เปิดทีมบริการเสริม “ทำเนียบเศรษฐา” แบ็กอัพกฎหมาย-ที่ปรึกษาราชสำนัก

ทีมแบ็กอัพ

มือไม้รอบกาย “เศรษฐา ทวีสิน” นอกจากทีมการเมืองที่มาจาก “ทีมงานชินวัตร” แล้ว ยังมี “บริวาร-ลูกน้องเก่า” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯรุ่นพี่ ที่สแตนด์บายให้เรียกใช้บริการเป็น “กำลังเสริม”

คนแรกที่ “ร่วมหัวจมท้าย” รัฐบาลประยุทธ์ ตลอด 9 ปี ตั้งแต่เป็นรองเลขาฯ ครม. เป็น “ลูกหม้อ สลค.” ตั้งแต่อยู่หน้าห้อง “วิษณุ เครืองาม” สมัยดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการ ครม. คือ “ธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส” ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน

ตั้งแต่ปี’57 เป็นต้นมา “ปลัดกิ๊ก” อัพเลเวลจากผู้อำนวยการสำนักงาน สำนักวิเคราะห์เรื่องเสนอ ครม. เป็นที่ปรึกษาประจำสำนักเลขาธิการ ครม.

โดยได้รับการประเมินจาก สำนักงาน ก.พ. เป็นผู้มีคุณสมบัติ-ผลงานที่แสดงถึงความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญเหมาะสมกับตำแหน่ง

ปี’58 ธีระพงษ์ ได้รับการโปรโมตจาก “เลขาฯ กบ” อำพน กิตติอำพน องคมนตรี ให้เป็น “รองเลขาฯ ครม.” และได้รับความไว้วางใจให้เป็น “โฆษกหน่วยงาน” จากรายชื่อระดับ “หัวกะทิ” ที่คัดมาเป็น โฆษกกระทรวง 15 หน่วยงาน ตาม “ข้อสั่งการ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องการปรับปรุงงานประชาสัมพันธ์

ก่อนจะขยับขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งสูงสุดคือ เลขาธิการ ครม. และไปดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการสำคัญชุดต่าง ๆ ทั้งในหน่วยงานรัฐ-รัฐวิสาหกิจ และผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ

เมื่อดำรงตำแหน่งเลขาฯ ครม.ครบวาระ 4 ปี ได้รับการ “ต่ออายุ” ต่อไปอีก 1 ปี “เพื่อประโยชน์ทางราชการ” ก่อนจะโอนย้ายไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ

ก่อนที่ “ธีระพงษ์” จะจอดป้ายสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ในตำแหน่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจนมาถึงปัจจุบัน

“ณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์” เลขาธิการ ครม. “รุ่นน้อง” เป็นอีกคนหนึ่งที่อยู่ในไลน์ “ทีมงานตึกไทยคู่ฟ้า” ได้รับการแต่งตั้งจากผู้อำนวยการกองวิเคราะห์เรื่องเสนอ ครม. ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ก่อนจะขยับขึ้นมาเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตเลขาฯ ครม. ในตำแหน่ง รองเลขาธิการ ครม. และโอนมาดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี “ณัฏฐ์จารี” เป็นคนเดียวที่ถูกดึงตัวขึ้นไปเรียนรู้งานกับ “เลขาฯ กิ๊ก” บนตึกไทยคู่ฟ้า และขึ้นแท่น เลขาฯ ครม. ในที่สุด

อีกคนคือ “ปกรณ์ นิลประพันธ์” เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อาจกล่าวได้ว่าเป็นศิษย์ก้นกุฏิสำนัก มีชัย ฤชุพันธุ์ อีกคนต่อจากเนติบริกร-วิษณุ เครืองาม และ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ”

“ปกรณ์” ไต่ระดับจากกรรมการร่างกฎหมายประจำ “นักกฎหมายกฤษฎีกาเชี่ยวชาญ” ตำแหน่งเลขที่ 10 กลุ่มร่างกฎหมายและให้ความเห็นทางกฎหมาย เป็นนักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิตำแหน่งเลขที่ 9 ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

“ปกรณ์” ลับคมมีดวิชากฎหมายอยู่ในสำนักที่ปรึกษากฎหมายรัฐบาลอยู่ 5 ปี เขาถูกเสนอชื่อให้เป็น “รองเลขาฯกฤษฎีกา” ในฐานะเป็นผู้มีความรู้-ความสามารถทางด้านกฎหมาย และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ทั้งภายใน-ภายนอก

“โดยเฉพาะในด้านการพัฒนากฎหมายและการวิจัย และมีความประพฤติดี มีประวัติการทำงานดีเด่น มีความอุตสาหะวิริยะในการปฏิบัติงาน ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ให้เป็นผลสำเร็จอย่างดี-มีประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์แก่ทางราชการตลอดมา”

เป็นคำสาธยายตามลายลักษณ์อักษรของนายดิสทัต โหรตระกิตย์ เลขาธิการกฤษฎีกาในขณะนั้น บรรยายคุณสมบัติแนบประวัติใส่แฟ้มเสนอนายวิษณุ รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ครม.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์นั่งหัวโต๊ะ

ในปี’59 พล.อ.ประยุทธ์ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีให้ “ปกรณ์” ดำรงตำแหน่ง “รองเลขาฯ ครม.” อีกตำแหน่งหนึ่งเป็นการชั่วคราว

แต่ไม่ถึง 3 เดือน นายวิษณุก็ขอความเห็นชอบ ครม.ให้ “ทบทวนมติ” ให้เหลือรองเลขาฯกฤษฎีกา “ตำแหน่งเดียว” ในช่วงเวลานั้นยังได้รับหน้าที่-บทบาทสำคัญในฐานะ “เลขานุการกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” ปี’60

หลังจากนั้น 1 ปี “ปกรณ์” ได้รับโอนไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) แทน “ทศพร ศิริสัมพันธ์”

เพราะถูก “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจขณะนั้น ดึงไปช่วยงานเป็นเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก่อนที่จะกลับมาผงาดในตำแหน่งสูงสุด เป็น “เลขาฯกฤษฎีกาคนที่ 20”

“ปกรณ์” มีบทบาทออกมาตอบโต้การเมืองปั่นกระแสรุกไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อย่างถึงพริกถึงขิง เช่น กรณีการออกร่างกฎกระทรวงให้ต่างชาติซื้อที่ดิน ที่ถูกประทับตราบาปว่าเป็น “กฎหมายขายชาติ” และถูกปั่นกระแสลักหลับ-ลักไก่” ตัดเบี้ยผู้สูงอายุในช่วงปลายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

เขาเคยตัดพ้อดัง ๆ ถึงกระแสข่าว “เด้ง” ออกจากเก้าอี้เลขาฯกฤษฎีกาว่า “เหมือนเมื่อก่อนที่จะมีข่าวย้ายผม ถ้าเห็นว่าผมไม่เหมาะกับนโยบายของเขา เขาก็ย้ายผมไปประจำสำนักนายกฯ แล้วเขาก็ตั้งคนใหม่มาแทน เกมไม่มีอะไร”

นอกจาก “สามทหารเสือ” ประจำทำเนียบรัฐบาล ที่ร่วมรบ-เคียงบ่าเคียงไหล่กับ พล.อ.ประยุทธ์ บนตึกไทยคู่ฟ้า ตลอดระยะเวลา 9 ปี

ยังมีบุคคลที่ พล.อ.ประยุทธ์ “ไม่ทิ้งไว้ข้างหลัง” อย่าง “นิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม” รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร ที่ขยับขึ้นจาก ผู้ช่วยเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ปี 2559

“นิชา” เป็นภรรยาของ “พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม” อดีตรองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.21 รอ.) ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์จากการชุมนุมปี 2553

แต่มีอีกคนที่เป็นเสมือน “แมวเก้าชีวิต” คือ “นัทรียา ทวีวงศ์” รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร ที่ปรับตัวอยู่ได้กับทุกขั้ว-ทุกข้าง ทั้งสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์-รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และกลับมาอยู่ในแสงสปอตไลต์ในรัฐบาลเศรษฐา 1

นางนัทรียาเคยเป็นผู้อำนวยการสำนักโฆษก-เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ ด้านประสานกิจการภายในประเทศ และในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการการไฟฟ้านครหลวง

คำฝากฝังของ พล.อ.ประยุทธ์วัน “เปิดทำเนียบ” ทิ้งคำสั่งเสียกับเศรษฐาให้เก็บอดีตผู้ใต้บังคับบัญชา ที่เป็นที่ปรึกษาระเบียบ-ข้อกฎหมาย ตลอดระยะเวลาการบริหารราชการแผ่นดินในทำเนียบ ตลอดจนธรรมเนียม ประเพณีปฏิบัติ-จารีตในราชสำนัก