ศิริกัญญา ซัดรัฐบาลตระบัดสัตย์ ไม่บรรจุนโยบายหาเสียง ทรยศประชาชน สอนมวย เศรษฐา บริหารประเทศไม่ใช่การพนัน ถึงต้องเทหมดหน้าตัก ให้โอกาสแก้ตัวจัดทำงบฯปี’67 ชี้ 2 ทางเลือก หาเงิน ถมนโยบายดิจิทัลวอลเลตหมื่นบาท หวั่น “เงินเฟ้อดิจิทัล” ทลายวินัยการเงินการคลัง
วันที่ 11 กันยายน 2566 ที่รัฐสภา มีการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐบาล ระหว่างวันที่ 11-12 กันยายน 2566 โดย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายเป็นคนแรกในโควตาสัดส่วนพรรคฝ่ายค้านว่า การแถลงนโยบายต้องมีความชัดเจน เป้าหมายชัดเจน และมีตัวชี้วัดที่เหมาะสม ตลอดจนระยะเวลาในการแถลงนโยบาย ที่สำคัญที่สุดต้องบรรจุนโยบายที่หาเสียงไว้ เพราะเป็นคำมั่นสัญญาที่มีไว้ให้กับประชาชนในช่วงเลือกตั้ง เอาไว้แลกกับคะแนนเสียง
“ถ้าพรรคการเมืองไหนที่คิดจะกลับคำ ตระบัดสัตย์ ไม่ยอมบรรจุนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ในการแถลงนโยบาย หรือไม่ดำเนินนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ เมื่อได้เป็นรัฐบาลโดยปราศจาคคำอธิบายที่รับฟังได้ แบบนี้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน” น.ส.ศิริกัญญากล่าว
น.ส.ศิริกัญญาอภิปรายถึงนโยบายดิจิทัลวอลเลต 1 หมื่นบาทว่า จำเป็นต้องใช้งบประมาณมหาศาล 5.6 แสนล้านบาท ไม่ว่าจะใช้บล็อกเชนหรือไม่ใช้ จำเป็นต้องมีเงินมากองไว้เต็มจำนวน เพื่อการันตีว่า 1 บาทในโลกจริงจะเท่ากับ 1 บาทในโลกดิจิทัล ขึ้นอยู่กับว่าแหล่งที่มาของเงินน่าเชื่อถือหรือไม่ ถ้าไม่สามารถนำเงิน 5.6 แสนล้านมาแบ็กอัพได้ทันทีจะส่งผลถึงความเชื่อมั่นของร้านค้าที่จะรับขึ้นเป็นเงินสด กังวลว่าแลกไม่สะดวก หรือรัฐไม่มีเงินมาให้แลก
ถ้าร้านค้ารู้สึกแลกยากแลกเย็นกว่าเงินสดจะกลับคืนมาจะเกิดเป็น “เงินเฟ้อในโลกดิจิทัล” เหมือนกับโครงการคนละครึ่ง ถ้าจ่ายผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลจะชาร์จค่าอินเทอร์เน็ต จึงจำเป็นต้องมีการขึ้นราคาสินค้า ถ้าไม่จ่ายเป็นเงินสด แต่ครั้งนี้คาดว่าจะรุนแรงกว่า
น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า แหล่งที่มาของเงินตอนหาเสียงเคยพูดว่า เก็บภาษีได้ 260,000 ล้านบาท จริง แต่งบประมาณเพิ่มขึ้นไม่ถึง เพราะเราพยายามตั้งเป้าขาดดุลลดลง ดังนั้น งบประมาณเพิ่มจริงแค่ 100,000 กว่าล้านบาท ยกเว้นรัฐบาลนี้จะขยายการขาดดุล ขยายการกู้ขาดดุลเพิ่ม ส่วนเงินมาจาก 100,000 ล้านบาทจากภาษีนิติบุคคลและมูลค่าเพิ่มจะได้มาหลังโครงการจบ ดังนั้น วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 อาจจะยังไม่มีเงินสดทั้งหมด 5.6 แสนล้านบาทมาแบ็กอัพ ขณะที่การตัดลดงบประมาณที่ซ้ำซ้อนมีปัญหาแน่นอน
“สรุปแล้วจะใช้เงินจากไหนได้บ้าง มีอยู่ 2 ทางเลือกเท่านั้นในโลกนี้ หนึ่ง งบประมาณแผ่นดิน หรือสอง เงินนอกงบประมาณ ถ้าใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน มีสองเรื่องต้องพิจารณา ว่างบพอไหม หรือเอาไปใส่ไว้ในงบประมาณปี’67 ได้หรือไม่ คือการสร้างท่อ ส่วนเงินสดพอไหม คือน้ำ มีน้ำพอที่จะใส่ในท่อนั้นหรือไม่ หากใช้เงินนอกงบประมาณ มี 3 ทางเลือก 1.กู้แบงก์รัฐ 2.ยืมเงินกองทุนหมุนเวียน หรือ 3.จะขายกองทุนวายุภักษ์”
น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ทางเลือกที่ 1 ถ้าจะใช้งบฯปี’67 ไม่พอแน่นอน เพราะงบประมาณต่อปี 3.35 ล้านล้านบาท เราไม่สามารถใช้ได้ตามใจ เพราะมีหลายค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถตัดทอนได้
“ดังนั้น งบฯที่จะเหลือจริง ๆ มีเสรีภาพที่จะเอาไปหั่นไปตัดอะไรได้มีอยู่แค่ 8.5 แสนล้านบาท มิหนำซ้ำกฎหมายยังกำหนดไว้ว่าต้องเป็นรายจ่ายลงทุนไม่ต่ำกว่า 20% บวกกับงบฯผูกพันซึ่งส่วนใหญ่เป็นงบฯลงทุนจะต้องกันไว้ 4.5 แสนล้านบาท เหลือใช้จริง ๆ 4 แสนล้านบาท ซึ่งไม่ถึง 5.6 แสนล้านบาทแน่นอน แต่ถ้าจะดันทุรังใช้ 4 แสนล้านบาทนี้ คืองบฯดำเนินงาน งบฯโครงการต่าง ๆ ที่ต้องแบ่งใช้อีก 20 กระทรวง ถ้าจะเอามาใช้ในเงินดิจิทัลวอลเลต ถามรัฐมนตรีท่านแล้วหรือยัง ถามพรรคร่วมรัฐบาลหรือยังว่าจะเอางบฯโครงการทั้งหมด” น.ส.ศิริกัญญากล่าว
น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า เงินสดสามารถบริหารจัดการได้ หรือดุลเงินสดในงบประมาณรายจ่ายประจำปี ปกติ 4 เดือนแรกมีรายได้ส่งคลังเต็มที่ 8 แสนล้านบาท แต่รายจ่าย 1.2 ล้านล้านบาท ทำให้ติดลบดุลเงินสดอยู่และอาจจะกู้เงินขาดดุลบางส่วน ที่เหลือจะบริหารสภาพคล่องจากเงินคงคลัง
“ถามว่าจะทำอย่างไรให้มีเงินสดพอ 5.6 แสนล้านบาท ต้อง หนึ่ง ลดรายจ่ายจาก 1.2 ล้านล้านบาท ให้เหลือครึ่งหนึ่ง ซึ่งก็แค่เหลือพอจ่ายเงินเดือนข้าราชการและเงินบำนาญรายเดือน ที่เหลือไม่ต้องทำอย่างอื่นเลย และต้องคุมเงินนอกให้สมดุล เงินสดก็ยังไม่ค่อยพออยู่ดี ก็ต้องเลือกว่าจะ ‘กู้ชดเงินขาดดุลล่วงหน้า’ มาใช้กับโครงการนี้หรือไม่ แต่มีค่าเสียโอกาส คือดอกเบี้ย หรือ ‘ใช้เงินคงคลัง’ แต่ระหว่างปีเหลือไม่มาก ต้นปี ปลายปี อาจจะเป็น 5-6 แสนล้านบาท แต่ระหว่างปีอยู่ที่ 2-3 แสนล้านบาทเอง ดังนั้น ทำแบบนี้สุ่มเสี่ยงว่า นอกจากงบฯจะไม่พอแล้ว เงินสดก็อาจจะไม่พอด้วย” น.ส.ศิริกัญญากล่าว และว่า
“จึงจำเป็นต้องเป็นทางเลือกที่สอง คือใช้เงินนอกงบประมาณ ซึ่งก็ไม่ได้อีก ถ้าไม่แก้กรอบวินัยการเงินการคลัง ขายกองทุนวายุภักษ์ดีไหม ขายสมบัติเพื่อเป็นดิจิทัลวอลเลตดีไหม 346,000 ล้านบาท ถ้าจะขายให้หมดภายใน 4 เดือน ก็เสี่ยงที่จะขาดทุน และอาจจะทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯผันผวน” น.ส.ศิริกัญญากล่าว
น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า สอง ยืมเงินกองทุนหมุนเวียน มีอยู่สองกองที่มีเงินมากเพียงพอให้หยิบยืมได้ ระหว่างเลือกล้วงกระเป๋าผู้ประกันตน หรือจะล้วงกระเป๋าข้าราชการบำนาญ ซึ่งทางเลือกนี้ดิฉันขอห้อม เพราะไม่ใช่เป็นเงินของรัฐบาล 100% เป็นเงินสมทบของผู้ประกันตนและข้าราชการใช้ในยามเกษียณ
“เหลือทางเลือกสุดท้าย กู้แบงก์รัฐ ตามกรอบวินัยการเงินการให้อนุญาตให้กู้ได้ ณ ปัจจุบันไม่เกิน 32% ของเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งตอนนี้ถึงคอหอยแล้ว สิ้นปี’65 วงเงินเหลือ 6.2 หมื่นล้านบาท ระหว่างปี’66 จ่ายคืนในบางส่วนและกู้ใหม่ในบางส่วน น่าจะเหลือ 1.8 หมื่นล้านบาท” น.ส.ศิริกัญญากล่าว
“อย่างไรก็ตาม ถ้าจะกู้จริง ๆ สามารถทำได้ โดยการแก้กรอบวินัยการเงินการคลัง มาตรา 28 การกู้ยืมเงินจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งคงจะไม่สง่างามเท่าไหร่ สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินการคลัง ดิฉันไม่ได้มีปัญหาในการแก้กรอบนี้ ปัญหารัฐบาลแถลงนโยบายโดยพร่ำพูดถึงการรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด แต่การทำหน้าที่ประธานกรรมธิการวินัยการเงินการคลังของรัฐ จะเริ่มต้นด้วยการทลายวินัยการเงินการคลังเลยหรือ” น.ศ.ศิริกัญญากล่าว และว่า
“เงินดิจิทัลวอลเลต 1 หมื่นบาทกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตได้ ทำให้จีดีพีโตได้แน่นอน แต่ไม่ได้เพียงพอที่จะให้เกษตรกรเอาไว้ขุดแหล่งน้ำ เอาไว้บรรเทาภัยแล้งได้ สามารถทำให้เกษตรกรได้เอกสารสิทธิที่ดินของตัวเองได้ ไม่สามารถช่วยผู้ส่งออกให้ส่งออกเพิ่ม หรือไม่ตัดโอทีคนงานในโรงงานได้ ขอให้รัฐบาลจัดลำดับความสำคัญให้ดี”
“การบริหารราชการแผ่นดินไม่ใช่การพนันที่คุณจะเทหมดหน้าตัก ไม่ได้ แล้วไปหวังน้ำบ่อหน้าแบบนี้ ไม่ได้ ถึงเวลาที่ท่านต้องตั้งใจฟังเสียงที่ไม่ได้อยากได้ยิน ที่ท่านบอกว่าประเสริฐที่สุดตลอดสองวันนี้ ท่านยังมีโอกาสทำอะไรได้มากกว่านั้นที่ไม่ทำให้ผิดสัญญา แม้ท่านจะพลาดในครั้งนี้ ท่านยังมีโอกาสอีกหนึ่งครั้งในการแถลงงบประมาณ เพราะถ้าคำแถลงนโยบายเป็นคำสัญญา 4 ปี คำแถลงงบประมาณจะเป็นคำสัญญาฉบับ 1 ปีว่ารัฐบาลจะส่งมอบนโยบายอะไรบ้างใน 1 ปีที่จะเกิดขึ้น” น.ส.ศิริกัญญาทิ้งท้าย