กรมโรงงานฯขอญี่ปุ่นช่วย แก้ปัญหากากอุตสาหกรรม ได้ข้อสรุป 3 ประเด็น

กรมโรงงานฯขอญี่ปุ่นช่วย

อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมรุดเจรจากระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศญี่ปุ่น เป็นผลสำเร็จ ตอบรับช่วยไทยแก้ปัญหากากอุตสาหกรรมอย่างถาวร เตรียมจัดทำแผนแม่บท เพิ่มขอบเขตอนุสัญญาบาเชลใหม่

วันที่ 28 เมษายน 2567 นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า เพื่อเร่งแก้ปัญหาการจัดการกากอุตสาหกรรมของประเทศไทยโดยเร็วที่สุด จึงได้เดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 23-25 เมษายน 2567 พร้อมด้วย นายวิจารย์ สิมาฉายา ประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ ผู้แทนกรมอนามัย ผู้แทนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เพื่อเจรจาหารือกับ Mr. Satoshi Yoshida Director for International Resource Circulation และ Mr. Kageyama Minako Duputy Director Industrial and Hazardous Waste Management Division, Environmental Regeneration and Material Cycles Bureau กระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศญี่ปุ่น (MOEJ)

เพื่อกำหนดแนวทางการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน 2 ประเทศ ในการจัดการกากอุตสาหกรรมของประเทศไทย ที่จำเป็นต้องมีแผนแม่บท ออกกฎหมายที่ต้องบูรณาการทุกหน่วยงานในประเทศและระหว่างประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน

กรมโรงงานฯขอญี่ปุ่นช่วย

จากการหารือได้ข้อสรุป 3 ประเด็น ประกอบด้วย

Advertisment

1. การสนับสนุนทางวิชาการจากรัฐบาลญี่ปุ่นในการจัดทำ “แผนแม่บทการจัดการกากอุตสาหกรรมของประเทศไทย” เพื่อนำประสบการณ์การจัดการกากอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น มาทบทวนการจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ ตามบัญชาของนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ซึ่งทางญี่ปุ่นได้ตอบตกลงให้ความช่วยเหลือในการจัดทำแผนแม่บทการจัดการการอุตสาหกรรมของประเทศไทยดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายในปีงบประมาณนี้

2. การยกระดับการควบคุมการอนุญาตนำเข้า/ส่งออกของเสียอันตรายระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ตามอนุสัญญาบาเชล (Bazel Convention) เพื่อเพิ่มการป้องกันกระบวนการลักลอบขนวัตถุอันตรายข้ามประเทศ

Advertisment

3.การเจรจาตกลง แนวทางการออกกฎหมาย จัดการซากผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของผู้ผลิต ผู้ใช้ และภาคสังคมประชาชน

“กรมโรงงานฯ ได้ใช้ความพยายามในการเจรจากับ MOEJ ในครั้งนี้ จน MOEJ ตอบรับความร่วมมือ และประสานรัฐบาลญี่ปุ่น จนตัดสินใจให้การสนับสนุนด้านวิชาการสิ่งแวดล้อมแก่กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยยกระดับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย เพื่อพัฒนาสู่เศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียนตามนโยบายรัฐบาลต่อไป” นายจุลพงษ์ กล่าว