
จุลพันธ์ รมช.คลัง นัดประชุมคณะอนุกรรมการฯ ถกดิจิทัลวอลเล็ตกำหนดรายละเอียดสินค้า Negative List สัปดาห์หน้า ตัดสิทธิสินค้านำเข้า 100% ที่ไม่เกิดการผลิตและจ้างงานในประเทศ ลุ้นใช้เงิน 10,000 บาท ซื้อสมาร์ทโฟน-เครื่องใช้ไฟฟ้า-ปุ๋ย
วันที่ 10 พฤษภาคม 2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยมีประเด็นสำคัญที่จะมีการพิจารณาเพื่อลงรายละเอียดในการกำหนดสินค้าที่ไม่ร่วมรายการ (Negative List)โดยเฉพาะกลุ่มสินค้านำเข้า (Import Content) ที่จะต้องพิจารณาในรายละเอียดว่าจะมีเกณฑ์ในการกำหนดอย่างไร
ทั้งนี้ สำหรับสินค้านำเข้า 100% ที่คณะกรรมการฯ ตัดออกจากสินค้าร่วมรายการไปแล้วคือ น้ำมัน เนื่องจากไทยไม่ได้เป็นประเทศผู้ผลิต ซึ่งสินค้าดังกล่าวจึงไม่ก่อให้เกิดการผลิตและการจ้างงานภายในประเทศ และยังมีสินค้าประเภทอื่นๆ ที่มีลักษณะกายภาพหรือโครงสร้างที่ใกล้เคียงกันที่จะได้รวบรวมพร้อมที่จะนำเสนอในที่ประชุม อย่างเครื่องใช้ไฟฟ้ารวมไปถึงโทรศัพท์มือถือนำเข้า โดยขณะนี้ยังเข้าร่วมโครงการได้อยู่
สำหรับรายละเอียดในการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ล่าสุดมีดังนี้
– การลงทะเบียนจะเริ่มต้นภายในไตรมาส 3 ของปี 2567และจะเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาส 4 ของปี 2567
– เกณฑ์ซื้อสินค้า ยังเป็นสินค้ากลุ่มเดิม ยกเว้นบริการและสินค้าต้องห้าม (สินค้าที่ยกเว้น คือ สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ เป็นต้น และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม)
– เกณฑ์ร้านค้าขนาดเล็ก ยังเป็นเหมือนเดิม เข้าร่วมได้ทั้งนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา (ยกเว้น ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต)
เกณฑ์อายุ 16 ปี
– กำหนดให้จะต้องมีอายุ 16 ปีบริบูรณ์ ภายในวันที่ 30 กันยายน 2567 หรือต้องเกิดก่อน 1 ตุลาคม 2551
เกณฑ์เงินฝากกำหนดไม่เกิน 500,000 บาท
นับยอดเงินฝากทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ เงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ บัตรเงินฝาก ใบรับเงินฝาก ผลิตภัณฑ์เงินฝาก
– นับยอดบัญชีเงินฝากถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา
– เงินฝากดังกล่าว ต้องเป็นเงินฝากสกุลเงินบาทเท่านั้น
– ไม่นับรวมสลากออมทรัพย์
เกณฑ์รายได้ ไม่เกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี
-วัดจากฐานข้อมูลเงินได้ของกรมสรรพากร ณ ปี 2566 ซึ่งสิ้นสุดไปแล้วเมื่อ 31 ธันวาคม 2566
– นับรวมทุกรายได้ที่ยื่นในระบบภาษี (เงินเดือน, ค่าจ้าง, ค่างานฟรีแลนซ์, ค่ารับเหมา, ค่าเช่า, ดอกเบี้ย ปันผล, รายได้ลิขสิทธิ์ต่าง ๆ)
เงื่อนไขการใช้จ่ายเงินดิจิทัล 10,000 บาท
– ระหว่างประชาชนกับร้านค้า
ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) การชำระเงินต้องเป็นแบบพบหน้า (Face to Face) กำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก
– ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า
ร้านค้าที่จะรับการใช้จ่ายจากประชาชนต้องเป็นร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กโดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ส่วนร้านค้าที่สามารถรับการใช้จ่ายจากร้านค้า ไม่มีการกำหนด