนล้านบาท แต่ก็มีความท้าทายที่ผู้ประกอบการจะต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และต้องหาทางรับมือ คือ ต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งวัตถุดิบต่าง ๆ ราคาพลังงาน รวมถึงค่าจ้างแรงงาน ซึ่งแต่ละปีจะมีร้านอาหารเปิดใหม่ไม่ต่ำกว่า 1 แสนร้าน ก็ทำให้มีการแย่งชิงทั้งลูกค้าและพนักงาน

Advertisment

ค่ายใหญ่ทุ่มงบฯลุยไม่ยั้ง

“ณัฐ” กล่าวว่า สำหรับแนวทางของซีอาร์จี ในปีนี้ หลัก ๆ จะทุ่มงบฯลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท ในการขยายสาขาและรีโนเวตสาขา ตั้งเป้าจะเปิดเพิ่ม 100-120 สาขา ด้วยการมุ่งไปที่ท็อปแบรนด์ที่ทำรายได้สูง อาทิ ชินคันเซนซูชิ สลัดแฟคทอรี่ เคเอฟซี อานตี้แอนส์ โอโตยะ คัตสึยะ ส้มตำนัว รวมถึงนักล่าหมูกระทะ

ส่วนปัญหาเรื่องแรงงานที่ต้นทุนสูงและหายากขาดแคลนจะนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วย เช่น การใช้คิวอาร์โค้ด ในการดูเมนูและสั่งอาหาร ชำระเงินแบบไม่ใช้เงินสด รวมถึงการใช้โมเดลกึ่งบริการด้วยตัวเอง เช่น การเสิร์ฟอาหารด้วยสายพาน เพื่อลดขั้นตอนการทำงานหน้าร้าน ที่ตอนนี้มีใช้ในหลายสาขา อีกด้านหนึ่งก็ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาหรือนำแรงงานต่างชาติเข้ามาทดแทน

เช่นเดียวกับ “ธันยเชษฐ์ เอกเวชวิท” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ดแลนด์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ย้ำว่า ตอนนี้ภาพรวมเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ผู้คนเริ่มออกมาทำกิจกรรมและรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น ร้านอาหาร Dine in กลับมาเติบโต แต่ละค่ายก็ต้องนำเมนูใหม่ ๆ ออกมาจูงใจ เทรนด์ที่เห็นก็คือ เรื่องของแวลู ฟอร์มันนี่ เนื่องจากกำลังซื้อผู้บริโภคบางกลุ่มอาจจะยังไม่ฟื้นตัวหรือกลับมาเป็นปกติ ดังนั้นโปรโมชั่นราคาก็มีความจำเป็น

ปีนี้จะใช้งบฯมากกว่า 3,500-3,900 ล้านบาท เน้นการนำแบรนด์ร้านอาหารในเครือไปเปิดในต่างประเทศ อาทิ แดรี่ควีน ไปอินโดนีเซีย จากก่อนหน้านี้ที่ เดอะพิซซ่าคอมปะนี ไปสิงคโปร์, เดอะ คอฟฟี่ คลับ, ซิซซ์เล่อร์ ไปเวียดนาม เดอะ คอฟฟี่ คลับ, แดรี่ควีน, เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ไปอินเดีย

ขณะที่ “กิตติวรรณ อนุเวชสกุล” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แมคไทย จำกัด ให้ข้อมูลว่า ปี 2566 ที่ผ่านมา ภาพรวมตลาดฟาสต์ฟู้ด หรือร้านอาหารบริการด่วน (Quick Service Restaurant : QSR) มีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ประมาณ 45,000 ล้านบาท เติบโต 6-8% แบ่งเป็น3 ตลาดหลัก คือ ตลาดไก่ทอด 31,000 ล้านบาท, เบอร์เกอร์ 9,800 ล้านบาท และพิซซ่า 4,200 ล้านบาท

สำหรับ แมคโดนัลด์ ที่เป็นผู้นำในตลาดเบอร์เกอร์ ท่ามกลางความท้าทายในแง่ของการแข่งขันในตลาด QSR ที่รุนแรงมากขึ้น ปีนี้วางงบฯลงทุนไว้ที่ 600 ล้านบาท ในการทำการตลาดอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี นอกจากการเดินหน้าเปิดสาขาใหม่กว่า 20 สาขา และรีโนเวตร้านเดิม ในแง่การบริการจะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น โดยเฉพาะเครื่องสั่งอาหารอัตโนมัติ (SOK) ที่รองรับการชำระเงินแบบไร้เงินสด การเลือกเมนูอาหารได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ตั้งเป้าที่จะเพิ่มให้ครบ 230 สาขาทั่วประเทศ จากที่ผ่านมาติดตั้งไปแล้วกว่า 100 สาขา

“ปีนี้จะมีสาขาใหม่ที่ต้นแบบ ที่มีการตกแต่งด้วยวัสดุรีไซเคิล เพิ่มพื้นที่สีเขียว ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา มีจุดให้บริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charging) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า คาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบภายในไตรมาส 2 นี้”

แม้ตลาดร้านอาหารจะมีการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงและมีโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้น แต่ภาพที่เกิดขึ้นอาจสะท้อนให้เห็นว่าตลาดนี้ยังมีโอกาสและช่องว่างที่จะเติบโตได้อีกมาก และคาดว่าจะมีรายใหม่ ๆ กระโดดเข้ามาในตลาดเป็นระยะ ๆ